ทั้งนี้เพื่อเพื่อให้บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ.2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ.2065
ฟันเฟืองหนึ่งที่สำคัญกับการดูแลเรื่องดังกล่าวเพื่อให้ประเทศไทยไปถึงเป้าหมาย พร้อม ๆ กับการสร้างความเข้าใจให้กับสังคม โดยเฉพาะเรื่องของคาร์บอนเครดิต “เกียรติชาย ไมตรีวงษ์” ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) อบก. หรือ TGO ได้ถ่ายทอดเรื่องราวสำคัญดังกล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า แท้จริงแล้วคาร์บอนเครดิตไม่ได้เป็นทุกอย่าง โดยการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ ถือว่าเป็นหนึ่งในมาตรการในเชิงนโยบายที่เป็นตัวมากำหนดการปฏิบัติ
ส่วนคาร์บอนเครดิต เป็นเพียงแค่ส่วนเพิ่มขึ้นมา โดยเป็นส่วนเพิ่มของโอกาสของกลุ่มผู้ที่ทำดีดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม จะได้รับผลตอบแทนเป็นพิเศษ ซึ่งปัจจุบันมีอยู่จำนวนน้อย และจำเป็นต้องหาทางส่งเสริม
ทั้งนี้ ความหมายที่แท้จริงแล้ว คาร์บอนเครดิต ก็คือ ใบรับรองปริมาณความสำเร็จในโครงการลด/กักเก็บก๊าซเรือนกระจกจากการดำเนินโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction Program: T-VER)
ที่ผ่านกระบวนการตรวจสอบ ทวนสอบจากผู้ประเมินภายนอก และได้รับการรับรองจากคณะกรรมการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก เพื่อนำไปขายในตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจในประเทศได้ โดย TGO จะเป็นผู้กำหนดหลักเกณฑ์และขั้นตอนในการพัฒนาโครงการ ระเบียบวิธีการในการลดก๊าซเรือนกระจก การขึ้นทะเบียนและการรับรองปริมาณก๊าซเรือนกระจก
“ประเทศไทยให้ความสำคัญและจริงจังกับเรื่องนี้เป็นอย่างมาก ซึ่งคาร์บอนเครดิต จะเป็นส่วนเติมศักยภาพที่เหลืออยู่แล้วไม่มีใครทำ เมื่อทำแล้วได้กำไร ซึ่งถือเป็นหนึ่งในการสร้างอุตสาห กรรมเป้าหมายใหม่ หรือ New S-curve และสามารถพัฒนาไปเป็น Startup ใหม่ของประเทศ ทั้งการปลูกต้นไม้ การพัฒนาพลังงานหมุนเวียน และยังเป็นการช่วยธุรกิจที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วย” ผอ. TGO ระบุ
ขณะเดียวกันในส่วนของการขับเคลื่อนแนวทางการสร้างความยั่งยืนโดยการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยา กาศโลก ล่าสุดในเวทีการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 27 (COP 27) ซึ่งจัดขึ้นที่ประเทศอียิปต์ เมื่อวันที่ 11-17 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา ประเทศไทยก็แสดงจุดยืนในเวทีดังกล่าวอย่างชัดเจน
ประเด็นสำคัญในการประชุม COP 27 ประเทศไทยได้แสดงจุดยืนในการสนับสนันการเจรจาเพื่อประโยชน์ร่วมกันของประชาคมโลก พร้อมทั้งคำนึงถึงประโยชน์ที่ประเทศไทยจะได้รับอย่างยั่งยืน ควบคู่กับการคำนึงถึงหลักความเป็นธรรม และหลักความรับผิดชอบร่วมกันในระดับที่แตกต่าง และขีดความสามารถของแต่ละภาคี และขอให้ประเทศที่พัฒนาแล้วต้องแสดงบทบาทหน้าที่ผู้นำในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหลายของการประชุมครั้งที่กำหนดการเร่งดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก ลดระดับการดำเนินงานด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ และสนับสนุนการเงินด้วย
สำหรับบทบาทของประเทศ ไทยบนเวที COP 27 แม้ว่าประเทศไทยจะมีเวลาจำกัดในการแสดงจุดยืนบนเวทีนี้ แต่ก็ได้ประกาศเรื่องสำคัญ โดยนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เป็นตัวแทนประเทศไทยขึ้นกล่าวถ้อยแถลง มีจุดเน้นสำคัญ นั่นคือ ประเทศไทยจัดส่งยุทธศาสตร์ระยะยาว ฉบับปรับปรุง ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมาย Carbon Neutrality ในปี 2050 และ Net-zero Emission ในปี 2065 รวมทั้งยกระดับเป้าหมายการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด หรือ NDC (Nationally Determined Contribution) เป็น 40% บนพื้นฐานของการสนับสนุนจากต่างประเทศ
รวมถึงการเพิ่มการผลิต Zero-emission vehicles เป็น 30% ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมด ภายในปี 2030 เพิ่มสัดส่วนของพลังงานทดแทนในการผลิตกระแสไฟฟ้าอย่างน้อย 50% ภายในปี 2050 และสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีเพื่อการดูดกลับก๊าซ CO2 ในเชิงพาณิชย์ก่อนปี 2040 รวมทั้งเพิ่มพื้นที่สีเขียว ทุกประเภทเป็น 55% ของพื้นที่ประเทศ เพื่อเพิ่มแหล่งกักเก็บก๊าซเรือนกระจกภายในปี 2037
อีกเรื่องที่ไทยผลักดันสู่ประชาคมโลก นั่นคือ การส่งเสริมโมเดล BCG เศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว อย่างจริงจัง เพื่อนำไปสู่การเติบโตที่ยั่งยืน และยังยืนยันด้วยว่า ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่เริ่มทำความตกลงเพื่อถ่ายโอนผลการลดก๊าซเรือนกระจกระหว่างประเทศภายใต้ความตกลงปารีส
อย่างไรก็ตามหลังจากกลับมาจากเวทีการประชุม ประเทศไทยก็ยังต้องขับเคลื่อนการทำงานในหลายเรื่อง เช่น การปรับปรุงองค์กรภายในของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ปฏิบัติให้เป็นไปตามเป้าหมาย เพื่อให้เห็นว่าประเทศไทยเดินหน้าเรื่องนี้จริงจัง
นอกจากนี้ยังเตรียมผลักดัน (ร่าง) พระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นการดำเนิน งานภายใต้แผนการปฏิรูปประเทศ ซึ่งจะมีการปรับปรุงใหม่ให้มีความเข้มข้นมากขึ้น หลังจากได้ไปประชุม COP 27 ซึ่งกฎหมายนี้จะเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิตและกลไกการเงินที่จำเป็น รวมถึงการกำหนดเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกรายสาขา โดยเมื่อได้ข้อสรุปแล้วจะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง