เฮ! ครม.ไฟเขียวลดค่าไฟฟ้าเดือนพ.ค. 150 บาท ครอบคลุม 23.4 ล้านคน

25 เม.ย. 2566 | 13:45 น.
อัปเดตล่าสุด :25 เม.ย. 2566 | 14:51 น.
3.1 k

ครม. เห็นชอบ 2 มาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากค่าไฟแพง ใช้งบกลาง 1.1 หมื่นล้าน โดยให้ส่วนลดค่าไฟฟ้า 150 บาทต่อราย เฉพาะบิลเดือนพฤษภาคม 2566 รวม 23.4 ล้านคน และต่ออายุมาตรการเดิม 4 เดือน

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ 2 มาตรการช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากค่าไฟแพง โดยให้ส่วนลดค่าไฟฟ้า ประกอบด้วย

1.การช่วยเหลือประชาชนที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 500 หน่วย โดยจะให้ส่วนลดค่าไฟฟ้า 150 บาทต่อราย เฉพาะบิลเดือนพฤษภาคม 2566 รวม 23.4 ล้านคน ใช้งบกลาง 3,510 ล้านบาท

2.มาตรการช่วยเหลือค่าไฟฟ้ากลุ่มเปราะบาง โดยต่ออายุมาตรการเดิมออกไป 4 เดือน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม – สิงหาคม 2566 รวม 18.36 ล้านราย ใช้งบกลาง 7,602 ล้านบาท

มาตรการช่วยค่าไฟฟ้า 1 เดือน

มาตรการช่วยเหลือประชาชนระยะเร่งด่วน เป็นมาตรการช่วยเหลือประชาชนในส่วนของค่าไฟฟ้า ซึ่งได้รับผลกระทบจากต้นทุนราคาเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้น และสภาพภูมิอากาศของประเทศไทยที่สูงกว่า 40 องศาเซลเซียส ในหลายพื้นที่ของประเทศ ส่งผลให้เกิดความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 6% 

รูปแบบการช่วยเหลือ ประกอบด้วย

  • ให้ส่วนลดแก่ผู้ใช้ฟ้าบ้านอยู่อาศัยในพื้นที่ของการไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และผู้ใช้ไฟฟ้าในพื้นที่บริการของกิจการไฟฟ้าสวัสดิการสัมปทานกองทัพเรือ 
  • วงเงินช่วยเหลือจำนวน 150 บาทต่อราย กำหนดให้เป็นส่วนลดค่าไฟฟ้าก่อนการคำนวนภาษีมูลค่าเพิ่ม ในรอบบิลเดือนพฤษภาคม 2566 ซึ่งเป็นช่วงเดือนที่มีสถิติความต้องการไฟฟ้าสูงสุดของประเทศและจะเริ่มลดลงในเดือนมิถุนายน นี้
  • เป็นผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้า ไม่เกิน  500 หน่วยต่อเดือน 

ทั้งนี้ในการช่วยเหลือค่าไฟฟ้าครั้งนี้ จะครอบคลุมประชาชนจำนวน 23.40 ล้านราย โดยใช้งบประมาณรวมในกรอบไม่เกิน 3,510 ล้านบาทจากงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นต่อไป

ขยายมาตรการช่วยกลุ่มเปราะบาง

มาตรการต่อเนื่องของกระทรวงพลังงานที่ได้ดำเนินการอยู่ในช่วงเดือนมกราคม - เมษายน 2566  (การช่วยเหลือค่าไฟฟ้าของกลุ่มเปราะบาง) มีแนวทางช่วยเหลือค่าไฟฟ้าแก่ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน 

ทั้งนี้จะให้ส่วนลดแบบขั้นบันได แก่ผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยในพื้นที่ของการไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค รวมทั้งผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยที่เป็นผู้ใช้ไฟฟ้ารายย่อยของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และผู้ใช้ไฟฟ้าในพื้นที่บริการของกิจการไฟฟ้าสวัสดิการสัมปทานกองทัพเรือ 

โดยขยายเวลาออกไป 4 เดือน งวดเดือนพฤษภาคม - สิงหาคม  2566 กำหนดให้เป็นส่วนลดค่าไฟฟ้าก่อนการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราส่วนลดเดียวกันกับช่วงเดือน มกราคม - เมษายน 2566 ดังนี้

  1. ผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าระหว่าง 1-150 หน่วยต่อเดือน ให้ส่วนลดค่าไฟฟ้าจำนวน 92.04 สตางค์ต่อหน่วย โดยมีผลต่างค่าไฟฟ้า ตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (ค่า Ft) เรียกเก็บและส่วนลด 1.39 สตางค์ต่อหน่วย 
  2. ผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าระหว่าง 151-300 หน่วยต่อเดือน ให้ส่วนลดค่าไฟฟ้าจำนวน 67.04 สตางค์ต่อหน่วย โดยมีผลต่างค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (ค่า Ft) เรียกเก็บและส่วนลด 26.39 สตางค์ต่อหน่วย 

ทั้งนี้ คาดว่าจะมีผู้ได้รับการช่วยเหลือรวมทั้งสิ้นประมาณ 18.36 ล้านราย ใช้งบประมาณรวมในกรอบไม่เกิน 7,602 ล้านบาท สำหรับงวดเดือนพฤษภาคม - สิงหาคม 2566 (4 เดือน) จากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 งบกลางรายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น

ใช้งบรวม 1.1 หมื่นล้าน เตรียมชงกกต.

นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลประชุมครม.ว่า ทั้ง 2 มาตรการจะใช้วงเงิน 11,112 ล้านบาท แต่เนื่องจากปัจจุบันอยู่ในห้วงการยุบสภา ครม. จะต้องดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะได้นำเสนอคณะกรรมการการเลือกตั้งพิจารณา ให้ความเห็นชอบการใช้งบประมาณสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ตามที่รัฐธรรมนูญมาตรา 169 (3) กำหนด

โฆษกรัฐบาล ระบุว่า ในที่ประชุมครม. นายกรัฐมนตรี ยืนยันถึงความพยายามของรัฐบาล ในแก้ไขปัญหาไฟฟ้าแพงเพื่อแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน ที่ผ่านมารัฐบาลดูแลลดภาระให้แก่กลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้ากลุ่มเปราะบาง ที่ใช้ไฟฟ้า 1-300 หน่วย ครอบคลุมกว่า 80% ครัวเรือน  

ขณะเดียวกัน รัฐบาลก็เดินหน้าเปลี่ยนผ่านการใช้พลังงานของประเทศ โรงไฟฟ้าสีเขียว สำหรับภาคอุตสาหกรรม เพื่อเป็นคาร์บอนเครดิต ของประเทศ ส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ในอนาคตเชื่อว่า การใช้พลังงานสะอาดของไทยจะมีสัดส่วนที่จะเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับพลังงานที่มาจากฟอสซิล สอดคล้องกับทิศทางและแนวโน้มโลกในการใช้พลังงานสีเขียว