G7 ไฟเขียวเป้าหมายใหม่หนุนพลังงานลมและแสงอาทิตย์เต็มสูบ

19 เม.ย. 2566 | 00:53 น.
อัปเดตล่าสุด :19 เม.ย. 2566 | 08:24 น.

การประชุมระดับรัฐมนตรี G7 ที่ญี่ปุ่น เห็นพ้องกำหนดเป้าหมายใหม่ที่สูงขึ้นในการเพิ่มการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากลมและแสงอาทิตย์ แม้ยังไม่สามารถกำหนดเส้นตายเลิกใช้ถ่านหินในปี 2030

 

การประชุมรัฐมนตรี G7 ว่าด้วยเรื่อง สภาพภูมิอากาศ พลังงาน และสิ่งแวดล้อมโลก ที่ ญี่ปุ่น เป็นเจ้าภาพจัดที่เมืองซัปโปโร ระหว่างวันที่ 15-16 เม.ย.ที่ผ่านมา ปิดฉากอย่างมีความหวังและความคืบหน้า โดยที่ประชุมเห็นพ้องตั้งเป้าสูงขึ้นในการเพิ่มการผลิต พลังงานจากลมและแสงอาทิตย์

G7 หรือ Group of Seven คือกลุ่มประเทศรายได้สูง ประกอบด้วย สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี ญี่ปุ่น และแคนาดา การประชุมล่าสุดระดับรัฐมนตรีที่เพิ่งปิดฉากลง มีความคืบหน้าโดยชาติสมาชิกได้ร่วมกันตั้งเป้าหมายใหม่สำหรับการผลิตพลังงานจากลมและแสงอาทิตย์ โดยตกลงกันเร่งการพัฒนาแหล่งพลังงานสะอาด และลดการใช้เชื้อเพลิงจากฟอสซิล

อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีกลุ่ม G7 ที่ร่วมประชุมกันที่ญี่ปุ่นครั้งนี้ ยังไม่ร่วมสนับสนุนการกำหนดเส้นตายในปี ค.ศ. 2030 สำหรับการเลิกใช้เชื้อเพลิงจากถ่านหินทั้งหมดตามที่แคนาดาและสมาชิกอื่น ๆ เสนอ รวมทั้งยังเปิดโอกาสสำหรับการลงทุนในอุตสาหกรรมก๊าซธรรมชาติอีกด้วย โดยให้เหตุผลว่า การทำเช่นนี้จะช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนพลังงานที่กำลังเผชิญอยู่ได้

ญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรี G7 ว่าด้วยเรื่องสภาพภูมิอากาศ พลังงาน และสิ่งแวดล้อมโลก ที่เมืองซัปโปโร เมื่อวันที่ 15-16 เม.ย.2566 (ภาพข่าวเกียวโด)

นายยาสึโตชิ นิชิมูระ รัฐมนตรีอุตสาหกรรมญี่ปุ่น ซึ่งเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม แถลงว่า ท่ามกลางวิกฤตพลังงานที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ถือเป็นสิ่งที่สำคัญที่ชาติสมาชิก G7 ต้องมีมาตรการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และสนับสนุนความมั่นคงด้านพลังงานไปพร้อมๆกัน

"ในขณะที่มีหลายแนวทางในการบรรลุเป้าหมายเรื่องการไม่ก่อก๊าซคาร์บอนเพิ่ม เราได้เห็นพ้องกันในประเด็นสำคัญว่าด้วยการกำหนดเป้าหมายนั้นภายในปี 2050" รัฐมนตรีนิชิมูระกล่าว

ในแถลงการณ์ร่วมของการประชุม ประเทศสมาชิกตั้งเป้าหมาย ว่า

  • จะเพิ่มกำลังการผลิตพลังงานจากลมนอกชายฝั่งอีก 150 กิกะวัตต์ และพลังงานจากแสงอาทิตย์มากกว่า 1 เทระวัตต์ ภายในปี ค.ศ. 2030
  • นอกจากนี้ ยังเห็นพ้องที่จะเร่งลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลให้ลงไปอยู่ที่ระดับการปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปีค.ศ. 2050

G7 จะเพิ่มกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานลมนอกชายฝั่งอีก 150 กิกะวัตต์ ภายในปี ค.ศ. 2030

ด้านนายโจนาธาน วิลกินสัน รัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติแคนาดา ซึ่งเป็นประเทศที่สนับสนุนการกำหนดเส้นตายในปี ค.ศ. 2030 สำหรับการเลิกใช้เชื้อเพลิงจากถ่านหินทั้งหมด กล่าวเสริมว่า เดิมทีผู้คนต่างคิดว่าการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศและความมั่นคงด้านพลังงานเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกัน แต่จากการหารือครั้งนี้ และสิ่งที่สะท้อนอยู่ในแถลงการณ์ร่วมชี้ให้เห็นว่า ทั้งสองอย่างสามารถไปด้วยกันได้

รัฐมนตรีวิลกินสัน กล่าวกับสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า แคนาดายังคงยึดมั่นกับข้อเสนอที่ให้ประเทศสมาชิก G7 เลิกใช้เชื้อเพลิงจากถ่านหินทั้งหมดภายในปี 2030 ซึ่งอังกฤษและบางประเทศก็เห็นพ้องด้วย ในขณะที่ประเทศอื่นกำลังพยายามขบคิดแนวทางเดินหน้าตามเป้าหมายดังกล่าวภายใต้เงื่อนเวลาที่วางไว้เช่นกัน

ทั้งนี้ การประชุมระดับรัฐมนตรีของกลุ่ม G7 ในประเด็นว่าด้วยนโยบายด้านสภาพภูมิอากาศ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม จัดขึ้นที่เมืองซัปโปโร เป็นเวลาสองวัน สิ้นสุดลงเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (16 เม.ย.) ที่ประชุมให้น้ำหนักความสำคัญในการหารือกันเรื่องความมั่นคงด้านพลังงาน และแหล่งพลังงานสะอาด ซึ่งกลายเป็นประเด็นเร่งด่วนสืบเนื่องจากสงครามในยูเครนที่ทำให้เกิดวิกฤตพลังงานที่ได้ส่งผลกระทบไปทั่วยุโรป