GC เดินหน้า Net Zero สู่เป้าลดคาร์บอน 11.6 ล้านตัน ผ่าน 3 เสาหลัก

03 ต.ค. 2565 | 18:33 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ต.ค. 2565 | 01:47 น.

GC รุกขับเคลื่อน Net Zero ปี 2593 ลดปล่อยคาร์บอนฯ 11.6 ล้านตัน ผ่าน 3 เสาหลัก ปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และเปลี่ยนไปใช้พลังงานทดแทนเพิ่ม พร้อมขยายธุรกิจผลิตภัณฑ์ลดคาร์บอนและ เศรษฐกิจหมุนเวียน ไบโอพลาสติกและการรีไซเคิลพลาสติก สยายปีกตั้งโรงรีไซเคิลที่สหรัฐฯ

นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC เปิดเผยว่า GC ในฐานะผู้นำในธุรกิจเคมีภัณฑ์ระดับสากล มีเป้าหมายที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 20% ในปี พ.ศ. 2573 และ เป็น Net Zero ในปี พ.ศ. 2593 หรือมีเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกราว 11.6 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ ผ่านการดำเนินงาน 3 แนวทางหลัก ได้แก่

“Efficiency-driven” ผ่านการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตตลอดกระบวนการคาดว่า จะลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ราว 1 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ในปี 2593 ผ่านการดำเนินงาน การปรับปรุงสินทรัพย์และประสิทธิภาพ ใช้ประโยชน์สูงสุดจากกระบวนการ อัพเกรดอุปกรณ์-เครื่องจักร ใช้เทคโนโลยีใหม่ ไฮโดรเจน การปรับเปลี่ยนจากการใช้พลังงานแบบผสมผสานไปสู่พลังงานหมุนเวียน 100% ในปี 2593 อาทิ พลังแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนบนหลังคา (โซลาร์รูฟท็อป) และพลังแสงอาทิตย์ติดตั้งบนทุ่นลอยน้ำ

 

 “Portfolio-driven” การปรับโครงสร้างธุรกิจระยะยาวและผสานหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน คาดว่าจะลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 3.3 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ ในปี 2593 ผ่านการดำเนินงาน การปรับพอร์ตและการลงทุนชุดใหม่ หลังจากได้เข้าซื้อกิจการของ allnex ผู้นำระดับโลกในธุรกิจผลิตภัณฑ์ Coating Resins ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์กลุ่มสารเคลือบและสารเติมแต่งสำหรับใช้กับวัสดุทุกประเภท เนื่องจาก allnex ยึดถือนโยบายในการปล่อยคาร์บอนต่ำ และเป็นผู้บุกเบิกนวัตกรรมที่ยั่งยืนสำหรับอุตสาหกรรม Coating

GC เดินหน้า Net Zero สู่เป้าลดคาร์บอน 11.6 ล้านตัน ผ่าน 3 เสาหลัก

 

อีกทั้ง การพัฒนาเศรษฐกิจหมุนเวียน ที่มีเป้าหมายในการขยายธุรกิจไบโอพลาสติก จากโครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ ผลิต PLA ร่วมกับทาง NatureWorks และการรีไซเคิลพลาสติก ผลิต PET รีไซเคิลและเรซิน HDPE ร่วมกับ Envicco และแพลตฟอร์มการบริหารจัดการขยะพลาสติก (YOUturn) เป็นต้น

 

 “Compensation-driven” การชดเชยและกักเก็บคาร์บอนด้วยวิธีการที่หลากหลาย ด้วยการตั้งเป้าหมายร่วมปลูกและฟื้นฟูป่าขนาดใหญ่ระดับประเทศ และการซื้อขายคาร์บอนเครดิต ที่คาดว่าจะช่วยชดเชยคาร์บอนฯได้ราว 1 ล้านตัน ในปี 2593 และการร่วมโครงการศึกษาการนำเทคโนโลยีดักจับและกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture and Storage (CCS) เพื่อเข้าถึงเทคโนโลยีใหม่ ๆ คาดว่าจะลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ราว 6.3 ล้านตัน ในปี 2593 ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้บริษัทฯ บรรลุเป้าหมายการเป็นองค์กร Net Zero พร้อมกับฟื้นฟูความหลากหลายทางชีวภาพ คืนความอุดมสมบูรณ์สู่ธรรมชาติ

 

ทั้งนี้ GC วางแผนในการลงทุนเพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าวไว้แล้วสูงถึง 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 35,000 ล้านบาท ภายในปี 2573 และจะลงทุนเพิ่มขึ้นในช่วงต่อไป เพื่อการบรรลุเป้าหมายลดก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ควบคู่ไปกับการเติบโตของธุรกิจอย่างยั่งยืนในระยะยาว

 

นายคงกระพัน กล่าวอีกว่า สำหรับโรงงานรีไซเคิล บริษัท เอ็นวิคโค จำกัด (ENVICCO) ที่เป็นการร่วมทุนระหว่าง GC ถือหุ้น 70% และบริษัท แอลพลา(ALPLA) ผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิลคุณภาพสูงระดับโลก ถือหุ้น 30% ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมเอเซีย มาบตาพุด จังหวัดระยอง ล่าสุดได้เปิดดำเนินการเรียบร้อยแล้วเมื่อช่วงกลายเดือนกันยายน 2565 ที่ผ่านมา

 

สามารถผลิตเม็ดพลาสติกรีไซเคิลได้สูงถึง 45,000 ตันต่อปี แบ่งเป็น พลาสติกชนิด rPET (เช่น พลาสติกสำหรับผลิตขวดใส) 30,000 ตันต่อปี และชนิด rHDPE (เช่น พลาสติกสำหรับผลิตขวดขุ่น) 15,000 ตันต่อปี โดยนำพลาสติกใช้แล้วในประเทศมาใช้ 100% จึงช่วยลดขยะพลาสติกในประเทศได้ 60,000 ตันต่อปี ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 75,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี และเทียบเท่าการปลูกต้นไม้ใหญ่ประมาณ 8.32 ล้านต้น หรือการปลูกป่าประมาณ 78,000 ไร่

 

 นอกจากนี้ บริษัท อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนตั้งโรงงานรีไซเคิลพลาสติก ในสหรัฐอเมริกา เนื่องจากเห็นโอกาสการเติบโตของการใช้พลาสติกค่อนข้างสูง ซึ่งคาดว่าจะตัดสินใจลงทุนได้ในช่วงต้นปี 2566

 

ขณะนี้โครงการได้เดินหน้าสร้างนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ ระยะที่ 2 หลังจากที่บริษัท NatureWorks LLC (“NatureWorks”) ผู้ผลิตพลาสติกชีวภาพรายใหญ่ของโลกจากประเทศสหรัฐอเมริกา ตัดสินใจลงทุนโรงงานผลิตพลาสติกชีวภาพชนิด Polylactic Acid (PLA) ที่จะเป็นการลงทุนโดย บริษัท จีจีซี เคทิสไบโออินดัสเทรียล จำกัด หรือ GKBI บริษัทร่วมทุนระหว่าง GGC และ KTIS ซึ่งจะเป็นผู้ดำเนินการด้านสาธารณูปโภค เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับโรงงาน PLA ดังกล่าว คาดจะก่อสร้าง แล้วเสร็จภายในปี 2567

 

ล่าสุดบริษัทได้เป็นหนึ่งในผู้ลงทุนใน Econic Technologies (Econic) บริษัทสัญชาติอังกฤษ ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการนำคาร์บอนไดออกไซด์กลับมาใช้ใหม่เป็นวัตถุดิบในกระบวนการผลิตโพลิเมอร์ โดยใช้เทคโนโลยีตัวเร่งปฏิกิริยาแปลงก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เก็บมาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ให้เป็นวัตถุดิบที่สามารถนำไปใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์สำหรับอุตสาหกรรมโพลียูรีเทน (Polyurethane) อาทิ โฟมฉนวนกันความร้อน สารเคลือบป้องกัน สารผนึก และสารยึดติด

 

ส่วนแผนการลงทุนในช่วงปี 2565-2569 ยังไม่มีการปรับแผนใหม่ ใช้เงินลงทุน 608 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯหรือราว 2.12 หมื่นล้านบาท เพื่อใช้ลงทุนใน โครงการผลิตพลาสติกวิศวกรรมชั้นสูง ของบริษัท Kuraray GC Advanced Material (KGC) ซึ่งเป็นการผลิตภัณฑ์ที่เป็นซุปเปอร์เอ็นจีเนียริ่ง เป็นผลิตภัณฑ์ที่ทดความร้อน โครงการ Olefins 2 Modification (OMP) เพิ่มความยืดหยุ่นของวัตถุดิบ (Feedstock) และการขยายกำลังการผลิตในบริษัท allnex และการลงทุนในโครงการอื่น ๆ เป็นต้น

 

สำหรับปี 2564 ที่ผ่านมา สามารถลดการใช้พลังงานได้ถึง 1.07 ล้านจิกะจูลต่อปี ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 80,280 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี นำของเสียกลับมาใช้ประโยชน์จำนวน 82,424 ตัน หรือคิดเป็น 83%