กกท.ท้าชน "กสทช." ฟ้องทวงเงิน 600 ล้านลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก 2022

08 ธ.ค. 2565 | 16:33 น.
อัปเดตล่าสุด :09 ธ.ค. 2565 | 13:51 น.

กกท.ท้าชน "กสทช." ฟ้องทวงเงิน 600 ล้านลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 ยืนยันปฏิบัติตามข้อตกลงของทั้ง 2 ฝ่าย โดยไม่ได้ละเมิดกฏ Must Carry

วันนี้ (วันที่ 8 ธันวาคม 2565) จากกรณีที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ บอร์ด กสทช. มีมติเอกฉันท์ ให้ การกีฬาแห่งประเทศไทย หรือ กกท. คืนเงิน 600 ล้านบาท  ภายใน 15 วัน นับแต่ได้รับแจ้งเป็นหนังสือ พร้อมดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราร้อยละ 5 ต่อปี (หากมี) เพื่อสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก ปี 2022 (รอบสุดท้าย) หลังจากมีปัญหาโทรทัศน์ระบบบอกรับสมาชิก IPTV “จอดำ”

ล่าสุดนายก้องศักด  ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่ากกท.ยืนยันว่าได้ปฏิบัติทุกอย่างถูกต้องตามเงื่อนไขและวัตถุประสงค์ของบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเรื่องการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก ปี 2022 (รอบสุดท้าย) โดยเมื่อช่วงบ่ายของวานนี้ กกท.ได้ส่งหนังสือยืนยันประเด็นหลักต่างๆไปยังกสทช.แล้ว แต่ไม่แน่ใจว่าหนังสือของกกท.ได้มีการนำเสนอในการประชุมบอร์ดของกกท.ในช่วงเช้าวันนี้หรือไม่

 

 

โดยกกท.ยืนยันว่าได้ปฏิบัติตามข้อตกลงของทั้ง 2 ฝ่าย โดยไม่ได้ละเมิดกฏหลัก Must Carry ตามประกาศของ กสทช.ที่อย่างใด ซึ่งหนังสือที่กกท.ชี้แจงไปยังกสทช.ในประเด็นต่างชัดเจน ไม่ว่าจะเป็น

 

 

1.ประเด็นเรื่องสิทธิ์ที่เราได้รับ ซึ่งเราต้องระมัดระวังในการกำกับดูแลบริหารสิทธิฟีฟ่า ไม่ให้เกิดละเมิดลิขสิทธิ์

 

 2.เราดูตามกฏ Must Carry ซึ่งมีวัตถุประสงค์ที่ต้องส่งเสริมให้ประชาชนได้รับบริการโทรทัศน์ อันเป็นบริการสาธารณะได้อย่างทั่วถึง โดยกระจายในทุกช่องทาง ทั้งทีวีดาวเทียม ทีวีภาคพื้นดิน ไม่ใช่แค่ช่องทรู โดยทั้งนี้จะต้องอยู่ภายใต้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา รวมถึงกฎหมายลิขสิทธิ์ด้วย

 

 

3. แนวคำสั่งศาลที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเราทราบดีว่าไม่เกี่ยวกับกสทช.และกกท. แต่เป็นข้อพิพาท ระหว่าง AIS และ TRUE  ซึ่งคำวินิจฉัยพาดพิง ที่กกท.ให้สิทธิ์ทรู วิชั่นส์ ก็ไม่ขัดกับวัตถุประสงค์ของกฏ Must Carry เพราะผู้ด้อยโอกาสก็มีสิทธิ์เข้าถึงการรับชมการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 ได้ ผ่านช่องทางต่างๆที่กกท.ตกลงไว้กับกสทช. และได้ส่งหนังสือแนบท้ายในสัญญาข้อตกลงระหว่าง กสทช.และกกท.ที่ระบุชัดเจนว่าต้องกระจายสิทธิ์ผ่านดิจิทัล ทีวี ภาคพื้นดินอย่างเดียว และการตัดสัญญาณไอพีทีวี (IPTV) ก็เป็นไปตามกฏหมายลิขสิทธิ์

 

ศาลได้วินิจฉัยกรณีข้อพิพาทระหว่าง AIS กับ True โดยคำสั่งศาลได้กล่าวถึงการกีฬาแห่งประเทศไทย และ กสทช. ที่ดำเนินการถ่ายทอดฟุตบอลโลกให้ประชาชนได้ดูฟรีตามช่องทางต่างๆ ที่ไม่ใช่เฉพาะ IPTV เท่านั้น ถือว่าเป็นไปตามวัตถุประสงค์ของมัสต์ แคร์รี่แล้ว ซึ่งคำสั่งศาลเขียนไว้ชัดเจน เพราะฉะนั้นการดำเนินการของกกท. เราได้ปฏิบัติตามข้อระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้องโดยไม่ได้ไปละเมิดอะไร”

 

 

อย่างไรก็ตามกกท.และกสทช.ในฐานะหน่วยงานภาครัฐ ก็ต้องมาหารือพูดคุยร่วมกันหากมีความเห็นไม่ตรงกัน  แต่หากคุยกันไม่จบ กสทช.ยังยืนกรานจะทวงเงิน 600 ล้านบาทคืน ก็ต้องเข้าสู่กระบวนการระงับข้อพิพาทภาครัฐต่อไป ซึ่งก็เป็นไปตามกระบวนการของกฏหมาย

 

ขณะเดียวกัน  หากย้อนกลับไปในช่วงมหกรรมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์ 2020 ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เป็นเจ้าภาพ ซึ่งถือเป็น 1 ใน 7 รายการที่อยู่ในกฎมัสต์แฮฟที่จะต้องถ่ายทอดสดให้คนไทยได้ดูฟรี โดยในช่วงนั้นกล่องรับสัญญาณเอกชน เจ้าหนึ่ง เป็นผู้รับหน้าที่ในการออกอากาศ และปิดกั้นสัญญาณในส่วนของกล่องรับสัญญาณเจ้าอื่นๆ ซึ่งถ้าหากเป็นกรณีเดียวกัน ในกฎมัสต์แคร์รี่ ก็อยากให้ทาง กสทช.ออกมาชี้แจงว่าเหตุใดรายการนั้นทำได้ และทำไมรายการนี้ทำไม่ได้

 

อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) มีหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ สทช 2305/54243 ลงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2565 , หนังสือ ด่วนที่สุด ที่ สทช 2305/53709 ลงวันที่ 28 พฤศจิกายน 2565 และหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ สทช 2305/53355 ลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2565 แจ้งให้การกีฬาแห่งประเทศไทย ปฏิบัติตามหนังสือทั้ง 3 ฉบับ และปฏิบัติให้ถูกต้องตามเงื่อนไขและวัตถุประสงค์ของบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเรื่องการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก ปี 2022 (รอบสุดท้าย) ลงวันที่ 14 พฤศจิกายน 2565 ในข้อ 2.2 ข้อ 2.4 ข้อ 2.8 และข้อ 2.10 นั้น

 

การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ยืนยันต่อเนื่องว่ากกท. มิได้เพิกเฉยในการปฏิบัติให้เป็นไปตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเรื่องการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก ปี 2022 (รอบสุดท้าย) ลงวันที่ 14 พฤศจิกายน 2565 เนื่องจาก กกท. ได้รับสิทธิ์ในการแพร่ภาพ แพร่เสียง การถ่ายถอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก ปี 2022 (รอบสุดท้าย) (FIFA World Cup Final 2022) ระหว่างวันที่ 20 พฤศจิกายน ถึง 18 ธันวาคม 2565 ณ กรุงโดฮา รัฐการ์ตา จากสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (FIFA) ตามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ์ ฉบับลงวันที่ 20 พฤศจิกายน 2565

 

ต่อมา กกท. ได้ตกลงให้สิทธิ์ในการแพร่ภาพ แพร่เสียง การถ่ายทอดฟุตบอลโลกกับสำนักงาน กสทช. และผู้รับอนุญาตภายใต้กำกับของ กสทช. ซึ่งให้การสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลกดังกล่าวตามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเรื่องการสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก ปี 2022 (รอบสุดท้าย) ลงวันที่ 14 พฤศจิกายน 2565 โดย กกท. ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ได้กำหนดไว้ในบันทึกข้อตกลงดังกล่าวในข้อ 2.2, 2.4, 2.8 และ 2.10 อย่างถูกต้องครบถ้วน

 

 รวมทั้งได้ปฏิบัติตามประกาศ สำนักงาน กสทช. เรื่องแนวปฏิบัติตามประกาศ กสทช เรื่อง หลักเกณฑ์การเผยแพร่กิจการโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป ฉบับลงวันที่ 5 มิถุนายน 2563 ซึ่งกำหนดหลักเกณฑ์การเผยแพร่กิจการโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป (หลัก Must Carry) ซึ่งมีวัตถุประสงค์ที่ต้องส่งเสริมให้ประชาชนได้รับบริการโทรทัศน์ อันเป็นบริการสาธารณะได้อย่างทั่วถึง โดยทั้งนี้จะต้องอยู่ภายใต้กฎหมายทรัพย์สินทางปัญญา รวมถึงกฎหมายลิขสิทธิ์ด้วย

 

ต่อมาข้อเท็จจริงปรากฏว่า ได้มีผู้ให้บริการทีวีอินเทอร์เน็ตรายหนึ่ง ได้ให้บริการแพร่ภาพ แพร่เสียง การถ่ายทอดฟุตบอลโลก ปี 2022 (รอบสุดท้าย) ผ่านระบบ ไอพีทีวี (IPTV) และระบบ โอทีที (OTT) โดยไม่ได้รับอนุญาตจากผู้ได้รับสิทธิ์ในการแพร่ภาพ แพร่เสียง การถ่ายทอดสด ฟุตบอลโลก ปี 2022 (รอบสุดท้าย) จาก กกท. ทั้งไม่มีการเสียค่าตอบแทนใดใดให้แก่ผู้ได้รับสิทธิ์ดังกล่าว เป็นเหตุให้ผู้ได้รับสิทธิ์จาก กกท. ได้ยื่นฟ้องผู้ให้บริการทีวีอินเทอร์เน็ตรายนั้นเป็นจำเลยต่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ฐานละเมิดทรัพย์ทางปัญญาและลิขสิทธิ์ รวมทั้งให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ห้ามจำเลยแพร่ภาพ แพร่เสียง การถ่ายทอดฟุตบอลโลก ปี 2022 (รอบสุดท้าย) ซึ่งศาลได้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวตามที่ร้องขอ  ต่อมาจำเลยได้ยื่นคำร้องต่อศาล ฯ ขอให้ศาล ฯ เพิกถอนคำสั่งดังกล่าว

 

โดยศาล ฯ ได้มีคำสั่งยกคำร้องของจำเลย โดยให้เหตุผลว่า การมอบสิทธิ์ในการแพร่ภาพ แพร่เสียง การถ่ายทอดฟุตบอลโลก ปี 2022 (รอบสุดท้าย) ที่ กกท. ให้สิทธิ์แก่ผู้ได้รับสิทธิ์จาก กกท. แต่เพียงผู้เดียวเป็นไปตามประกาศของ กสทช. ซึ่งมีวัตถุประสงค์ให้ประชาชนสามารถเลือกชมโทรทัศน์ได้หลายช่องทาง ทั้งในระบบฟรีทีวี ระบบดาวเทียม ระบบเคเบิล และในระบบโทรทัศน์ภาคพื้นดิน มิใช่เพียงแค่ช่องทางระบบไอพีทีวี (IPTV) เท่านั้น ถือได้ว่าเป็นการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของหลัก Must Carry แล้ว

 

 อีกทั้งจำเลยมีผู้รับบริการเพียง 900,000 ราย ซึ่งเป็นจำนวนไม่มากนัก เมื่อเทียบกับจำนวนประชาชนในประเทศไทย ที่รับชมการรับถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกในครั้งนี้ ทั้งไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจนว่า จำเลยได้รับความเสียหายแต่อย่างใด นอกจากข้ออ้างที่ว่า ตนต้องปฏิบัติตามหลัก Must Carry ตามประกาศของ กสทช. เท่านั้น ทั้งจำเลยก็มิได้เสียค่าตอบแทนใดๆ มีแต่ได้รับประโยชน์จากการเก็บค่าบริการจากผู้ใช้บริการเท่านั้น หากปล่อยให้จำเลยแพร่ภาพ แพร่เสียง การถ่ายทอดฟุตบอลโลก ปี 2022( รอบสุดท้าย) ในระบบไอพีทีวี (IPTV) และระบบ โอทีที (OTT) ต่อไป จะเกิดความเสียหายแก่ผู้ได้รับสิทธิ์มากกว่า

 

จากข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้น เป็นเรื่องที่มีการฟ้องร้องดำเนินคดีในการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาและลิขสิทธิ์ ต่อผู้ได้รับสิทธิ์ในการแพร่ภาพ แพร่เสียง การถ่ายทอดฟุตบอลโลก ปี 2022 (รอบสุดท้าย) จาก กกท. ซึ่ง กกท. ต้องเคารพในสิทธิ์และการใช้สิทธิ์ตามกฎหมายของผู้ได้รับสิทธิ์ดังกล่าว เป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องและไม่มีผลกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างสำนักงาน กสทช. กับ กกท. แต่อย่างใด กกท. ขอยืนยันว่าได้ปฏิบัติตามเงื่อนไข ตามข้อตกลงดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งตามข้อ 2.2, 2.4, 2.8 และ 2.10 อย่างเคร่งครัดแล้ว

 

สำหรับลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 รอบสุดท้าย ที่ประเทศกาตาร์ ระหว่างวันที่ 20 พฤศจิกายน-18 ธันวาคม 2565 วงเงิน 33 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1,182 ล้านบาท หากรวมค่าใช้จ่ายเรื่องภาษีในการชำระเงินจะอยู่ที่ประมาณ 1,400 ล้านบาท โดบงบในการสนับสนุนการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022  จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน

 

ส่วนแรกเป็นของภาครัฐ โดยกสทช. 600 ล้านบาท ส่วนอีก 700 ล้านบาท เป็นการสนับสนุนของภาคเอกชน 9 ราย ได้แก่ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จํากัด (มหาชน) 300 ล้านบาท น้ำแร่ธรรมชาติ ตราช้าง 100 ล้านบาท บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) 100 ล้านบาท บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือโออาร์ 20 ล้านบาท บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) 20 ล้านบาท บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) 10 ล้านบาท บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) 50 ล้านบาท ธนาคาร กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) 50 ล้านบาท  และบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) 50 ล้านบาท

 

การถ่ายทอดสดครั้งนี้ จะถ่ายทอดทางฟรีทีวีทั้งหมด 17 ช่อง ประกอบด้วยช่อง TRUE4U, T Sports 7, JKN 18, CH3, MONO29, CH7, ไทยรัฐTV, ThaiPBS, CH8, PPTV36, NBT, GMM25, 9MCOT, Nation TV, AMARIN 34HD, one31 และททบ.5