กกท. ชี้ กสทช.เบื้องหลังประเคนลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดบอลโลก“กลุ่มทรู”

10 ธ.ค. 2565 | 13:30 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ธ.ค. 2565 | 23:46 น.
1.0 k

ตัวแทน กกท เข้าชี้แจง กสทช ระบุชัด รักษาการเลขาฯ กสทช. แนะนำให้ กกท. ยกลิขสิทธิ์ถ่ายทอดฟุตบอลโลกทั้งหมดให้เอกชนได้ โดยไม่ต้องทำตามกฎ Must carry พร้อมชี้ช่องให้ไปใช้กฎหมายลิขสิทธิ์ที่ใหญ่กว่าแทน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา กสทช. ได้ประชุมนัดพิเศษ การพิจารณาดำเนินการตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เรื่องการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 รอบสุดท้าย

 

ในการประชุมดังกล่าวนั้นได้มีการเปิดเผยเอกสารการประชุมบางส่วนออกมา โดยมีประเด็นที่หลายคนยังคงสงสัยถึงที่มาของปัญหาที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะ คนของ กสทช คนไหน ที่ กกท. อ้างว่าได้ตกลงด้วยวาจา และเป็นผู้ชี้แนวทางให้ กกท. ดำเนินการทำ MOU กับเอกชน แบบไม่สนใจประกาศ Must carry

โดยในการเข้าชี้แจงครั้งนี้ กกท. ได้ส่งตัวแทนผู้บริหารระดับสูง จำนวน 3 คน เข้ามาร่วมประชุมเพื่อชี้แจงและยืนยันต่อที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯ ว่า ทั้ง 3 ท่านได้รับมอบอำนาจจาก ผู้ว่าการกีฬาแห่งประเทศไทย ในการเข้ามาชี้แจงครั้งนี้ ได้แก่ นายยุธยา จีนหีต ผู้อำนวยการสำนักผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย, นายสมพร ไชยสงคราม ผู้อำนวยการสำนักกฎหมาย กกท., นายอภิชาต ชื่นสุวรรณ ที่ปรึกษาผู้ว่าการ กกท

 

ในเอกสารบันทึกการประชุม มี 3 ประเด็นที่เปิดเผยเกี่ยวกับปมลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลกที่ยังเป็นประเด็นปัญหา ดังนี้

 

ประเด็นที่ 1 กกท.ย้ำชัด รับทราบและเข้าใจว่า IPTV อยู่ใต้ประกาศ Must Carry ของ กสทช. ที่ กกท. ต้องปฏิบัติตาม โดยตาม ข้อ5.4.1 (1)  ตัวแทนของ กกท. ระบุชัดเจนว่า ทาง กกท. รับทราบและเข้าใจว่า กสทช มีหน้าที่กำกับดูแลตามประกาศ Must Have และ Must Carry

 

และตาม ข้อ 5.4.1 (2) กกท. รับทราบและเข้าใจว่าผู้ให้บริการโครงข่ายแบบบอกรับสมาชิก หรือ IPTV เป็นผู้รับใบอนุญาตที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กสทช.ซึ่งมีหน้าที่ปฏิบัติตามประกาศ Must Carry

กกท. ชี้ กสทช.เบื้องหลังประเคนลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดบอลโลก“กลุ่มทรู”

กล่าวคือ กกท. รับทราบในเงื่อนไขดังกล่าว ก่อนการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ และก่อนจะดำเนินการหาพันธมิตรรายอื่น    มาสนับสนุนเงินในครั้งนี้แต่ท้ายที่สุด กกท. กลับไม่ยึดถือตามที่ตกลงกันกับ กสทช.

 

ประเด็นที่ 2 ก่อนลงนาม กกท. ได้หารือ รักษาการเลขาธิการ กสทช. เรื่องการขอรับการสนับสนุนงบประมาณเพิ่มเติมจากภาคเอกชน และได้รับคำตอบจาก รักษาการ เลขาธิการ กสทช. ว่าสามารถดำเนินการได้ โดยให้ปฏิบัติตามกฏหมายลิขสิทธิ์ โดยไม่ต้องยึดตามประกาศ Must Carry

กกท. ชี้ กสทช.เบื้องหลังประเคนลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดบอลโลก“กลุ่มทรู”

ตามข้อ 5.4.1 ตัวแทนจาก กกท. ได้ให้ข้อมูลว่า ก่อนลงนามในบันทึกข้อตกลงร่วมมือ กกท. ได้หารือกับรักษาการ เลขาธิการฯ กสทช. นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล เกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการขอรับการสนับสนุนเพิ่มเติมจากเอกชน และได้รับคำตอบจากบุคคลดังกล่าวว่าสามารถดำเนินการได้ โดยให้ปฏิบัติตามกฎหมายลิขสิทธิ์ 

 

“ในวันดังกล่าว มีผู้ร่วมพูดคุยประมาณ 3-4 ท่าน โดยเป็นเพียงการพูดคุยตกลงกันด้วยวาจา แต่ไม่มีการบันทึกรายละเอียดการเจรจาและหารือไว้เป็นลายลักษณ์อักษร กล่าวได้ว่า นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุลและ กกท. ก็ทราบเงื่อนไขตั้งแต่แรกอยู่แล้วว่า การถ่ายทอดสดครั้งนี้ ต้องอยู่ใต้ประกาศ Must Carry แต่เหตุใด นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุลจึงได้ชี้แนะทาง กกท. ไปเช่นนั้น อันมีเจตนาที่จะเลี่ยงประกาศ Must carry ตั้งแต่แรก จนเป็นเหตุให้ทาง กกท. ไปดำเนินการทำข้อตกลงกับเอกชนรายอื่น ด้วยเงื่อนไขที่ขัดต่อประกาศ Must carry”

กกท. ชี้ กสทช.เบื้องหลังประเคนลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดบอลโลก“กลุ่มทรู”

ประเด็นที่ 3 กกท. รับทราบและเข้าใจดีว่าหากมอบสิทธิ์ Exclusive Right ให้กับกลุ่มทรูแล้ว จะส่งผลให้ IPTV รายอื่นจอดำ อันเป็นการขัดต่อกฎ Must carry แต่ กกท. ก็ยอมรับว่า จำเป็นต้องให้กลุ่มทรูเข้ามารับสิทธิ์ดังกล่าว ด้วยข้อจำกัดของงบประมาณ

 

ตามข้อ 5.4.3 (4) ตัวแทนจาก กกท. ชี้แจงว่า กกท. รับทราบและเข้าใจว่า หากมีการมอบสิทธิ์ Exclusive Rigth ให้กับเอกชนรายใดแล้วจะส่งผลให้ผู้ให้บริการโครงข่ายแบบบอกรับสมาชิกไม่สามารถปฏิบัติตามประกาศ Must carry โดยชอบด้วยกฎหมายได้ และจะส่งผลกระทบต่อบันทึกข้อตกลงความร่วมมือที่ กกท. ได้ทำไว้กับ กสทช. แต่เนื่องจาก กกท. มีข้อกำหนดด้านงบประมาณและจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากภาคเอกชนเพิ่มเติม

 

ดังนั้น กกท.จึงจำเป็นต้องเปิดกว้างให้เอกชนจัดทำข้อเสนอเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์มายัง กกท. โดยท้ายที่สุดมีกลุ่มทรูและเอกชน  รายอื่นๆ เข้าร่วมสนับสนุน กกท. จึงจำเป็นต้องให้เอกชนที่ได้รับการสนับสนุนได้รับสิทธิประโยชน์ ที่พึงมีตามกฎหมายลิขสิทธิ์

 

และตาม ข้อ 5.4.3 (5) ก่อนลงนาม กกท. ได้ตรวจสอบเนื้อหาหรือข้อความตามบันทึกข้อตกลงฯ แล้ว กกท. เห็นชอบในหลักการว่าสิทธิใดๆ ที่ กกท. ได้รับจาก FIFA จะต้องมีการดำเนินการ เพื่อให้เกิดการถ่ายทอดการแข่งขันผ่านการให้บริการของผู้รับใบอนุญาตที่อยู่ในกำกับดูแลของ กสทช.ในทุกประเภท และทุกช่องทางอย่างเท่าเทียมกัน

 

ตามเอกสารการประชุม กสทช.นัดพิเศษ ฟุตบอลโลก 2022 ข้างต้น ชี้ชัดว่า ทาง กกท. รับทราบและเข้าใจดีถึงประกาศ Must carry ที่ต้องปฏิบัติตาม หากรับเงินสนับสนุน 600 ล้านบาทจาก กสทช. ที่ต้องดำเนินการถ่ายทอดสดผ่านการให้บริการของผู้รับใบอนุญาตที่อยู่ในกำกับดูแลของ กสทช. ในทุกประเภท และทุกช่องทางอย่างเท่าเทียมกัน

 

นอกจากนี้ในการชี้แจง ตัวแทน กกท. ยังมีการระบุอีกว่ารักษาการเลขาธิการ กสทช. นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล คือ ผู้ที่ให้คำปรึกษาและตกลงด้วยวาจากับ กกท. ว่า กกท. ไม่ต้องกังวลเรื่องประกาศ Must carry ไม่ต้องทำตามกฎ Must carry ก็ได้ และนายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล ยังแนะแนวทางให้ กกท. ไปใช้กฎหมายลิขสิทธิ์แทนได้  ถ้าต้องหาเอกชนรายอื่นเข้ามาสนับสนุน อันมีเจตนาที่จะไม่ปฏิบัติตามประกาศ Must carry ตั้งแต่แรกอยู่แล้ว

 

อีกทั้งมีการตั้งข้อสังเกตุว่า นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รู้ล่วงหน้าได้อย่างไร ว่า กกท. จะไปหาสปอนเซอร์ภาคเอกชนเป็นโอเปอเรเตอร์เครือข่ายมือถือและอินเตอร์เน็ต จึงได้แนะนำไปเช่นนั้น