zero-carbon
1.5 k

ส่อง 5 นโยบาย “พลังงานสะอาด” ในญี่ปุ่น สู่ความมั่นคงด้านพลังงาน

    เทรนด์พลังงานสะอาดมาแรง ชวนส่อง 5 นโยบาย ด้าน “พลังงานสะอาด” ในประเทศญี่ปุ่น เพื่อไปสู่ความมั่นคงด้านพลังงาน ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ทุกคนทราบกันดีอยู่เเล้วว่า "สายลม" และ "แสงแดด" คือปรากฏการณ์ทางธรรมชาติที่ถูกนำมาผลิตไฟฟ้ามากที่สุด ซึ่งหลายประเทศตื่นตัวในเรื่องพลังงานสะอาด Green Transformation การเปลี่ยนผ่านระบบพลังงาน(energy transition) เพื่อลดภาวะโลกร้อนที่กำลังส่งผลกระทบในหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนา ไม่ว่าจะเป็นปัญหาภัยแล้งในประเทศในทวีปยุโรปที่ต้องเผชิญภัยแล้งครั้งเลวร้ายที่สุดในรอบกว่า 500 ปี 

ความแห้งแล้งอย่างรุนแรงตามแนวแม่น้ำแยงซี ส่งกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมที่ต้องหยุดชะงักเพราะขาดแคลนน้ำทต้องนำมาใช้ในกระบวนการผลิต อิรักที่ขาดน้ำจนภาคการเกษตรได้รับผลกระทบอย่างหนัก อินเดีย เจอวิกฤตจากคลื่นความร้อนอย่างหนักหนาสาหัส อุณหภูมิที่พุ่งทะยานขึ้นทั่วประเทศทำให้ผู้คนล้มตาย ปัญหาน้ำท่วมใหญ่ในปากีสถานที่คร่าชีวิตผู้คนกว่าพันคน รวมถึงประเทศไทยที่ต้องเผชิญกับปัญหาน้ำท่วม คลื่นความร้อน ทั้งหมดล้วนมาจากสภพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง 

 

ญี่ปุ่น เป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อม เพราะเกิดภัยธรรมชาติเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง เมื่อตุลาคม 2563 รัฐบาลญี่ปุ่นประกาศเป้าหมายยกระดับญี่ปุ่นให้กลายเป็นประเทศที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ให้ได้ภายในปี 2593 (หรือปี ค.ศ. 2050) ต่อมาเมื่อเมษายน 2564 รัฐบาลได้ประกาศตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลงร้อยละ 46 และปรับใหม่เป็นร้อยละ 50 ให้ได้ภายในปี 2573 (หรือปี ค.ศ. 2030)

ทำให้ประเทศญี่ปุ่นกำลังเร่งเข้าสู่กระบวนการเพื่อจัดการคาร์บอนจากเชื้อเพลิงฟอสซิลจนเหลือศูนย์ (Decarbonization) แถมยังกำหนดทิศทางและยุทธศาสตร์ระยะยาว ทั้ง Green Growth Strategy แผนพื้นฐานด้านพลังงาน มาตรการป้องกันภาวะโลกร้อน ตามความตกลงปารีส (Paris Agreement)

ข้อมูลจากสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงโตเกียว ชี้ให้เห็นว่า ญี่ปุ่นมีอัตราการผลิตพลังงานต้นกำเนิดภายในประเทศต่ำที่สุดในกลุ่มประเทศ G7 ผลิตได้เพียง ร้อยละ 11 เท่านั้น จากสถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน และสถานการณ์ปริมาณการผลิตไฟฟ้าที่อาจไม่เพียงพอกับความต้องการของประเทศ

ราคาพลังงานทั่วโลกที่ดีดตัวสูงขึ้น ประกอบกับค่าเงินเยนที่อ่อนตัวลง ทำให้ต้นทุนพลังงานของญี่ปุ่นพุ่งสูงขึ้น รัฐบาลญี่ปุ่นจึงต้องหันมาทบทวนนโยบายด้านพลังงานบนพื้นฐานความมั่นคงด้านพลังงาน และการเพิ่มความสามารถใน การจัดหาแหล่งพลังงาน เช่น พลังงานหมุนเวียน พลังงานนิวเคลียร์ และการใช้แหล่งไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพ 

ซึ่งหากจำกันได้ ล่าสุด เมื่อปลายปี 2565 ทีมวิจัยจาก Forte สตาร์ทอัพในเมืองอาโอโมริและมหาวิทยาลัย Electro-Communications (UEC) ในเมืองโตเกียว มองหาวิธีการกำจัดหิมะที่ดีกว่าการทิ้งลงทะเล และค้นพบว่าหิมะเป็นแหล่งพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ต้นทุนต่ำ และปลอดภัย จึงลองใช้หิมะจำนวนมากกับอากาศภายนอกเพื่อผลิตพลังงานสะอาด 

ภาพจาก japantimes

ต่อไปนี้คือ 5 นโยบายพลังงานสะอาดของประเทศญี่ปุ่นที่น่าสนใจ ที่น่านำไปเป็นกรณีศึกษา

1.นโยบายด้านทรัพยำกรธรรมชาติและเชื้อเพลิง

  • ลดการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลจากประเทศรัสเซีย 
  • การมีส่วนร่วมของรัฐบาลในการจัดหาก๊าซ LNG มีการหาแหล่งจัดหาพลังงานที่หลากหลายนอกเหนือจากรัสเซีย
  • การร่วมมือกับประเทศที่มีการนำเข้า พลังงานเป็นหลักเพื่อต่อรองกับประเทศผู้ผลิตพลังงาน
  • ถ่านหิน มีการเจรจากับประเทศผู้ผลิต ทั้งออสเตรเลียและอินโดนีเซีย เพื่อประกันความมั่นคงในการจัดหา กำหนดนโยบายและมาตรการลดการใช้ถ่านหิน
  • ก๊าซธรรมชาติ เจรจากับประเทศผู้ผลิต ได้แก่ ออสเตรเลีย มาเลเซีย สหรัฐอเมริกา เพื่อประกัน ความมั่นคงในการจัดหา
  • สนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมต้นน้ำและกลางน้ำ 
  • ทบทวนการสร้างความแข็งแกร่งในระบบการจัดหาพลังงานเชื้อเพลิง เช่น การ สนับสนุนและส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยี methanation และการใช้ก๊าซมีเทนสังเคราะห์ที่ผลิตจากกรีน ไฮโดรเจนและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการดักจับมาใช้ในอนาคต
  • สร้างความแข็งแกร่งในระบบการจัดหาแร่ โลหะหายากที่ต้องไม่พึ่งพาการนำเข้าจากประเทศใดประเทศหนึ่งจนเกินไป  
  • หาแหล่งแร่ธรรมชาติใต้ทะเลภายในประเทศ เช่น การสำรวจปริมาณแร่ธรรมชาติในทะเล และ การพัฒนาเทคโนโลยีการผลิต 

2.นโยบายประหยัดพลังงาน

  • ส่งเสริมการประหยัดพลังงานของผู้ประกอบ SME เช่น การส่งผู้เชี่ยวชาญมาวิเคราะห์และเสนอแผนประหยัดพลังงานให้กับผู้ประกอบการ 
  • ส่งเสริมมาตรการประหยัดพลังงานภายใต้กฎหมายการประหยัดพลังงานของอาคารและสิ่งปลูกสร้าง ตั้งแต่ปี 2564 มีการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวกับอาคารและสิ่งปลูกสร้างขนาดกลางและขนาดใหญ่ (ยกเว้นที่อยู่อาศัย) และกำลังดำเนินการเพื่อบังคับใช้กฎหมายนี้กับสิ่งก่อสร้างประเภทที่อยู่อาศัยและอาคารสิ่ง ปลูกสร้างขนาดเล็กในปี 2568
  • ยกระดับมาตรฐาน ZEB (net Zero Energy Building) และ ZEH (net Zero Energy House) สำหรับสิ่งปลูกสร้างที่สร้างใหม่หลังปี 2572 
  • ส่งเสริมการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้า (EV PHEV FCV ฯลฯ) ภายในปี 2578 และเพื่อให้บรรลุเป้าหมายจึงมีแผนส่งเสริมและสนับสนุนในด้านต่างๆ เช่น การส่งเสริมการผลิตแบตเตอรี่ สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศ มีเป้าหมายกำลังผลิต 100GWh ภายในปี 2573 การสนับสนุนซื้อรถยนต์พลังงานไฟฟ้า
  • ส่งเสริม สนับสนุนผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ให้หันมาผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ สำหรับรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างสถานีชาร์จไฟและสถานีเติมไฮโดรเจน เป็นต้น

3.นโยบายด้านพลังงานหมุนเวียน

  • ส่งเสริมการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าด้วยพลังแสงอาทิตย์ตาม อาคารบ้านเรือน คลังสินค้าและสิ่งปลูกสร้างต่างๆ
  • ให้เงิน สนับสนุนการติดตั้ง เช่น ให้เงินสนับสนุนการติดตั้งแผงโซลาเซลล์ ให้เงินสนับสนุนที่พักอาศัย ZEH (net Zero Energy House) ในการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าด้วยพลังแสงอาทิตย์
  • การลดหย่อนภาษีสำหรับที่อยู่อาศัยที่ปล่อยคาร์บอนต่ำหรือการปรับปรุงที่อยู่อาศัยให้เป็นที่อยู่อาศัยประหยัดพลังงาน
  • ให้ความสำคัญกับพลังงานความร้อนใต้พิภพ โดยส่งเสริมวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี พลังงานใต้พิภพโดยองค์กรอิสระ Japan Oil, Gas and Metals National Corporation (JOGMEC) มีแผนสำรวจพื้นที่อุทยานแห่งชาติและพื้นที่กึ่งอุทยาน แห่งชาติ 30 แห่ง ตั้งเเต่ 2564-2565
  • สนับสนุนวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี พลังงานหมุนเวียนจากกองทุน Green Innovation เช่น การผลิต กระแสไฟฟ้าด้วยกังหันลมลอยน้ำ การพัฒนา Perovskite Solar Cell (PSC) นวัตกรรมพลังงานใต้พิภพ ฯลฯ

ภาพจาก Unsplash/Nicholas Doherty

4.นโยบาย CCUS (Carbon dioxide Capture, Utilization and Storage) CCUS

  • การดักจับ ใช้ประโยชน์ และกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อลดปริมาณก๊าซ คาร์บอนไดออกไซด์ไว้ชั้นหินใต้ดิน (Carbon Capture and Storage: CCS) นำก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่กักเก็บไว้มาใช้ประโยชน์ต่อไป (CCUS) 
  •  International Energy Agency (IEA) พบว่า ในปี 2593 ประเทศญี่ปุ่นจะมีปริมาณการกักเก็บก๊าซ คาร์บอนไดออกไซด์ 1.2-2.4 ร้อยล้านตันต่อปี และเพื่อผู้ประกอบการจะสามารถเริ่มดำเนินธุรกิจ เกี่ยวกับ CCS ได้ในปี 2573 จำเป็นต้องเริ่มเข้าสู่ ขั้นตอนของการศึกษาความเป็นไปได้ (Feasibility study) และอื่นๆ ภายในปี 2566 และตัดสินด้าน การลงทุนให้เสร็จสิ้นภายในปี 2569

5.นโยบายไฮโดรเจนและแอมโมเนีย

  • เน้นความสำคัญของไฮโดรเจนและแอมโมเนียที่สามารถนำมาเป็นเชื้อเพลิงทดแทนน้ำมัน ถ่านหิน และก๊าซ ธรรมชาติได้ ตั้งเป้าหมายผลิตปริมาณไฟฟ้าจากไฮโดรเจนและแอมโมเนียให้ได้ร้อยละ 1 จากปริมาณไฟฟ้า ทั้งหมดภายในปี 2573
  • พัฒนาเทคโนโลยีการใช้ แอมโมเนียผสมกับถ่านหินสำหรับโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนที่ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงเพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ปี 2564 มีการสร้างโรงงานผลิตไฮโดรเจนที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่จังหวัดฟุกุชิมา และมีโครงการผลิตไฮโดรเจนจากพลังงานหมุนเวียนในปริมาณมากซึ่งกำลังดำเนินการ