“สุพัฒนพงษ์” วัดใจ สลค. เลือกชงแพ็คเกจ EV เข้าครม. ไฟเขียว

10 พ.ค. 2566 | 07:18 น.

“สุพัฒนพงษ์” รับชงมติบอร์ด EV ให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) แล้ว รอลุ้นเคาะว่าจะชงครม.ได้แบบไหน ทั้งแบบแพ็คเกจ หรือเอาเฉพาะมาตรการเดี่ยว หวั่นช่วงรัฐบาลรักษาการอำนาจมีจำกัด

ความคืบหน้ากรณีการจัดทำ แพ็คเกจการส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ของรัฐบาล หลังจากผ่านการเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ยังไม่ได้นำเสนอเข้าสู่การประชุมของคณะรัฐมนตรี (ครม.) จนทำให้เกิดข้อกังวลว่าอาจทำให้ประเทศไทยตกขบวน และเสี่ยงหลุดเป้าเป็นศูนย์กลางการผลิต EV และชิ้นส่วนที่สำคัญของภูมิภาค

ล่าสุด นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงเรื่องนี้ว่า ที่ผ่านมาได้เสนอมติที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ให้กับทางสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (สลค.) เพื่อขอความเห็นหน่วยงานต่าง ๆ ก่อนบรรจุเป็นวาระเสนอเข้าสู่ที่ประชุม ครม. พิจารณาแล้ว 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : จับตาแพ็คเกจรถยนต์ EV สะดุด ไทยเสี่ยงหลุดเป้าฮับยานยนต์ภูมิภาค

 

ภาพประกอบข่าว แพ็คเกจการส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ของรัฐบาล

กำลังดูความเหมาะสม 2 รูปแบบ

นายสุพัฒนพงษ์ ยอมรับว่า ตอนนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปที่แน่ชัดว่าจะเสนอเข้าสู้ที่ประชุมครม.ได้ในรูปแบบไหน เพราะต้องอยู่ระหว่างการพิจารณาความเหมาะสม 2 รูปแบบ นั่นคือ 

รูปแบบแรก คือ การเสนอให้ ครม.รับทราบมติการประชุมบอร์ด EV ล่าสุดทั้งฉบับ ประกอบด้วย 

  • มาตรการสนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิตแบตเตอรี่สำหรับยานพาหนะที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า
  • มาตรการสนับสนุน การใช้ยานยนต์ไฟฟ้าประเภทรถยนต์และรถจักรยานยนต์ (EV3) 
  • มาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ประเภทรถยนต์ ระยะที่ 2 (EV3.5) 
  • มาตรการเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ที่ขับเคลื่อน ด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า

“แนวทางนี้จะรวมทั้งมาตรการที่จะขอใช้งบประมาณในการสนับสนุนภาคเอกชนในการลงทุนโรงงานแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ EV ในประทศไทยด้วยหรือไม่ ก็ต้องดูเรื่องการของบประมาณสนับสนุนก่อน เพราะมีข้อจำกัดเกี่ยวกับรัฐบาลรักษาการ ซี่งต้องไปดูก่อนว่าอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับงบประมาณนั้นสามารถทำอะไรได้บ้าง” รองนายกฯ ระบุ

 

ภาพประกอบข่าว แพ็คเกจการส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ของรัฐบาล

รูปแบบที่สอง คือ การเสนอครม.เห็นชอบหรือรับทราบ เฉพาะมาตรการบางส่วนที่ไม่ได้ใช้งบประมาณ แต่เป็นการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ เช่น กรมสรรพสามิต หรือ กรมศุลกากร ที่มีข้อติดขัดจากการปฏิบัติตามมาตรการสนับสนุนรถ EV หรือ EV3 ที่มีการอนุมัติไปก่อนหน้านี้ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถทำงานต่อได้ โดยจะยังไม่เสนอมาตรการที่ต้องมีการขอรับสนับสนุนงบประมาณจากภาครัฐให้กับ ครม.รับทราบ  

ต้องขอถามความเห็นให้ชัดเจน

นายสุพัฒนพงษ์ ยอมรับว่า เราจะเสนอ ครม.เป็นเรื่องเพื่อทราบดู แต่ก็ต้องถามความเห็นจากสลค.ว่าควรจะเสนออย่างไรไปยังครม. เพื่อพิจารณา เช่น การเสนอเข้าไปทั้งฉบับหรือว่า เสนอเฉพาะมาตรการที่ไม่ต้องใช้เงินงบประมาณ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถทำงานได้ 

“ตอนนี้ก็ต้องระมัดระวัง เพราะถ้าเสนอเข้าไปหมดก็อาจตกทั้งฉบับ ตกทั้งกระดานจะยุ่งไปใหญ่ โดยเฉพาะเรื่องของโรงงานแบตเตอรี่เนื่องจากเป็นเรื่องที่ต้องขอสนับสนุนงบประมาณ เป็นเรื่องที่ผูกพันไปถึงรัฐบาลใหม่ ซึ่งอย่างไรก็ต้องรอรัฐบาลใหม่ และเรื่องนี้ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะเสนอไปก็อาจโดนทักท้วงเหมือนตอนเรื่องของค่าไฟก็ได้” นายสุพัฒนพงษ์ ระบุ

 

ภาพประกอบข่าว แพ็คเกจการส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ของรัฐบาล

 

แพ็คเกจสำคัญส่งเสริมแบตเตอรี่

สำหรับสาระสำคัญของแพ็คเกจการส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งผ่านการเห็นชอบจาก คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ มีเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจ นั่นคือ มาตรการสนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิตแบตเตอรี่สำหรับยานพาหนะที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า มีสาระสำคัญ เช่น

1.การปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตแบตเตอรี่จาก 8% เหลือ 1% และยกเว้นอากรนำเข้าแบตเตอรี่สำเร็จรูปในช่วง 2 ปีแรก 

ทั้งนี้ผู้ขอรับสิทธิ์ต้องผลิตแบตเตอรี่ชดเชยภายในปีที่ 3 เท่ากับจำนวนแบตเตอรี่สำเร็จรูปที่นำเข้าในปีที่ 1 และ 2 ในอัตราส่วน 1 ต่อ 2 คือนำเข้า 1 แพ็คผลิตชดเชย 2 แพ็ค หรือต้องผลิตแบตเตอรี่ชดเชยภายในปีที่ 4 เท่ากับจำนวนแบตเตอรี่สำเร็จรูปที่นำเข้าในปีที่ 1 และ 2 ในอัตราส่วน 1 ต่อ 3 หรือนำเข้า 1 แพ็คผลิตชดเชย 3 แพ็ค

2. มาตรการสนับสนุนเงิน 24,000 ล้านบาท สำหรับการผลิตแบตเตอรี่ระดับเซลล์ในประเทศไทย บนหลักการ “ลงทุนผลิตก่อน ได้รับเงินสนับสนุนก่อน” หรือ First Come- First Serve เพื่อจูงใจให้ผู้ขอรับสิทธิเร่งดำเนินการผลิตแบตเตอรี่ในประเทศโดยเร็ว

สำหรับเงินสนับสนุนจะขึ้นอยู่กับขนาดของโรงงานผลิตแบตเตอรี่และความจุพลังงานจำเพาะของแบตเตอรี่ สำหรับโรงงานผลิตแบตเตอรี่ขนาดต่ำกว่า 8 GWh จะได้รับเงินสนับสนุนระหว่าง 400-600 บาท/kWh หากเป็นโรงงานผลิตแบตเตอรี่ขนาดสูงกว่า 8 GWh จะได้รับเงินสนับสนุนระหว่าง 600-800 บาท/kWh