"บอร์ดอีวี" จ่อเคาะแพคเกจส่งเสริมแบตเตอรี่หนุนการลงทุนครบวงจร

01 ก.พ. 2566 | 06:00 น.
อัปเดตล่าสุด :01 ก.พ. 2566 | 06:37 น.
530

"บอร์ดอีวี" จ่อเคาะแพคเกจส่งเสริมแบตเตอรี่หนุนการลงทุนครบวงจรวันที่ 2 ก.พ. พร้อมเตรียมจัดสรรวงเงินอุดหนุนผู้ผลิตเพื่อให้ราคาลดลงส่งต่อถึงผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้า

รายงานข่าวจากคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ดอีวี) ระบุว่า วันที่ 2 ก.พ. บอร์ดอีวีที่มีนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน จะมีการประชุมเคาะมาตรการส่งเสริมแบตเตอรี่อีวีเพื่อให้เกิดการลงทุนในไทยครบวงจร สอดรับกับนโยบายสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้า หรืออีวี (EV) ของไทยสู่เป้าหมายฐานการผลิตของภูมิภาค 

ทั้งนี้ เบื้องต้นมีความชัดเจนแล้วว่ามาตรการส่งเสริมการลงทุนแบตเตอรี่ของไทยมีการจัดสรรวงเงินอุดหนุนผู้ผลิตเพื่อให้ราคาลดลงส่งต่อถึงผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้า ส่วนรายละเอียดจะมีการพิจารณาในที่ประชุมอีกครั้ง

รายงานข่าวระบุว่า การพิจารณาร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงการคลัง กระทรวงพลังงาน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ (BOI) ในช่วงที่ผ่านมาที่มีการเลื่อนการประชุมถึง 2 ครั้งจนถูกมองว่ามีบางกระทรวงคัดค้าน ดึงการพิจารณา จนอาจกระทบต่อความเชื่อมั่นนักลงทุน และแผนการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าของไทยนั้นไม่เป็นความจริง 

เนื่องจากการหารือกับทุกหน่วยงานพบว่า การพิจารณาเรื่องนี้ต้องรอบคอบและระมัดระวังโดยเฉพาะประเด็นการให้เงินสนับสนุนเอกชน เพราะเป็นเรื่องที่ภาครัฐไม่เคยทำมาก่อน ต่างกับการให้เงินช่วยเหลือประชาชนที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ และหากดำเนินการไม่รอบคอบอาจถูกโจมตีในทางที่เสียหายได้ นอกจากนี้แหล่งเงินที่นำมาช่วยเหลือต้องชัดเจน ไม่กระทบต่อประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ

รายงานข่าวระบุอีกว่า การส่งเสริมการผลิตแบตเตอรี่ ด้วยการให้เงินสนับสนุนเพื่อผลิตแบตเตอรี่สำหรับใช้ประกอบในรถไฟฟ้า เป็นมาตรการที่ไม่เคยดำเนินการมาก่อนในประเทศไทย จึงต้องพิจารณาด้วยความรอบคอบ 

ภาครัฐต้องมั่นใจว่า เงื่อนไขการให้เงินสนับสนุนจะดึงดูดการลงทุนจากผู้ผลิตแบตเตอรี่ระดับโลกให้เข้าสร้างโรงงานในประเทศไทย ในขณะเดียวกันต้องสนับสนุนส่งเสริมผู้ผลิตแบตเตอรี่ในประเทศ ซึ่งได้ลงทุนสร้างโรงงานแบตเตอรี่ไปแล้วให้ได้รับสิทธิประโยชน์ด้วย เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมทุกฝ่าย
 

การส่งเสริมการผลิตแบตเตอรี่ในประเทศ ยังมีประเด็นของการบริหารจัดการแบตเตอรี่ใช้แล้ว หรือการนำสินแร่ในแบตเตอรี่กลับมาใช้ประโยชน์อีกด้วย จึงต้องใช้เวลาในหารือกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้มาตรการส่งเสริมการผลิตแบตเตอรี่ที่กำลังพิจารณา มีการใช้งบประมาณให้เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่า และช่วยให้เกิดฐานการผลิตรถไฟฟ้าและชิ้นส่วนสำคัญในประเทศไทยตามเจตนารมณ์ของรัฐบาลที่ตั้งไว้