ไทยได้อะไรจากการเป็นเจ้าภาพ “FIFA Congress” ชาติแรกของอาเซียน

04 พ.ค. 2567 | 18:12 น.
อัปเดตล่าสุด :04 พ.ค. 2567 | 18:13 น.
994

"ไทย"เตรียมพร้อมเป็นเจ้าภาพจัด FIFA Congress ซึ่งจะมีผู้แทนจากสมาคมสมาชิกทั่วโลกเดินทางมาร่วมประชุม คาดว่าจะช่วยสร้างชื่อเสียง ดึงดูดนักท่องเที่ยว และมีผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจหลายด้าน

นับถอยหลัง การประชุมใหญ่สามัญประจำปี FIFA Congress ครั้งที่ 74 ในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า ในวันที่ 17 พฤษภาคม 2567 โดย ประเทศไทย ถูกรับเลือกให้จัดงาน ฟีฟ่า คองเกรส ในฐานะประเทศแรกของอาเซียน และ ประเทศที่ 5 ในเอเชีย ต่อจาก ญี่ปุ่น  เกาหลีใต้ กาตาร์ และ ออสเตรเลีย

การประชุมครั้งนี้ มี 211 สมาคมสมาชิกของ ฟีฟ่า เข้าร่วม พร้อมวาระสำคัญ คือ การโหวตเลือกเจ้าภาพฟุตบอลหญิง ชิงแชมป์โลก ในปี 2027 รวมถึงกิจกรรมต่าง ๆ จากตำนานนักเตะที่จะเดินทางมาประเทศไทยเช่นกัน

การประชุมใหญ่สามัญประจำปี FIFA Congress ครั้งที่ 74

มาดามแป้ง นวลพรรณ ล่ำซำ นายกสมาคมกีฬาฟุตบอลฯ เชื่อว่าประเทศไทยจะได้อานิสงค์ ที่ไม่ใช่แค่มิติของฟุตบอล แต่ยังเชื่อมโยงไปได้หลายมิติ ทั้งในแง่การท่องเที่ยว สังคม เศรษฐกิจ และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เนื่องจากผู้แทนแต่ละสมาคมที่มาแล้ว ยังมีทั้งตำนานนักฟุตบอล ครอบครัว และ สื่อมวลชนจากทั่วโลกด้วย 

มาดามแป้ง นวลพรรณ ล่ำซำ นายกสมาคมกีฬาฟุตบอลฯ

 

กิจกรรมที่เกิดขึ้น ตั้งแต่วันที่ 13 พฤษภาคม เเต่ไฮไลท์อยู่ที่ วันที่ 17 พฤษภาคม ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ในช่วงเช้า เนื่องจากจะมี การโหวตหาเจ้าภาพฟุตบอลหญิง ชิงแชมป์โลก ในปี 2027 ซึ่งกลุ่มของ สหรัฐฯ และ เม็กซิโก ได้ถอนตัวไปแล้ว เหลือ 2 กลุ่ม คือ กลุ่มแรก เบลเยียม เยอรมัน และเนเธอรแลนด์ รวมถึงกลุ่มที่สอง บราซิล กลุ่มไหนที่ได้คะแนนโหวตเกินกึ่งหนึ่งจาก 211 สมาคมสมาชิก จะได้เป็นเจ้าภาพ 

ตำนานนักฟุตบอล (เบื้องต้น)

  • คาฟู อดีตกองหลังกัปตันทีมชาติบราซิลดีกรีแชมป์โลก
  • ดาวิด เทรเซเกต์ อดีตกองหน้าทีมชาติฝรั่งเศส ดีกรีแชมป์โลกเช่นกัน
  • เคซุเกะ ฮอนดะ 

รัฐบาล เตรียมพร้อมจัดแสดงศิลปวัฒนธรรมไทย 

ที่ผ่านมาประเทศไทยมุ่งส่งเสริมและประชาสัมพันธ์มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของไทย ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นในเวทีระดับโลก โดยจะนำเสนอการแสดงทางวัฒนธรรมของไทย ได้แก่ มวยไทย โขน โนราห์ และประเพณีอื่น ๆ ในระหว่างการประชุมฯ เพื่อสร้างการรับรู้ สะท้อนอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมและมรดกภูมิปัญญาที่ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นของไทย