ไฮโดรเจนมาแรง "ปตท.-เอ็กโก" นำร่องผลิตไฟ-ขนส่ง

13 ต.ค. 2565 | 10:29 น.
อัปเดตล่าสุด :13 ต.ค. 2565 | 17:45 น.
2.6 k

วงการพลังงานโลกชี้ ช่วงเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด 10 ปี สู่ Net Zero ไฮโดรเจนมาแรง ไทยเร่งตอบรับ ศึกษาเทคโนโลยี ปตท.ผสมในเชื้อเพลิงเครื่อง Turbine โรงกลั่น สร้างเรือบรรทุกน้ำมันใช้แอมโมเนีย เริ่มใช้ปี 68 เอ็กโก้จ่อผุดโรงไฟฟ้าไฮโดรเจน 5 เมกะวัตต์ และศึกษาผสมร่วมถ่านหิน

จากที่ทั่วโลกได้บรรลุเป้าหมายที่จะควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียสด้วยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่แต่ละประเทศมีเป้าหมายเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2065 โดยมุ่งเน้นไปพึ่งการใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น

 

McKinsey บริษัทให้คำปรึกษาบริษัทที่ใหญ่ที่สุดในโลก บริษัท บีพี และองค์กรพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) ต่างชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่า ทิศทางพลังงานจากนี้ไปกำลังก้าวเข้าสู่การเปลี่ยนผ่านจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลไปสู่พลังงานสะอาด โดยในช่วงระยะเวลา 10 ปี จากนี้ไปน้ำมันและก๊าซธรรมชาติยังเป็นเชื้อเพลิงหลักอยู่ แต่พลังงานไฟฟ้าและก๊าซไฮโดเจน จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น

 

ดยคาดว่าการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายทั้งโลกจะมาจากไฟฟ้าและไฮโดรเจนเพิ่มมากขึ้นจาก 32 % ในปี 2035 เป็น 50 % ในปี 2050 และสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนจะเพิ่มสูงขึ้นจาก 30% ในปี 2020 เป็น 70% ในปี 2050

ปัจจุบันประเทศไทยภาคพลังงานปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อยู่ราว 333 ล้านตันต่อปี โดยในปี 2020 สามารถลดการปล่อยได้ 56.47 ล้านตันต่อปี คิดเป็น 15.38% ของการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั้งหมด ซึ่งกระทรวงพลังงานตั้งเป้าหมายไว้ว่า ต้องเพิ่มการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้ 160 ล้านตันต่อปี ภายในปี 2030 ภายใต้การดำเนินงานแผนพลังงานชาติที่จะนำมาใช้ปี 2566

 

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า แนวโน้มหรือทิศทางพลังงานของโลกจากนี้ไป การใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลมีแนวโน้มลดลงอย่างมาก การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานขนาดใหญ่ในรูปแบบเดิมต้องคำนึงถึงความเสี่ยงที่อาจจะเกิดขึ้นและ Electrification โดยเฉพาะยานยนต์ไฟฟ้าหรือ EV จะเพิ่มขึ้นอย่างมาก ซึ่งจะทำให้ความต้องการพลังงานไฟฟ้าเติบโตอย่างต่อเนื่อง

 

ที่สำคัญพลังงานหมุนเวียนจาก Solar & Wind จะเป็นเชื้อเพลิงที่มีสัดส่วนสูงมากในการผลิตไฟฟ้า และ เทคโนโลยี Hydrogen จะเป็นเทคโนโลยีที่มีบทบาทสำคัญในอนาคต

 

ไฮโดรเจนมาแรง \"ปตท.-เอ็กโก\" นำร่องผลิตไฟ-ขนส่ง

 

ทั้งนี้ การจะให้ประเทศบรรลุเป้าหมายดังกล่าว ในแผนพลังงานชาติที่จะนำมาใช้ในปี 2566 นั้น นอกจากจะกำหนดการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเพิ่มมากขึ้นแล้ว ยังมีการบรรจุการศึกษาและพัฒนาการใช้ไฮโดรเจน มาใช้ผลิตไฟฟ้าและภาคขนส่งด้วย โดยมองว่าจะช่วยให้ประเทศบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เร็วขึ้น

 

สำหรับการพัฒนาการใช้ไฮโดรเจนผลิตไฟฟ้านั้น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ได้ทดลองในโครงการ “Wind Hydrogen Hybrid” ที่เป็นนวัตกรรมระบบกักเก็บพลังงานแบบไฮโดรเจนจากกังหันลมสู่การผลิตไฟฟ้า แต่ยังมีขนาดเล็ก 300 กิโลวัตต์ แต่จะขยายให้ใหญ่ขึ้นได้ หากได้รับความร่วมมือจากต่างประเทศ

 

นอกจากนี้ ยังมีโครงการทดลองที่จะนำแอมโมเนีย (มีไนโตรเจนและไฮโดรเจน เป็นสารประกอบทางเคมี) ผสมเป็นเชื้อเพลิงร่วมกับถ่านหิน โดยจะมี บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก ร่วมมือกับทางบริษัท เจร่า จำกัด บริษัทพลังงานชั้นนำสัญชาติญี่ปุ่น ร่วมศึกษาการพัฒนา

 

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า กลุ่ม ปตท.อยู่ระหว่างการศึกษาการนำไฮโดรเจนผสมในเชื้อเพลิงเครื่อง Turbine ซึ่งอยู่ในขั้นทดลองศึกษา โดยบริษัท GC จะนำไฮโดรเจนที่ได้จากการผลิตในกระบวนการโรงกลั่น มาใช้ในกับเครื่อง turbine ผลิตไฟฟ้า ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 0.12 ล้านตันต่อปี และบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) ซึ่งถือหุ้นสัดส่วน 41.6% ในบริษัท Avaada Energy Private Limited (Avaada) ประเทศอินเดีย อยู่ระหว่างการศึกษาการศึกษานำก๊าซไฮโดรเจนและแอมโมเนีย เพื่อเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า

 

อีกทั้ง ปตท. ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือศึกษา พัฒนาและสร้างเรือขนส่ง Zero-Emission Aframax ร่วมกับบริษัท AET จากสิงคโปร์ เพื่อร่วมกันศึกษาความเป็นไปได้ รวมถึงพัฒนาและสร้างเรือบรรทุกน้ำมันที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ ขนาดประมาณ 120,000 เมตริกตัน ชนิดเชื้อเพลิงคู่ (Dual Fuel) ที่สามารถใช้เชื้อเพลิงได้ทั้งกรีนแอมโมเนียและน้ำมันเตากำมะถันต่ำ จํานวน 2 ลํา หากการศึกษามีความเป็นไปได้ เรือลำแรกจะมีกําหนดส่งมอบให้กับ ปตท. เพื่อดำเนินการเช่าเหมาลําในไตรมาสที่ 4 ปี 2568 และลำที่สองในไตรมาสที่ 1 ปี 2569

 

นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือเอ็กโก กรุ๊ป เปิดเผยว่า หลังจากที่เอ็กโกได้ร่วมกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) บริษัท Bloom Energy ร่วมพัฒนาการใช้ไฮโดรเจนมาผลิตพลังงานไฟฟ้า ด้วยเทคโนโลยีเซลล์เชื้อเพลิงชนิดออกไซด์แบบแข็ง (Solid Oxide Fuel Cell: SOFC) และเทคโนโลยีแยกน้ำด้วยไฟฟ้า (Solid Oxide Electrolyzer Cell: SOEC)

 

ขณะนี้เริ่มมีความชัดเจนแล้วว่า จะเริ่มโครงการนำร่องในพื้นที่โรงไฟฟ้าคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ขนาดกำลังผลิต 5 เมกะวัตต์ คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในช่วงปลายปีนี้หรืออย่างช้าต้นปี 2566 ก่อนจะขยายกำลังการผลิตเพิ่มเป็น 25 เมกะวัตต์ ในปีต่อไป