นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เรื่องการดูแลสังคม โดยเฉพาะเรื่องของโควิด ปตท. ด้วยเป้าหมายการลดผลกระทบ ตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบัน ทำมาตลอด ด้วยงบประมาณจำนวนกว่า 1,200 ล้านบาท ภายใต้ความเชื่อที่ว่า เราทุกคนมี “ลมหายใจเดียวกัน”
ปตท.ได้สรุปการดำเนินงานด้านความช่วยเหลือ เริ่มจากวิกฤติในช่วงต้นปี มีนาคม 2563 กลุ่ม ปตท. เข้ามาช่วยแก้ปัญหาโควิด-19 ตั้งแต่ ช่วงนั้นประเทศไทยขาดแคลนอุปกรณ์ อาทิ แอลกอฮอล์ หน้ากากอนามัย โดย ปตท. จัดหาและมอบสนับสนุนโรงพยาบาลแอลกอฮอล์รวมกว่า 1.13 ล้านลิตร หน้ากากอนามัย 250,000 ชิ้น สนับสนุนงบประมาณและจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็น รวมทั้งพัฒนาและผลิตอุปกรณ์ป้องกันจากผลิตภัณฑ์ของบริษัทในกลุ่ม ปตท. อาทิ เสื้อกาวน์ทางการแพทย์ เตียงเคลื่อนย้ายผู้ป่วยแรงดันลบ มอบให้กับโรงพยาบาลและ หน่วยงานราชการที่ต้องการความช่วยเหลือ โดยรวมความช่วยเหลือไปทั้งหมด 79 โรงพยาบาล 34 จังหวัด
เมื่อต้นปี 2564 จากการแพร่ระบาดระลอก 3 ที่ ทำให้มีจำนวนผู้ป่วยหนักเพิ่มสูงขึ้นมาก กลุ่ม ปตท. ได้จัดตั้งโครงการ “ลมหายใจเดียวกัน” กลุ่ม ปตท. ขึ้นเพื่อส่งมอบเครื่องช่วยหายใจสำหรับผู้ป่วยวิกฤต (ICU Ventilator) และเครื่องให้ออกซิเจนอัตราไหลสูง (High-Flow Nasal Oxygen) รวมจำนวนกว่า 400 เครื่อง พร้อมทั้งมอบงบประมาณจัดซื้อออกซิเจนเหลวแก่โรงพยาบาลในพื้นที่วิกฤตและมีความจำเป็นเร่งด่วน เพื่อใช้ในการรักษาอาการผู้ป่วยโควิด-19 ทั้งในกรุงเทพฯ ปริมณฑลและต่างจังหวัด รวมกว่า 300 แห่งทั่วประเทศ
เปิดโรงพยาบาลสนามครบวงจร
นอกจากนี้ ยังให้ความช่วยเหลือเพิ่มเติมในด้านต่างๆ อาทิ การสนับสนุนงบประมาณและอุปกรณ์ในการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม 7 แห่ง พร้อมจัดหาอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็น ไม่ว่าจะเป็นหน้ากากอนามัยทางการแพทย์จำนวนกว่า 825,000 ชิ้น ชุดตรวจหาเชื้อโควิด-19 แบบเร่งด่วน (Antigen Test Kit) จำนวน 50,000 ชุด และยังสนับสนุนถุงยังชีพแก่ประชาชน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเบื้องต้นกว่า 16,000 ชุด
การจัดหน่วยฉีดวัคซีนเคลื่อนที่เชิงรุกซึ่งได้ร่วมมือกับกรุงเทพมหานครใน 4 พื้นที่ใหญ่ของกรุงเทพฯ ที่มีความเปราะบางและเสี่ยงสูง โดยเฉพาะผู้ป่วยในชุมชน ผู้พิการ อีกทั้งกลุ่มแรงงานในพื้นที่ที่อาจจะเข้าถึงระบบสาธารณสุขได้ยากหรือมีความลำบากในการลงทะเบียน และมีจิตอาสาจากพนักงานกลุ่ม ปตท. เข้าช่วยอำนวยความสะดวก โดยมีผู้รับการฉีดวัคซีนรวมกว่า 61,182 คน
ในช่วงที่ยาขาดแคลน และหายาก ปตท.ร่วมมือกับพันธมิตรจัดหาและนำเข้ายาเรมดิซีเวียร์ ยาต้านโควิด จำนวน 2,000 ขวด มอบให้แก่ภาครัฐ เพื่อใช้ช่วยผู้ป่วย โควิด โดยเฉพาะในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ หรือผู้ป่วยค่อนข้างวิกฤต และนำเข้ามาบริจาคเพิ่มเติมให้กับสภากาชาดไทยอีก 10,000 ขวด รวมทั้งจัดหาและนำเข้ายาฟาวิพิราเวียร์อีก 1.2 ล้านเม็ด โดยเกิดจากความร่วมมือกับพันธมิตรในต่างประเทศ ผ่านบริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด (ปตท. ถือหุ้น 100%) ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อดำเนินการด้านธุรกิจ Life Sciences ของกลุ่ม ปตท.
นายอรรถพล กล่าวอีกว่า กลุ่ม ปตท. มีความตั้งใจให้มีการดำเนินการที่มุ่งเน้น “ตรวจเร็ว แยกเร็ว รักษาเร็ว” โดยจะช่วยบรรเทาความรุนแรงในช่วงสภาวะวิกฤตโควิด-19 จึงได้ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ โดยได้ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข สถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง (สปคม.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และพันธมิตรทางการแพทย์ ได้แก่ มูลนิธิโรงพยาบาลในเครือบางปะกอกฯ และโรงพยาบาลปิยะเวท จัดตั้ง “หน่วยคัดกรอง และโรงพยาบาลสนามครบวงจร (End-to-End)” ภายใต้ “โครงการลมหายใจเดียวกัน กลุ่ม ปตท.” โดยหน่วยคัดกรองและโรงพยาบาลสนามครบวงจร (End-to-End) รองรับผู้ป่วยระดับสีเขียว 1,000 เตียง สีเหลือง 300 เตียง สีแดง (ICU) 120 เตียง
เปิดหน่วยคัดกรอง"ลมหายใจเดียวกัน"
พร้อมกันนี้ ยังได้เปิดหน่วยตรวจคัดกรองโควิด-19 โครงการลมหายใจเดียวกัน ที่อาคาร EnTer ถนนวิภาวดีรังสิต หลักสี่ กรุงเทพฯ ตั้งแต่สิงหาคม 2564 จนถึง 30 มิถุนายน 2565 โดยเริ่มดำเนินการ ตรวจคัดกรองแก่ประชาชนไปกว่า 138,284 คน เมื่อพบผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงติดเชื้อจากการตรวจ ATK จะทำการตรวจยืนยันด้วย RT-PCR และนำเข้าสู่กระบวนการรักษาตามระดับอาการ รวมทั้งเปิดให้บริการฉีดวัคซีนโควิด-19 เข็มที่ 1 สำหรับผู้ที่เข้ามาใช้บริการตรวจคัดกรองที่ EnTer และยังไม่เคยได้รับวัคซีนชนิดใดมาก่อนด้วย โดยโรงพยาบาลสนามครบวงจรนี้ได้ให้การรักษาผู้ป่วยรวม 14,228 คน ในระยะเวลา 9 เดือน (สิงหาคม 2564 - มิถุนายน 2565)
นายอรรถพล กล่าวว่า ในช่วงตุลาคม 2564 เมื่อสถานการณ์ในประเทศเริ่มดีขึ้น อัตราการติดเชื้อมีระดับคงที่ และจำนวนผู้ป่วยหนักเข้าโรงพยาบาลลดลง โดยส่วนใหญ่เป็นการดูแลรักษาที่บ้าน กลุ่ม ปตท. ได้เปิดโครงการ End-to-End Mobile @1745 เพื่อรองรับการเข้าถึงผู้ป่วยโควิด-19 โดยมีการตรวจ ATK ด้วยตัวเองมากขึ้น มีการระดมพนักงานจิตอาสารับสายด่วนจากผู้ที่ตรวจหาเชื้อด้วย ATK มีผลเป็นบวก เพื่อให้คำแนะนำและจัดหารถพยาบาลให้ความช่วยเหลือโดยไม่มีค่าใช้จ่าย นำร่องใน กทม. และปริมณฑล
โครงการลมหายใจเดียวกันนี้ ดำเนินการตั้งแต่ปี 2563 และปิดโครงการลงเมื่อ 30 มิถุนายน 2565 รวม 1,004 วัน นับเป็นการดูแลประชาชนอย่างครบวงจร โดยได้ดำเนินงานตามเป้าหมายที่เราวางไว้ว่าจะยืนหยัดดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ไปจนกว่าสถานการณ์โรคระบาดจะคลี่คลาย นับเป็นการช่วยเหลือสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ ร่วมบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน อย่างต่อเนื่อง โดยเกิดจากความร่วมมือของกลุ่ม ปตท. หน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เป็นพันธมิตรทางการแพทย์ นับเป็นโครงการที่เกิดได้จากความร่วมมือของภาคเอกชนที่จับมือกับภาครัฐแบบครบวงจรแห่งแรกของประเทศ
จาก “ลมหายใจเดียวกัน” สู่ “ลมหายใจเพื่อน้อง”
ผลกระทบของโควิด-19 ที่ทำให้นักเรียนและเยาวชนจากครัวเรือนที่มีรายได้น้อย มีความเสี่ยงออกจากระบบการศึกษาในปีการศึกษา 2565 ปตท. ได้ริเริ่มโครงการ “ลมหายใจเพื่อน้อง” จัดกิจกรรม PTT Virtual Run ให้ประชาชนทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมนการเดิน-วิ่ง ระดมทุนการศึกษาเพื่อเยาวชน โดยสร้างสถิติใหม่ในการสะสมระยะทาง 600,000 กิโลเมตร ใช้เวลาเพียง 6 วัน ซึ่ง ปตท. ได้บริจาคเงินจำนวน 151 ล้านบาท เพื่อช่วยเด็กและเยาวชนที่มีความเสี่ยงหลุดออกจากระบบการศึกษากว่า 60,000 คน ได้กลับเข้าเรียนอีกครั้งในภาคเรียนปีการศึกษา 2565
จากความสำเร็จอย่างรวดเร็วของโครงการเฟสแรก ปตท. ได้ต่อยอดกิจกรรมในเฟสที่สอง ให้ประชาชนเข้าร่วมภารกิจ “ก้าวต่อกับก๊อดจิ” เดิน-วิ่งสะสมระยะทางรวม 20 ล้านก้าวก๊อดจิ เพื่อจัดตั้ง กองทุนแรกเริ่มศูนย์ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในวิกฤตการศึกษาร่วมกับกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) จำนวน 20 ล้านบาท สำหรับดูแลเด็กและเยาวชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์หรือเหตุปัจจัยไม่คาดคิด อาทิ อุบัติเหตุ อาชญากรรมต่าง ๆ ทั้งต่อครอบครัว และตัวเยาวชน ที่ทำให้มีความเสี่ยงที่จะหลุดออกจากระบบการศึกษา โดยสร้างการมีส่วนร่วมมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมเดิน-วิ่ง รวมกว่า 93,061 คน รวมระยะทางสะสมกว่า 7,425,061 กิโลเมตร
ข่าวที่เกี่ยวข้อง