ติดโซลาร์เซลล์อย่างไรให้คุ้มค่าไฟ เหมาะกับบ้านแบบไหน เช็คเลยที่นี่

19 เม.ย. 2566 | 08:03 น.
อัปเดตล่าสุด :19 เม.ย. 2566 | 08:04 น.
1.6 k

ติดโซลาร์เซลล์อย่างไรให้คุ้มค่าไฟ เหมาะกับบ้านแบบไหน เช็คเลยที่นี่มีคำตอบ ฐานเศรษฐกิจรวบรวมไว้ให้แล้ว หลังมีกระแสชายหนุ่มจ่ายค่าไฟไม่ถึง 72 บาทอต่อเดือน เพราะใช้ไฟจากพลังงานแสงอาทิตย์

ติดโซลาร์เซลล์กำลังเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก หลังจากที่มีประเด็นหนุ่มคนหนึ่งติดแผงโซลาร์เซลล์ที่บ้านเอง ค่าไฟจากปกติเดือนละ 4,000-5,000 บาท เดือนล่าสุดเหลือแค่ 71.71 บาท

พร้อมระบุว่ากลางวันเปิดแอร์ 12000BTU 4 ตัว กลางคืน 3 ตัว จ่ายไฟบ้าน 3 หลัง ค่าติดตั้งอยู่ราว 300,000 บาท แต่หากเทียบในระยะยาวแล้ว ถือว่าคุ้มค่ามาก

ส่วนค่าไฟงวดเดือนพ.ค.-ส.ค.66 เวลานี้ก็คือ 4.77 บาทต่อหน่วย หากไม่มีการใดๆก็จะมากกว่างวดปัจจุบันอีก 5 สตางค์ จากเดิมที่ต้องจ่ายที่ 4.72 บาทต่อหน่วย

อย่างไรก็ดี ต้องเรียนว่าการติดตั้งโซลาร์เซลล์เพื่อผลิตไฟฟ้าใช้ในบ้านนั้น ใช่ว่าทุกบ้านจะติดแล้วคุ้มค่า

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบเพื่อหาข้อมูลของ "ฐานเศรษฐกิจ" พบว่า 

โซลาร์เซลล์จะผลิตไฟฟ้าได้เฉพาะช่วงเวลากลางวันที่มีแสงแดด ดังนั้น การใช้ไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ที่คุ้มและลงทุนน้อยที่สุด คือ เมื่อผลิตไฟฟ้าแล้วนำมาใช้ให้หมดในช่วงเวลากลางวัน เพราะไม่ต้องเปลืองค่าแบตเตอรี่สำหรับเก็บไฟฟ้าซึ่งมีราคาสูง และไม่ต้องขายไฟคืนการไฟฟ้าซึ่งขายได้ในราคาที่ไม่ได้สูงมากเท่ากับราคาที่ต้องซื้อไฟฟ้ามาใช้ 

โซลาร์เซลล์เหมาะกับบ้านแบบไหน

  • บ้านที่ใช้ไฟฟ้ามากในช่วงกลางวัน 
  • เปิดเครื่องปรับอากาศเป็นประจำ 
  • ใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าที่ใช้ไฟมากหลายอย่าง เช่น บ้านที่มีผู้อยู่อาศัยตลอดทั้งวัน บ้านที่มีผู้ป่วยติดเตียง โฮมออฟฟิศ ออฟฟิศ ร้านค้า
  • บ้านที่มีค่าไฟ 2,000 – 3,000 บาทขึ้นไป ซึ่งเป็นอัตราการใช้ไฟที่พอจะคุ้มค่ากับกำลังการผลิตไฟฟ้าขั้นต่ำของ "โซลาร์เซลล์" เช่น เริ่มต้นที่ 1.8-3 กิโลวัตต์ (ขึ้นอยู่กับแพ็กเกจของแต่ละบริษัท) โดยโซลาร์เซลล์ 1.8 กิโลวัตต์ จะประหยัดค่าไฟสูงสุดได้ประมาณ 900-1,000 บาท/เดือน ซึ่งบริษัทผู้ติดตั้งจะประเมินความคุ้มค่าของแต่ละบ้านเป็นกรณีไป
  • มีพื้นที่ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เพียงพอและเหมาะสม

งบประมาณในการติดตั้ง คืนทุนในกี่ปี

  • สำหรับกำลังผลิตที่ 2-3 กิโลวัตต์ (สำหรับไฟ 1 เฟส) จะผลิตไฟฟ้าได้ประมาณ 200-400 หน่วย/เดือน หรือคำนวณก็คือ บ้านที่มีการใช้เครื่องปรับอากาศประมาณ 2 เครื่อง มีราคาประมาณ 170,000 – 200,000 บาท แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับสเปคอุปกรณ์และการบริการที่ต้องนำมาเปรียบเทียบกัน 
  • บ้านอยู่อาศัยแบบครอบครัว 4-6 คน หรือเสียค่าไฟประมาณ 3,000-7,000 บาทต่อเดือน แนะนำให้ติดตั้ง 5 กิโลวัตต์ ซึ่งจะลดค่าไฟได้ประมาณ 2,000 – 3,000 บาทต่อเดือน มีราคาประมาณ 200,000–300,000 บาท ขึ้นอยู่กับแพ็กเกจของแต่ละบริษัท โดยอาจจะมีค่าใช้จ่ายอื่นเพิ่มเติม เช่น ค่าปรับปรุงโครงสร้างหากโครงสร้างบ้านไม่สามารถติดตั้งได้ ค่าธรรมเนียมการขออนุญาติ เป็นต้น

ส่วนการคืนทุนนั้น ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยที่เข้ามาเกี่ยวข้อง ทั้งกำลังการผลิตที่ติดตั้ง การใช้ไฟของแต่ละบ้าน สภาพอากาศ ซึ่งโดยทั่วไปจะมีคืนทุนเฉลี่ยที่ 6-10 ปี หลังจากคืนทุนแล้วหมายความว่า ผู้ที่ติดตั้งจะได้ใช้ไฟส่วนนั้นได้ฟรีไปอีกอย่างน้อยก็ถึงอายุรับประกัน 25 ปี

อย่างไรก็ตาม จะมีค่าเปลี่ยนอุปกรณ์ที่เสื่อมตามอายุซึ่งอยู่นอกเหนือการรับประกัน และค่าบริการตรวจระบบและล้างแผงตามแต่แพคเก็จที่ซื้อเพิ่ม

อย่างไรก็ดี หนึ่งคำถามที่สำคัญก็คือ เมื่อติดตั้ง "โซลาร์เซลล์" แล้วสามารถใช้กับเครื่องใช้ไฟฟ้าได้กี่ชิ้น

พลังงานแสงอาทิตย์เมื่อแปลงเป็นพลังงานไฟฟ้าแล้ว จะใช้กับเครื่องใช้ไฟฟ้าได้หลากหลาย 

โดยขออธิบายให้เข้าใจการทำงานของระบบ "โซลาร์เซลล์" คือจากแผงโซลาร์เซลล์ที่หลังคาจะต่อไปยังตัวควบคุมส่วนกลางและแปลงเป็นไฟฟ้า ซึ่งจ่ายไปยังเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เปิดใช้งานอยู่ในขณะนั้น 

หากไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ไม่พอ ก็จะสลับมาใช้ไฟฟ้าจากการไฟฟ้าฯ เช่น ใช้พลังงานไฟฟ้า 5 กิโลวัตต์ โซลาร์เซลล์ผลิตมาได้ 3 กิโลวัตต์ ระบบก็จะดึงไฟฟ้าจากการไฟฟ้าฯ มาอีก 2 กิโลวัตต์ 

หรือบ้านที่มี Storage ถ้าโซลาร์เซลล์ผลิตได้ 2 กิโลวัตต์ ใน Storage มี 3 กิโลวัตต์ ก็จะไม่ต้องใช้ไฟฟ้าจากการไฟฟ้าฯ

ซึ่งการผลิตไฟฟ้าของโซลาร์เซลล์ในแต่ละวันอาจไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับสภาพแสงแดดด้วย แต่ถ้าพูดในเชิงสถิติ อาคารส่วนใหญ่ในเมืองไทยจะใช้ไฟฟ้า 60% ไปกับเครื่องปรับอากาศ การติดโซลาร์เซลล์จึงมักไปแบ่งเบาการใช้ไฟฟ้าของเครื่องปรับอากาศมากที่สุด

ส่วนเหตุผลที่ควรติดตั้งโซลาร์เซลล์ก็เพราะ เรื่องพลังงานเป็นมากกว่าปัญหาโลกร้อน แต่เป็นปัญหาเชิงสังคมอย่างคาดไม่ถึงด้วย เช่น 

จากสถิติคนเราจะมีค่าใช้จ่ายด้านพลังงานประมาณ 10 – 20 % ซึ่งถือว่าเยอะมาก เทียบให้เห็นชัดๆ ถ้าเงินเดือน 10,000 บาท จะเป็นค่าใช้จ่ายด้านพลังงานถึง 1,000-2,000 บาท 

แต่กิจการด้านพลังงานเป็นแบบรวมศูนย์ (Centralize) คือมีผู้ดูแลเพียงไม่กี่ราย ทำให้เกิดการกระจุกตัวทั้งด้านรายได้ การให้บริการ และความเหลื่อมล้ำ 

ดังนั้น การเข้าถึงพลังงานควรกระจายให้คนทั่วไปเข้าถึงได้ด้วย (Decentralize) ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งที่ผลักดันให้สังคมดีขึ้น ทุกบ้านพึ่งพาตัวเองได้  และสิ่งแวดล้อมก็จะดีขึ้น