zero-carbon

กนอ.ขยายนิคมฯ ปิ่นทองกว่า 1 พันไร่ดูดทุนเพิ่มอีอีซี มุ่งพลังงานสะอาด

    กนอ.ขยายนิคมฯ ปิ่นทองกว่า 1 พันไร่ดูดทุนเพิ่มอีอีซี มุ่งพลังงานสะอาด ทั้งโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ติดตั้งบนหลังคา และการให้บริการไฟเบอร์ออพติกใต้ดินเชื่อมต่อความเร็วสูงในโครงการ

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เปิดเผยว่า ได้ดำเนินการขยายพื้นที่โครงการนิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง (โครงการ 5) ส่วนขยาย จังหวัดชลบุรี เนื้อที่ประมาณ 1,155  ไร่ ที่ตำบลเขาคันทรง อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี 

ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวเป็นการขยายจากพื้นที่เดิมในที่ดินที่เป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัท ปิ่นทอง อินดัสเตรียล ปาร์ค จำกัด (มหาชน)  ซึ่งโครงการดังกล่าวฯ สอดรับกับนโยบายการพัฒนาเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรืออีอีซี (EEC) ของรัฐบาล ที่วางเป้าหมายการลงทุนไว้ไม่ต่ำกว่า 2 แสนล้านบาทในปี 2566 โดยเป็นตามที่ที่ประชุมคณะกรรมการ กนอ. หรือ บอร์ด กนอ. อนุมัติ

สำหรับการพัฒนาพื้นที่ส่วนขยายดังกล่าวนี้ ส่งเสริมให้เกิดการยกระดับมาตรฐานระบบสาธารณูปโภคและสิ่งอำนวยความสะดวกของนิคมอุตสาหกรรม โดยใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัย สู่การเป็นนิคมอุตสาหกรรมอัจฉริยะ (SMART I.E.) พื้นที่ประกอบการอัจฉริยะ (SMART I.Z.) เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้พัฒนานิคมอุตสาหกรรมและผู้ประกอบการ 
 

สร้างความได้เปรียบในกระบวนการผลิต สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ รองรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง ลดความสิ้นเปลืองพลังงานและความสูญเสียของทรัพยากรที่มีจำกัด เพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศอย่างยั่งยืน 

กนอ.ขยายนิคมฯ ปิ่นทองกว่า 1 พันไร่ดูดทุนเพิ่มอีอีซี นอกจากนี้ ยังได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี และหากอยู่ในพื้นที่เขตอีอีซีจะได้รับการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคลเพิ่มอีก 50% เป็นระยะ 5 ปี 

นายวีริศ กล่าวอีกว่า โครงการนิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง (โครงการ 5) ปัจจุบันมีพื้นที่ทั้งสิ้น 1,540 ไร่ เมื่อรวมพื้นที่ส่วนขยายอีกประมาณ 1,155 ไร่ จะทำให้โครงการ นิคมอุตสาหกรรมปิ่นทอง (โครงการ 5) มีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 2,695 ไร่ สำหรับพื้นที่ส่วนขยายนั้น จะใช้งบลงทุนประมาณ 2,500 ล้านบาท และคาดว่าพื้นที่ส่วนขยายจะสามารถเปิดดำเนินการได้ภายในไตรมาสที่ 4/2567 

โครงการฯ มุ่งเน้นกลุ่มนักลงทุนเป้าหมายที่ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในกระบวนการผลิตเป็นหลัก เช่น อุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์และอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและชิ้นส่วน โดยการออกแบบยังคงใช้แนวคิดพัฒนานิคมอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ (Eco Industrial Town) พร้อมทั้งจัดให้มีพื้นที่สีเขียว และพื้นที่แนวกันชนเชิงนิเวศ (Eco-Belt) รอบพื้นที่โครงการฯ 

รวมถึงให้ความสำคัญกับการจัดการพลังงานทดแทน (Renewable Energy) โดยมีโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ติดตั้งบนหลังคา (Solar Rooftop) และการให้บริการไฟเบอร์ออพติกใต้ดินเพื่อการเชื่อมต่อความเร็วสูงในโครงการด้วย 

อีกทั้งยังมีนโยบายนำน้ำทิ้งที่ผ่านการบำบัดแล้วมาใช้ใหม่ในโครงการฯ เพื่อช่วยลดปัญหามลพิษ และเป็นการประหยัดพลังงาน ซึ่งจำเป็นต่อการส่งเสริมคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมของชุมชนโดยรอบ ให้สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน