นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า ธุรกิจใหม่ที่จะเกิดขึ้นกับบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (ตลท.) คือ การลงทุนลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือคาร์บอนฟุตพรินต์ ให้เป็น Net Zero ซึ่งบริษัทเอกชนหลายบริษัทก็ได้รับสัมปทานเข้าไปลงทุนปลูกป่า
อย่างไรก็ดี การดำเนินการดังกล่าวจะคุ้มค่าการลงทุนก็ต่อเมื่อพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่เป็นกฎหมายภาคบังคับ ซึ่งคาดว่าจะออกมาใช้ได้ประมาณเดือนกันยายนหรือเดือนตุลาคมปี 2566 นี้ออกมาบังคับใช้
และกำหนดโควตาของภาคอุตสาหกรรมต่าง ๆ ในการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ หากไม่เพียงพอก็จะต้องซื้อจากตลาด
สำหรับการลงทุนธุรกิจใหม่นี้ถือว่าเป็นการลงทุนในระยะกลาง การปลูกป่าชายเลนต้องใช้เวลาในการปลูก แต่ต้นไม้จะเติบโตได้เร็วและดูดทรัพย์คาร์บอนไดออกไซด์ได้ดี
ส่วนผู้ที่ออกใบรับรองคาร์บอนเครดิต ปัจจุบันยังมีไม่มาก แต่เชื่อว่าอนาคตจะมีเพิ่มขึ้นเมื่อกฎหมายบังคับใช้ และจะใช้เวลาเร็วขึ้นจากเดิมที่ใช้คนในการเดินตรวจสอบ แต่ในอนาคตจะใช้ดาวเทียมและโดรนในการจับภาพและมาประเมินคาร์บอนเครดิตในแปลงปลูกป่าชายเลน
“หากไม่ทำตั้งแต่วันนี้ อนาคตอาจได้รับผลกระทบจากกำแพงภาษีจากฝั่งยุโรปและอเมริกา สินค้าทุกประเภทจะต้องมีคาร์บอนเครดิต หากไม่มีก็ส่งออกไม่ได้ ดังนั้นทุกฝ่ายควรต้องร่วมมือกันเพื่อรับผลกระทบที่กำลังจะมาถึง”
นอกจากนี้ สิ่งที่น่ากลัวคือกำแพงภาษีที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นแล้ว อย่างยุโรปมีมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนของสหภาพยุโรป ซึ่งเป็นการกำหนดราคาสินค้านำเข้าบางประเภทเพื่อป้องกันการนำเข้าสินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง หรือ CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism)
โดยมีค่าปรับตันละ 85 ยูโร ส่วนสหรัฐฯ ก็มีมาตรการปรับราคาคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน หรือ Clean Competition Act (CCA) มีค่าปรับตันละ 55 เหรียญสหรัฐ
นายวราวุธ กล่าวอีกว่า ยุโรปกำหนดกำแพงภาษี CBAM มีสินค้าอยู่ 5 ประเภท คือ เหล็ก เหล็กกล้า อะลูมิเนียม ไฟฟ้า และซีเมนต์ โดยเริ่มทดลองใช้ปีนี้ และมีการขยายสินค้าเพิ่มเติมอย่างเช่น กระดาษ กระจก ยิปซัม ปิโตรเคมีอีก 6-7 ชนิด ต้องมีฉลากติดว่ามี Carbon Footprint อยู่เท่าไหร่ ซึ่งคาดว่าปี 2569 จะเริ่มบังคับใช้ และมีค่าปรับสำหรับสินค้าที่ไม่ได้ตามมาตรฐาน โดยมองว่ายุโรปมีความเข้มงวดมาก เพราะมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากพอสมควร
"คุณภาพของคาร์บอนเครดิตที่ดีที่สุดคือป่าชายเลน ซึ่งมีมากกว่า 7-8 เท่า เมื่อเทียบกับป่าบนบกปกติ โดยสามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่าปกติ ซึ่งมีการศึกษามาแล้วว่าต้นโกงกางเป็นต้นไม้ที่สามารถดูดซับคาร์บอนได้มากกว่าต้นไม้ทั่วไป โดยป่าชายเลนยังสามารถปล่อยออกซิเจนออกมาสู่บรรยากาศให้มนุษย์ได้ใช้ประโยชน์อีกด้วย"
ข่าวที่เกี่ยวข้อง