energy
871

ราคาน้ำมันปี 66 แนวโน้มลดลง ซีอีโอ "ปตท." เชื่อช่วยให้เศรษฐกิจดีขึ้น

    ราคาน้ำมันปี 66 แนวโน้มลดลง ซีอีโอ ปตท. เชื่อช่วยให้เศรษฐกิจดีขึ้น ชี้ก๊าซธรรมชาติยังมีอนาคต พร้อมเผยวิสัยทัศน์ใหม่การขับเคลื่อนทุกชีวิตด้วยพลังแห่งอนาคต

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยในการกล่าวหัวข้อ “ซีอีโอ Big Crop สู่ธุรกิจแห่งอนาคต” งานสัมมนา Thailand Economic Outlook 2023 ซึ่งจัดโดยหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ว่า แนวโน้มราคาพลังงานในปี 2566 น่าจะดีขึ้นกว่าปีนี้ (2565) หรือราคาปรับตัวลดลง โดยคาดว่าราคาน้ำมันดิบดูไบจะอยู่ที่ระดับ 85-95 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งจะทำให้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจรุนแรงน้อยกว่าปี 65 

 

เช่นเดียวกับทิศทางราคาก๊าซธรรมชาติ (LNG) เนื่องจากก๊าซธรรมชาติถือเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า อีกทั้งฤดูหนาวการใช้งานของประเทศฝั่งยุโรปจะสูงขึ้น ดังนั้น ช่วงปีหน้าราคาก็น่าจะถูกลงกว่าปีนี้
 

ส่วนราคาน้ำมันปีนี้มองว่าค่าเฉลี่ยน่าจะอยู่ที่บวกลบ 90-100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล 

 

ทั้งนี้ ภาคพลังงานมีความท้าทายมาก โดยสิ่งที่จะต้องคำนึงถึงประกอบด้วย 

  • การบริหารงานจะต้องบาลานซ์ให้ดีระหว่างความมั่นคงด้านพลังงาน และซัพพลายในการที่จะต้องบริหารอย่างไรให้พร้อมใช้งาน 

 

  • ทำอย่างไรให้กระทบกับสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด โดยเฉพาะการกระทบด้านราคา เพราะเมื่อต้องการพลังงานที่กระทบสิ่งแวดล้อมน้อยจะต้องเลือกใช้พลังงานสะอาดแต่ราคาแพง ส่วนราคาน้ำมันเมื่อยิ่งมีราคาสูงก็จะยิ่งกระทบกับเศรษฐกิจ ซึ่งถือว่าเป็นความท้าทาย

อย่างไรก็ดี การดำเนินงานของ ปตท. จะมุ่งเน้นไปใน 3 เรื่องที่สำคัญ ได้แก่

  • การบริหารการใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพต่อหน่วยให้มากที่สุด 
  • พัฒนาพลังงานให้กระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด 
  • การผลิตพลังงานจะไม่ให้ปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาเป็นศูนย์คงเป็นไปไม่ได้ ดังนั้น จะต้องใช้เทคโนโลนยีการดักจับและการจัดเก็บคาร์บอน หรือ CCS เข้ามาช่วย

 

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท.

 

นายอรรถพล กล่าวต่อไปอีกว่า ภาพรวมในระยะยาวจะยังไม่เปลี่ยนทันทีแม้ราคาสูง แต่จะมุ่งไปในทิศทางการใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น  เพราะฉะนั้น การบริหารงานตามความท้าทายเดิม เช่น ถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ จะต้องบริหารอย่างไรให้ก้าวสู่พลังงานสะอาด โดยถ่านหินถือว่าผ่านจุดที่เคยใช้ในปริมาณสูงสุดไปแล้ว ซึ่งในระยะยาวจะต้องลดลงแน่นอน 

 

ส่วนพลังงานน้ำมันจะยังคงเติบโตไปได้เอีก  โดยคาดว่าจะถึงจุดสูงสุดในอีก 10 ปีข้างหน้า หรือปี 2575 หลังจากนั้นจะทยอยปรับตัวลดลง 

ขณะที่ก๊าซธรรมชาติถือว่ายังมีอนาคต เพราะเป็นถือว่าเป็นเชื้อเพลิงที่สะอาดที่สุดใน 3 เชื้อเพลิงดังกล่าว 

 

อย่างไรก็ดี ปตท. จะมีการเปลี่ยนรูปแบบการใช้พลังงาน โครงสร้างพื้นฐานสำคัญ รวมถึงจะต้องใช้เงินลงทุน โดยโลกกำลังไปสู่พลังงานสะอาด ซึ่งในอนาคตต้นทุนก็จะลดลงด้วย ทั้งแผลโซลาร์ แบตเตอร์รี่ มีราคาลดลงมาแล้ว 10 เท่า ตลอดระยะเวลา10 ปีที่ผ่านมา 

 

โดยจากข้อมูลพบว่า เงินลงทุนที่ใส่เปลี่ยนพลังงานในอนาคต ทั้งดีมานด์ และซัพพลายเติบโตอย่างมีนัยยะสำคัญ ซึ่งในปีที่ผานมาได้มีการคาดการณ์เงินลงทุนด้านไฮโดรเจน เทคโนโลยี CCS รวมกว่า 7 แสนล้านดอลลาร์ เพื่อเข้าสู่โก กรีนและโก อิเล็กทริก

 

นายอรรถพล กล่าวอีกว่า แนวโน้มการทำธุรกิจของ ปตท. ในระยะต่อไปจะมีการปรับวิสัยทัศน์ไปสู่ “powering life with future energy and beyond” หรือการขับเคลื่อนทุกชีวิตด้วยพลังแห่งอนาคต จากวิสัยทัศน์เดิม “thai premier league multinational energy company” เนื่องจากพลังงานข้างหน้าเริ่มไม่แน่นอน

 

องค์กรต้องปรับตัวเองให้เห็นทั้งลูกค้าและคู่ค้า เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับประเทศ จากที่ทำดีอยู่แล้วจึงปรับเป็นองค์กรที่เป็นพลังขับเคลื่อนทุกชีวิตด้วยพลังงานแห่งอนาคต นำเทคโนโลยีมาพัฒนาพลังงาน รวมถึงระบบไฮโดรเจนที่ตั้งเป้าหมายศึกษาอย่างจริงจัง ส่วนธุรกิจเดิมจะเริ่มออกไปนอกธุรกิจพลังงานเพื่อกระจายความเสี่ยง โดยตอบโจทย์ new s curve ของประเทศตามนโยบายรัฐบาล

 

นายอรรถพล กล่าวสอีกว่า เพื่อตอบโจทย์การเติบโตสู่ธุรกิจพลังงานอนาคต และธุรกิจใหม่ กลุ่มปตท. จึงได้จัดพอร์ตลงทุนธุรกิจใหม่ใน 6 ด้านที่เป็นเทรนด์ใหม่ผ่านบริษัทในเครือปตท.และการตั้งบริษัทใหม่ ได้แก่ 

  • 1. New Energy 
  • 2. Life Science 
  • 3. Mobility & Lifestyle 
  • 4.High Value Business 
  • 5. Logistics & Infrastructure 
  • 6. AI & Robotics Digitalization

ด้านเป้าหมาย Net Zero นั้น ทั้งกลุ่มปตท.ได้รวมตัวทุกบริษัทจะต้อองประกาศเป้าหมายและทำให้ได้ก่อนเป้าหมายประเทศในปี 2065 เพื่อสนับสนุนเป้าหมายของประเทย โดยกำหนดเป้าหมาย Net Zero ในปี2050 อาทิ เพิ่มพอร์ตพลังงานสะอาดเป็น 1.2 หมื่นเมะวัตต์ ปลูกป่าจาก 1 ล้านไร่เป็น 2 ล้านไร่ จากเดิม 1 ล้านไร่ ช่วยดูดซับคาร์บอนได้ 2 ล้านตันต่อปี เป็นต้น