zero-carbon
1.2 k

เกาะหมาก โลว์คาร์บอน แหล่งท่องเที่ยวยั่งยืน 1 ใน 100 แห่งใหม่โลก

    ทำความรู้จัก “เกาะหมาก” จังหวัดตราด แหล่งท่องเที่ยวยั่งยืน 1 ใน 100 แห่งใหม่ของโลก ประจำปี 2565 ต้นแบบการท่องเที่ยวแบบโลว์คาร์บอน หรือ Low Carbon Tourism ของประเทศไทย

การท่องเที่ยวแบบโลว์คาร์บอน (Low Carbon Tourism) หรือ การท่องเที่ยวแบบคาร์บอนต่ำ กำลังเป็นกลายกระแสการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ที่ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจ โดยนอกเหนือจากการเดินทางไปสัมผัสเยี่ยมชมแล้ว ยังสามารถสร้างประสบการณ์ที่ดี โดยเฉพาะเรื่องสิ่งแวดล้อม ซึ่งนับเป็นหนึ่งแนวทางในการสร้างความยั่งยืนทางด้านการท่องเที่ยว และการท่องเที่ยวอย่างรับผิดชอบให้เกิดขึ้นทุกพื้นที่ทั่วโลก

สำหรับประเทศไทยเองนั้น ที่ผ่านมา องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. ในฐานะหน่วยงานที่มีภารกิจในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ได้ผลักดันพื้นที่หลายแห่งในประเทศไทยสู่การเป็นแหล่งท่องเที่ยวแบบโลว์คาร์บอน

ล่าสุดเข้ามาช่วยขับเคลื่อนให้เกาะหมาก จังหวัดตราด เป็นพื้นที่ต้นแบบในการเป็น Low Carbon Destination แห่งแรกของประเทศไทย พร้อมกำหนดเป้าหมายการพัฒนาระยะยาวในการผลักดันให้เกาะหมากเข้าสู่การได้รับการรับรองมาตรฐานเป็นแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืน 100 แห่งของโลก (Green Destination Top 100) ในปี 2570 

เกาะหมาก ติด TOP100 ของโลก

เป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่งว่า “เกาะหมาก” ไม่ต้องรอการได้รับการรับรองมาตรฐานเป็นแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืน 100 แห่งของโลก หรือ Top 100 ถึงปี 2570 เพราะล่าสุด เกาะหมาก ได้รับการเลือกเป็น 1 ในแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืน 100 แห่งของโลก ประจำปี 2565 ถือเป็นเกาะต้นแบบแห่งแรกในประเทศไทยในด้านความปลอดภัย และด้านการจัดการขยะ และถือว่าทำสำเร็จก่อนเป้าหมาย โดยได้รับรางวัลดังกล่าวในเดือนกันยายน 2565 ที่ผ่านมา

สำหรับแหล่งท่องเที่ยวไทยที่ได้รับการคัดเลือกในปี 2565 ซึ่งจัดโดย Green Destinations Foundation ประกอบด้วย 3 พื้นที่ ได้แก่

1.เกาะหมาก จังหวัดตราด ถือว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Destination) แห่งแรกของไทย

2.บ้านห้วยปูแกง จังหวัดแม่ฮ่องสอน

3.วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวสาปยา จังหวัดชัยนาท 

รู้จักที่มาของ เกาะหมาก

ที่มาของชื่อ "เกาะหมาก" นั้นสันนิษฐานว่า น่าจะมาจาก "หมากป่า" ซึ่งมีอยู่มากในสมัยก่อน ปัจจุบันพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นสวนยางพารา สวนมะพร้าว ที่พักอาศัย และโรงแรมรีสอร์ตขนาดเล็กและขนาดย่อมบ้าง เกาะหมากมีพื้นที่ทั้งหมด 9,500 ไร่ ถือเป็นเกาะที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของจังหวัดตราด รองจากเกาะช้าง และเกาะกูด

ความที่เกาะหมากไม่ได้มีแหล่งท่องเที่ยวมากเหมือนเกาะอื่น เพราะไม่มีทั้งน้ำตก หรือหาดทรายสวยขึ้นชื่อระดับประเทศ ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ทางการเกษตร ที่นี่จึงไม่ใช่ แหล่งท่องเที่ยวที่มีสิ่งอำนวยความสะดวก ครบครัน ไม่มีร้านสะดวกซื้อ ไม่มีเจ็ตสกี ผับ บาร์ คาราโอเกะ

แต่ในอีกมุมหนึ่ง ความไม่มีสิ่งต่างๆ เหล่านี้ ทำให้เกาะหมากยังเงียบสงบ ธรรมชาติยังสมบูรณ์จนถึงทุกวันนี้ นักท่องเที่ยว ส่วนใหญ่ที่มาเยือนเกาะหมากจึงเป็นชาวต่างชาติ ที่ต้องการมาพักผ่อนระยะยาว

เกาะโลว์คาร์บอน แห่งแรกของไทย

เมื่อเทรนด์การท่องเที่ยวโลกเริ่ม เปลี่ยนไป มีการหันมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนถูกหยิบยกนำมาเป็นประเด็นแรกๆ ของการพัฒนา Low Carbon Tourism จึงเริ่มเข้ามามีบทบาทมากขึ้น เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ เกาะหมาก จึงเริ่มฉายแววโดดเด่น ด้วยเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนใคร

จากสภาพพื้นที่ส่วนใหญ่ที่ธรรมชาติยังคงบริสุทธิ์ไม่ได้ถูกคลื่นการท่องเที่ยวสมัยใหม่เข้ามาเปลี่ยนแปลงตัวตน จึงได้รับคัดเลือกให้เป็นต้นแบบแหล่งท่องเที่ยวที่ทำให้เกิดคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Destination) ซึ่ง อพท. เข้ามาช่วย ขับเคลื่อนด้วยการนําหลักการสากลอย่างเกณฑ์การ ท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนโลก (Global Sustainable Tourism Criteria : GSTC) มาใช้เป็นแนวทาง ในการพัฒนาบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวเพื่อ ให้เกิดความยั่งยืน

จัดทำ "ธรรมนูญเกาะหมาก"

พร้อมให้มีการจดบันทึกลงนามความร่วมมือภายใต้ปฏิญญาเกาะหมาก จากทั้งภาครัฐ เอกชน และชุมชน เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2555 เพื่อร่วมกันพัฒนาลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์แบบครบวงจร เมื่อการท่องเที่ยวเริ่มเติบโต เพื่อให้เกิดภาพปฏิบัติที่ชัดเจนขึ้น

พร้อมทั้งป้องกันกระแสความเปลี่ยนแปลงจากการท่องเที่ยวยุคใหม่ ในปี 2561 จึงมีการระดม ความคิดเห็นผ่านเวทีประชาคมของชาวเกาะ หมาก ผู้ประกอบการ และหน่วยงานในพื้นที่ เพื่อหาแนวทางการอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข โดยได้จัดทำเป็น "ธรรมนูญเกาะหมาก" ขึ้นมา ซึ่งมีรายละเอียด 8 ข้อ ได้แก่

1. ไม่สนับสนุนให้เรือเฟอร์รีนำยานพาหนะ ของนักท่องเที่ยวข้ามมายังเกาะหมาก

2. รถจักรยานยนต์ให้เช่าต้องไม่เกิน 70% ของจำนวนห้องพักบนเกาะหมาก

3. ไม่สนับสนุนการใช้วัสดุจากโฟม หรือวัสดุที่ก่อให้เกิดมลพิษเพื่อใส่อาหาร

4. ห้ามทิ้งขยะ สิ่งปฏิกูล ของรับประทานเหลือลงในที่สาธารณะ และแหล่งน้ำโดยเด็ดขาด

5. ไม่สนับสนุนให้ใช้สารเคมีที่มีสารตกค้างสูง

6. ห้ามส่งเสียงดังหรือกระทำการรบกวน หรือเป็นการเดือดร้อน ในเวลา 22.00 - 07.00 น.

7. ไม่สนับสนุนกีฬาทางบกและทางทะเลที่ใช้เครื่องยนต์ที่สร้างความเดือดร้อน แก่ชุมชน 

8. ห้ามนำ ห้ามเสพ ห้ามจําหน่ายสารเสพติดผิดกฎหมายทุกชนิดบนเกาะ

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้การท่องเที่ยวเกาะหมากมีความเข้มแข็งมากขึ้น ชุมชนและภาคธุรกิจท่องเที่ยวต่างเติบโตและอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน