ปตท. อัด1.25 หมื่นล้าน ฟื้นฟู-ปลูกป่าใหม่ 2.1ล้านไร่ ดูดซับคาร์บอน 3 ล้านตัน

31 ธ.ค. 2565 | 12:59 น.
อัปเดตล่าสุด :31 ธ.ค. 2565 | 20:22 น.

ปตท.อัดงบ 1.25 หมื่นล้าน เดินหน้าภารกิจปลูกป่าใหม่ และฟื้นฟูป่าเก่า 2.1 ล้านไร่ 1 ใน เสาหลักสู่ Net Zero ช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนฯ ได้ 3.04 ล้านตัน หรือคิดเป็นสัดส่วน 20% ของเป้าหมาย

กลุ่มบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ได้ตระหนักถึงความสำคัญในการเร่งแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โดยมีเป้าหมายจะบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2040 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายในปี 2050 ซึ่งเร็วกว่าเป้าหมายของประเทศไทย ที่ได้กำหนดที่จะบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ในปี 2050

 

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า การดำเนินงานสำคัญที่จะให้ปตท.บรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายในปี 2593 ซึ่งเร็วกว่าเป้าหมายที่ประเทศกำหนดไว้ถึง 15 ปี การเพิ่มพื้นที่ปลูกป่า และบำรุงรักษาป่าเก่า จึงถือเป็นโครงการที่มีความสำคัญที่จะช่วยดูดซับหรือกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ และเป็น 1 เสาหลักที่จะทำให้ปตท.บรรลุเป้าหมายที่ประกาศไว้ คิดเป็นสัดส่วนในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของกลุ่มปตท.ได้ราว 20 % หรือกักเก็บคาร์บอนฯได้ราว 3.04 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ในปี 2573

ปตท. อัด1.25 หมื่นล้าน ฟื้นฟู-ปลูกป่าใหม่ 2.1ล้านไร่ ดูดซับคาร์บอน 3 ล้านตัน

 

ทั้งนี้ ปตท.มีแผนดำเนินการปลูกป่าบกและป่าชายเลนเพิ่มขึ้นอีก 1 ล้านไร่ ภายในปี 2573 พร้อมวางแผนดูแลบารุงรักษาอย่างต่อเนื่อง นอกเหนือจากที่ ปตท. ได้ปลูกและดูแลรักษาป่าจานวน 1.1ล้านไร่ ใน 54 จังหวัดมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2537 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งจะทำให้มีกลุ่มปตท.มีพื้นที่ป่ารวม 2.1 ล้านไร่ ซึ่งจะช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้กว่า 3.04 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า โดยทั้งหมดนี้ปตท.จะใช้เงินดำเนินงานราว 12,500 ล้านบาท (2565-2573) แบ่งเป็น ปลูกป่าใหม่ 10,200 ล้านบาท และเป็นส่วนของการบำรุงรักษาป่าเก่า 2,300 ล้านบาท

 

สำหรับในปี 2566 จะเริ่มดำเนินการปลูกป่าบกและป่าชายเลน 75,000 ไร่ และหลังจากนั้นปี 2567 ไปจนถึงปี 2573 จะเพิ่มพื้นที่ปีละ 1.35 แสนไร่

 

“ในปี 2565 ได้เริ่มสำรวจพื้นที่ร่วมกับภาครัฐ ในแต่ละภูมิภาคของประเทศไทยได้แล้วราว 76,374 ไร่ โดยประยุกต์ใช้เทคโนโลยีภาพถ่ายดาวเทียมและอากาศยานไร้คนขับ (Drone)  เข้ามาช่วยสำรวจและวิเคราะห์ข้อมูลสำหรับการคัดเลือกพื้นที่ที่มีศักยภาพในการปลูกป่าใหม่ และบำรุง รักษาป่าเก่า เพื่อให้ต้นไม้สามารถเจริญเติบโตและดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้อย่างมประสิทธิภาพ ถือเป็นการสนับสนุนนโยบายภาครัฐเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และมุ่งสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emissions)”

ทั้งนี้ ปี 2565 ปตท.ได้ดำเนินการปลูกป่า 20 แปลง เนื้อที่รวม 15,004 ไร่ ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติในภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดเชียงราย น่าน พะเยา ลำปาง พิษณุโลก เพชรบูรณ์ เป็นต้น และในปี 2566 ยังมีแผนงานปลูกป่าป่ายูคาลิปตัส ในพื้นที่ขอรับพื้นที่ดำเนินการ12 แปลงในเขตป่าสงวนแห่งชาติแควระบมและป่าสียัด จังหวัดฉะเชิงเทรา ป่าสงวนแห่งชาติป่าห้วยไคร้ จังหวัดปราจีนบุรี และป่าสงวนแห่งชาติป่าเขาฉกรรจ์ ป่าโนนสาวเอ้ ป่าห้วยไค้ และป่าพระสะทึง จังหวัดสระแก้ว อีกด้วย”

 

นายนายอรรถพล กล่าวอีกว่า นอกจากการดำเนินงานดังกล่าวแล้ว ปตท.ยังมีภารกิจฟื้นฟูป่ากักเก็บคาร์บอน คืนสมดุลสู่ธรรมชาติ จากโครงการต่าง ๆ ต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของสถาบันปลูกป่าและระบบนิเวศปตท. ด้วยการพัฒนาศูนย์การเรียนรู้ 3 แห่ง ได้แก่ ของศูนย์การเรียนรู้ป่าในกรุง กทม.มีจุดเด่นในด้านการพัฒนาพื้นที่รกร้าง ฟื้นฟูป่าและสิ่งแวดล้อมที่ใกล้ชิดคนเมือง โมเดลการปลูกป่านิเวศ รวบรวมไม้พื้นถิ่น กทม.และศึกษาป่าจากเรือนยอดปลูกต้นไม้ไปกว่า 7,524 ต้น พรรณไม้กว่า 250 ชนิด ในปี 2564 สามารถกักเก็บคาร์บอนได้ 230 ตัน คาร์บอนไดออกไซต์เทียบเท่า

 

ศูนย์เรียนรู้ป่าวังจันทร์ จังหวัดระยอง มีจุดเด่นเรื่องการพัฒนาจากพื้นที่เกษตรเชิงเดี่ยวสู่พื้นที่วิจัย และสาธิตการปลูกฟื้นฟูป่ารูปแบบต่างๆ ทั้งยังมีแหล่งปลูกรวบรวมพรรณไม้กว่า 500 ชนิด เพื่อการฟื้นฟูป่า มีห้องเรียนธรรมชาติขนาดใหญ่ พร้อม Green Lab พื้นที่พัฒนางานวิจัย และนวัตกรรมการฟื้นฟูป่าอีกด้วย ซึ่งได้ปลูกป่าไป 453,082 ต้น ในปี 2564 สามารถกักเก็บคาร์บอนได้ 3,759 ตัน คาร์บอนไดออกไซต์เทียบเท่า

 

อีกทั้ง ศูนย์เรียนรู้ป่าวังจันทร์ อยู่ในพื้นที่ Wangchan Valley ซึ่งเป็นผืนป่าขององค์กรธุรกิจแห่งแรกของประเทศไทย ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย(T-VER) ขององค์กรบริหารก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก.ในปี 2558 อีกด้วย

 

ขณะที่ศูนย์ศึกษาเรียนรู้ระบบนิเวศป่าชายเลนสิรินาถราชินี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เป็นต้นแบบองค์ความรู้การฟื้นฟูที่นาสู่ป่าชายเลน โดยได้ปลูกต้นไม้ไปแล้ว 471,600 ต้น (600 ต้น/ไร่) ในปี 2564 สามารถกักเก็บคาร์บอน 17,010 ตัน คาร์บอนไดออกไซต์เทียบเท่า อีกด้วย