zero-carbon

แม่ฟ้าหลวงฯ ดึงเอกชนพัฒนา “คาร์บอนเครดิต” ป่าชุมชน 2 แสนไร่

    มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ดึงเอกชนพัฒนา “คาร์บอนเครดิต” พื้นที่ป่าชุมชน 2 แสนไร่ ทั้ง ปตท.สผ. และ เออาร์วี ดันเทคโนโลยีช่วยเก็บข้อมูล และประเมิน Carbon Credit ในพื้นที่ป่า

การส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่ป่าชุมชน นับเป็นหนึ่งในแนวทางสำคัญของการรักษาสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย และสร้างความยั่งยืนให้กับชุมชน โดยสามารถต่อยอดการพัฒนาสู่โครงการจัดการ คาร์บอนเครดิต” (Carbon Credit) ได้ในอนาคต โดยเฉพาะพื้นที่ป่าชุมชนที่ดูแลโดย มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ในพระบรมราชูปถัมภ์

ล่าสุด มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ได้ร่วมมือกับภาคเอกชน คือ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. และบริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด หรือ เออาร์วี ซึ่งเป็นบริษัทลูกของ ปตท.สผ. ลงนามความร่วมมือว่าด้วยความร่วมมือการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ ผ่านกลไกการมีส่วนรวมกับชุมชน และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อจัดการคาร์บอนเครดิตในป่าชุมชน 

กำหนดเป้าหมายสำคัญในการพัฒนาคาร์บอนเครดิตจากป่าชุมชน และป่าไม้อื่น ๆ ผ่านการนำเทคโนโลยี เช่น ดาวเทียม โดรน และ อื่น ๆ เข้ามาทำการสำรวจคาร์บอนเครดิต ตั้งเป้าหมายในพื้นที่ป่าชุมชน 200,000 ไร่ ในระยะ 5-10 ปี และขยายความร่วมมือให้มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ เป็นที่ปรึกษาด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนร่วมกับชุมชนเป้าหมายของบริษัท ปตท. สผ. 

 

ภาพประกอบข่าว มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ดึงเอกชนพัฒนา “คาร์บอนเครดิต” พื้นที่ป่าชุมชน

แนวทางการพัฒนา “คาร์บอนเครดิต”

มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ จะผลักดันให้เกิดการขึ้นทะเบียนโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program : T-VER) ตามมาตรฐานขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. หรือองค์กรอื่นใดทั้งในและต่างประเทศ

เพื่อรับรองและสามารถนำคาร์บอนเครดิตที่เกิดขึ้นไปใช้ประโยชน์ได้ และพัฒนากลไกการมีส่วนร่วมกับชุมชนผู้ดูแลป่า ให้ชุมชนมีรายได้จากการทำโครงการ โดยจะจัดทำแผนงานพร้อมด้วยรายละเอียดในการดำเนินงานโครงการป่าชุมชนที่เห็นว่าเหมาะสม หรือกิจกรรม รวมถึงประมาณการค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องในแต่ละปี เสนอให้ ปตท.สผ. พิจารณา

โดย ปตท.สผ. จะสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชุมชน ในพื้นที่เป้าหมาย ผ่านการพัฒนาศักยภาพชุมชน เพื่อรักษา ฟื้นฟูระบบนิเวศและทรัพยากรธรรมชาติ และเพิ่มพื้นที่ในการดูดซับก๊าซเรือนกระจกให้กับประเทศ ของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ รวมถึงเข้าร่วมกิจกรรมพัฒนากับชุมชนผู้ดูแลป่าในพื้นที่ที่ ปตท.สผ. สนใจ

ทั้งนี้การพิจารณาอนุมัติข้อเสนอโครงการ เป็นดุลยพินิจของ ปตท.สผ. และในกรณีที่การดำเนินงานตามข้อเสนอโครงการจะต้องจัดทำในลักษณะ การจัดซื้อจัดจ้างให้การดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามหลักเกณฑ์การจัดซื้อจัดจ้างและวิธีการที่เกี่ยวข้อง ของ ปตท.สผ.

 

ภาพประกอบข่าว “คาร์บอนเครดิต” พื้นที่ป่าชุมชน

ให้สิทธิคาร์บอนเครดิต ปตท.สผ.

ตามข้อตกลงครั้งนี้ ทั้งสองฝ่ายตกลงให้สิทธิในคาร์บอนเครดิตที่เกิดจากการดำเนินโครงการป่าชุมชน เป็นสิทธิของ ปตท.สผ. ตามสัดส่วนและปริมาณที่ตกลงร่วมกัน ตามสัญญาที่จะมีการทำขึ้น เพื่อ ปตท.สผ. จะได้นำปริมาณคาร์บอนเครดิตดังกล่าวไปลดหรือชดเชยการปล่อย ก๊าซเรือนกระจก หรือใช้ประโยชน์อื่นใดของ ปตท.สผ.

ดึงเทคโนโลยีประเมินคาร์บอนเครดิต

ความร่วมมือระหว่าง เออาร์วี และมูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ ตกลงกันนำความรู้และความเชี่ยวชาญมาใช้ให้เกิดการพัฒนาและประยุกต์เป็นแนวทางในการใช้ระบบวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการเก็บข้อมูล หรือประเมินคาร์บอนเครดิตในพื้นที่ป่า 

โดยเออาร์วีตกลงที่จะนำความรู้และความเชี่ยวชาญในด้านเทคโนโลยีดาวเทียม และเทคโนโลยีอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง มาใช้เพื่อให้เกิดการพัฒนาและประยุกต์เป็นแนวทาง ในการใช้ระบบวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในการเก็บข้อมูลหรือประเมินคาร์บอนเครดิตในพื้นที่ป่าดังนี้

  • การแปลงผลจากภาพถ่ายดาวเทียม 
  • การประมวลผลข้อมูลโดยใช้ระบบวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytics System) 
  • ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: Al) 
  • การเรียนรู้ ของโปรแกรมด้วยตนเอง (Machine Learning) 

ทั้งนี้ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ จะให้ข้อมูลเกี่ยวกับการประเมินปริมาณการกักเก็บคาร์บอน เช่น ปริมาณคาร์บอนที่ถูกประเมินได้ ในแต่ละพื้นที่ เพื่อให้เออาร์วีนำข้อมูลดังกล่าวมาใช้เป็นข้อมูลในการพัฒนาระบบวิเคราะห์และประมวลผลในการเก็บข้อมูลหรือประเมินคาร์บอนเครดิตในป่าเท่านั้น โดยเออาร์วีจะไม่นำข้อมูลดังกล่าวไปใช้ ในจุดประสงค์อื่นอย่างเด็ดขาด

 

ภาพประกอบข่าว “คาร์บอนเครดิต” พื้นที่ป่าชุมชน

 

สามฝ่ายพร้อมต่อยอดการพัฒนา

แนวทางการพัฒนาทั้งสามฝ่ายตกลงร่วมกันศึกษาโครงการวิจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการเพื่อมุ่งสู่ การลดก๊าซเรือนกระจกและเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพผ่านการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชุมชน หรือป่าประเภทอื่น หรือโครงการรูปแบบอื่น เช่น การเกษตรปฏิรูปเพื่อฟื้นฟูดิน เพื่อผลักดันให้เกิดการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกอย่างมีประสิทธิภาพ และเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพให้กับประเทศ

รวมทั้งยังตกลงร่วมกันวางแผนและดำเนินกิจกรรมพัฒนาชุมชน เช่น การส่งเสริมอาชีพ การส่งเสริมการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน การพัฒนาศักยภาพบุคคล การพัฒนาสิ่งแวดล้อมในชุมชน ในพื้นที่ ซึ่งจะได้มีการตกลงกัน เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่โครงการ ควบคู่กับการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าเพื่อเพิ่มการกักเก็บคาร์บอน โดยกิจกรรมดังกล่าวจะได้กำหนดให้เป็น ส่วนหนึ่งของโครงการป่าชุมชนที่จะได้ตกลงทำร่วมกัน