“ไทยออยล์”ขาดทุนสต๊อกน้ำมันกว่า 9.2 พันล.ไตรมาส 3/65

09 พ.ย. 2565 | 14:35 น.
อัปเดตล่าสุด :09 พ.ย. 2565 | 21:35 น.

“ไทยออยล์”ขาดทุนสต๊อกน้ำมันกว่า 9.2 พันล้านบาทไตรมาส 3/65 หลังราคาน้ำมันดิบปรับตัวลดลง ระบุมีรายได้จากการขาย 1.2 แสนล้านบาท

นายนพดล ปิ่นสุภา รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP เปิดเผยว่า ภาพรวมผลการดำเนินงานในช่วงไตรมาส 3/2565 ไทยออยล์มีรายได้จากการขาย 124,174 ล้านบาท และมีกำไรขั้นต้นจากการผลิตของกลุ่มไม่รวมผลกระทบจากสต๊อกน้ำมันอยู่ที่ 8.8 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

 

อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลดลง ส่งผลให้กลุ่มไทยออยล์ขาดทุนจากสต๊อกน้ำมัน 9,238 ล้านบาท และมี EBITDA ติดลบ 568 ล้านบาท เมื่อรวมกำไรจากการวัดมูลค่ายุติธรรมเครื่องมือทางการเงินจำนวน 5,090 ล้านบาทและผลขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนสุทธิ 1,710 ล้านบาท หลังหักค่าเสื่อมราคา ต้นทุนทางการเงิน และค่าใช้จ่ายภาษีเงินได้ ทำให้ในไตรมาส 3/2565 กลุ่มไทยออยล์มีกำไรสุทธิ 12 ล้านบาท  

 

อย่างไรก็ดี จากสถานการณ์ความผันผวนของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก รวมถึงการอ่อนค่าของค่าเงินบาทในช่วงเวลานี้ ไทยออยล์ได้มีการบริหารป้องกันความเสี่ยงด้านราคาน้ำมันดิบและด้านอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อลดผลกระทบจากความผันผวนจากสถาณการณ์ดังกล่าว

 

นายนพดล กล่าวอีกว่า หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด – 19 ในหลายประเทศทั่วโลกคลี่คลายลง ทำให้เกิดการผ่อนคลายการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ ประกอบกับความต้องการใช้เชื้อเพลิงสำหรับทำความร้อนในช่วงฤดูหนาว ส่งผลให้ภาพรวมธุรกิจการกลั่นช่วงไตรมาส 4 ปี 2565 มีแนวโน้มดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ตลาดยังคงมีความเสี่ยงจากอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงต่อเนื่องและการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางทั่วโลกที่อาจส่งผลกระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลก 

 

"หลังประสบความสำเร็จในการออกและเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนเมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา ไทยออยล์สามารถระดมเงินทุนได้ถึง 10,368 ล้านบาท ซึ่งเสริมสร้างความมั่นคงทางการเงิน ดังนั้น ไทยออยล์จึงเร่งเสริมความแข็งแกร่งทางธุรกิจตามแผนการลงทุนที่วางไว้ เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขัน"
 

รวมถึงการต่อยอดไปยังธุรกิจปิโตรเคมีและผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง ได้แก่ การลงทุนโครงการพลังงานสะอาด (Clean Fuel Project) ซึ่งมีความคืบหน้ากว่า 87% และ การลงทุนในธุรกิจโอเลฟินที่ประเทศอินโดนีเซีย รวมทั้งขยายตลาดและกระจายผลิตภัณฑ์ไปสู่ต่างประเทศในระดับภูมิภาค และ แสวงหาโอกาสในธุรกิจใหม่ (New S-Curve) เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้พลังงานในอนาคต เพื่อลดความผันผวนจากอุตสาหกรรมพลังงาน และนำไปสู่เป้าหมายการเติบโตที่ยั่งยืน