zero-carbon

"ทอท."วางเป้าติด"โซลาร์เซลล์" 6 สนามบิน 100% ใน 4 ปี

    "ทอท."วางเป้าติด"โซลาร์เซลล์" 6 สนามบิน 100% ใน 4 ปี เผยล่าสุดติดตั้งบนหลังคาสุวรรณภูมิไปแล้วประมาณ 5 เมกะวัตต์ ระบุเป็นเรื่องที่ดีช่วยทำให้อาคารไม่ร้อน และช่วยประหยัดแอร์

นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เปิดเผยว่า ทอท. ตั้งเป้าว่าไฟฟ้าที่ใช้ในพื้นที่สนามบินสุวรรณภูมิทั้งหมด ต้องมาจากพลังงานแสงอาทิตย์ ภายใน 4 ปี 

ทั้งนี้ ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการร่วมกับบริษัท ผลิตไฟฟ้าและน้ำเย็น จำกัด หรือดีแคป (DCAP) ในการติดตั้งโซลาร์เซลล์ในพื้นที่ที่ถือครองอยู่ แต่ยังไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้ อาทิ พื้นที่ข้างรันเวย์ พื้นที่บ่อน้ำ หรือพื้นที่กักเก็บน้ำรอบสุวรรณภูมิ 

อย่างไรก็ดี เบื้องต้นได้ลงพื้นที่สำรวจแล้วพบว่ามีพื้นที่มากพอที่จะสร้างไฟที่จะใช้ในอาคารผู้โดยสารทั้งหมดได้ โดยที่ไม่ต้องพึ่งพาไฟฟ้าจากกริดไฟฟ้า (grid electrical) หรือเครือข่ายที่เชื่อมต่อกันในการจ่ายไฟฟ้าจากผู้ผลิตต่างๆ ไปยังผู้บริโภค 

ส่วนอีก 5 ท่าอากาศยานของ ทอท. ก็จะดำเนินการในระยะต่อไป แต่มีเป้าหมายใช้ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ภายในระยะเวลา 4 ปีเช่นกัน

สำหรับปัจจุบันได้มีการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาสุวรรณภูมิไปแล้วประมาณ 5 เมกะวัตต์ โดยในช่วง 2 ปีแรกที่วางเป้าหมายไว้จะเดินหน้าพัฒนาที่สนามบินสุวรรณภูมิก่อน ซึ่งการติดแผงโซลาร์เซล ถือเป็นเรื่องที่ดีเพราะช่วยให้อาคารไม่ร้อน และช่วยประหยัดแอร์ 

ซึ่งในสนามบินต่างประเทศเริ่มทำกันเป็นจำนวนมาก เพราะถือเป็นกระแสของโลก ไม่ใช่ว่าการหันมาดำเนินการเรื่องนี้เพื่อเป็นสนามบินที่ยั่งยืน (Sustainable Airport) แต่ยกตัวอย่างให้เห็นว่า จากเดิมที่ต้องเสียค่าไฟ 100 ล้านบาท เมื่อติดแผงโซลาร์เซลล์จ่ายเพียง 70-80% เท่านั้น 

ส่วนความกังวลเรื่องราคาในการติดแผงโซลาร์เซลล์ นั้นมองว่ามีหลายบริษัทที่สนใจเข้ามาลงทุนให้ ทอท. ไม่จำเป็นต้องลงทุนเองก็ได้ แต่ประโยชน์ที่ ทอท.จะได้รับจากเรื่องดังกล่าวนี้คือมีการเรียกเก็บค่าไฟถูกกว่าเดิม 20% จากที่เคยซื้อจากกริดฯ ซึ่งองค์กรอื่นๆ ได้มีการดำเนินการไปแล้ว เช่น การนิคมอุตสาหกรรม ที่ได้ดำเนินการไปแล้วบางส่วน เป็นต้น

นอกจากนี้ จะมีการเปลี่ยนยานยนต์ในสนามบินทั้งหมดเป็นระบบยานยนต์ไฟฟ้า เพราะเกี่ยวข้องกับผู้โดยสาร ซึ่งผู้โดยสารที่ใช้บัสเกท (Bus gate) กว่า 80% ร้องเรียนเรื่องควันของรถที่จอดรอตีกลับเข้ามาในอาคารผู้โดยสารทำให้เกิดมลพิษทางอากาศ จึงจะมีการปรับเปลี่ยนไปใช้เป็นยายนต์ระบบไฟฟ้าแทน 
 

โดยตั้งเป้าหมายว่าภายใน 2 ปีนี้ ต้องเปลี่ยนรถที่ให้บริการในสนามบินทั้งหมดเป็นยานยนต์ไฟฟ้า และรถเมล์ที่มาจอดหน้าอาคารผู้โดยสาร ขสมก.ก็ต้องเปลี่ยนเป็นรถไฟฟ้าเช่นกัน 

ขณะที่การให้บริกการรถไฟฟ้าไร้คนขับ (เอพีเอ็ม) คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในช่วงเดือนกันยายนนี้ พร้อมกับอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (SAT-1)