12 สิงหาคม 12 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ "พระบรมราชชนนีพันปีหลวง"

12 ส.ค. 2565 | 18:01 น.
อัปเดตล่าสุด :13 ส.ค. 2565 | 01:42 น.
2.6 k

เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565 สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

“ฐานเศรษฐกิจ” ได้รวบรวม 12 เรื่องราวน่ารู้เกี่ยวกับ เกร็ดพระราชประวัติ และพระราชกรณียกิจ ของพระองค์ท่าน เพื่อร่วมน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณและถวายพระพรในวโรกาสอันน่าชื่นชมยินดีนี้

 

1.พระนาม “สิริกิติ์” มีความหมายว่า “ผู้เป็นศรี แห่งกิติยากร” ทรงพระราชสมภพเมื่อวันศุกร์ที่ 12 สิงหาคม พุทธศักราช 2475 ที่บ้านพลเอก เจ้าพระยาวงศานุประพัทธ์ (หม่อมราชวงศ์สท้าน สนิทวงศ์) ผู้เป็นบิดาของหม่อมหลวงบัว (พระราชมารดา) ณ บ้านเลขที่ 1808 ถนนพระรามหก ตำบลวังใหม่ อำเภอปทุมวัน จังหวัดพระนคร

พระนาม “สิริกิติ์” มีความหมายว่า “ผู้เป็นศรี แห่งกิติยากร”

 

2.ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2492 ณ สถานเอกอัครราชทูตไทยในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ มีงานรับรองเล็ก ๆ ทว่าแสนอบอุ่นเกิดขึ้น นอกจากเป็นวันครบรอบวันเกิด 17 ปี ของหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากรแล้ว ยังเป็นวันสำคัญที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ประกาศข่าวทรงหมั้นกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ให้คนไทยได้รับรู้อีกด้วย

3. ต่อมาวันที่ 28 เมษายน 2493 สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ทรงประกอบพิธีราชาภิเษกสมรสพระราชทานตามแบบโบราณราชประเพณี ณ วังสระปทุม

 

4.วันที่ 5 พฤษภาคม พุทธศักราช 2493 เป็นวันพระราชพิธีบรมราชาภิเษก สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่9 ทรงรับเฉลิมพระบรมนามาภิไธยว่า “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” และทรงเฉลิมพระยศ สมเด็จพระราชินีสิริกิติ์ เป็นสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี ส่วนพระยศ “พระบรมราชินีนาถ” นั้น มีเรื่องราวที่มา ดังนี้คือ

 

ในปี พ.ศ. 2499 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จออกทรงพระผนวชตามโบราณราชประเพณี จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งสมเด็จพระบรมราชินีเป็น “ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์” ภายหลังเมื่อทรงลาผนวชแล้ว ได้ทรงสถาปนาพระราชอิสริยยศสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีขึ้นเป็น “สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ” อันมีความหมายว่าทรงเป็นที่พึ่งของประชาชน

พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ในภาพนี้ทรงปฏิญาณพระองค์ในรัฐสภา ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2499 ขอบคุณภาพจากเว็บไซต์สำนักพระราชวัง

นับเป็นสมเด็จพระบรมราชินีนาถพระองค์ที่สองของไทยต่อจากสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ซึ่งทรงปฏิบัติราชการแทนพระองค์เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินเยือนยุโรป

5.หลังวันพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินี เสด็จออกสีหบัญชรเป็นครั้งแรก ณ พระที่นั่งสุทไธสวรรยปราสาท พระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 มีประชาชนเข้าเฝ้าฯ ชื่นชมพระบารมีอย่างล้นหลาม ยังความอบอุ่นและตื้นตันพระราชหฤทัยยิ่งนัก

ภาพแห่งประวัติศาสตร์ ทั้งสองพระองค์เสด็จออกสีหบัญชรเป็นครั้งแรก ณ พระที่นั่งสุทไธสวรรยปราสาท พระบรมมหาราชวัง ในปี 2493

6. วันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2534 องค์การยูนิเซฟ ทูลเกล้าฯถวาย เหรียญ UNICEF Special Recognition Award ซึ่งเป็นเหรียญที่เคยมอบให้แก่กาชาดสากล แต่ไม่เคยมอบให้แก่บุคคลใด และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงทรงเป็นพระองค์แรกที่ทรงได้รับเหรียญนี้

 

7.สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเป็นห่วงในทุกข์สุขของพสกนิกร ทุกครั้งที่เสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมราษฎร จะทรงพบว่ามีราษฎรป่วยเจ็บด้วยโรคต่าง ๆ ไปเฝ้าฯ กันเป็นจำนวนมาก ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แพทย์ที่ตามเสด็จช่วยตรวจรักษา หากคนไข้ คนใดจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ก็จะโปรดเกล้าฯ ให้ดำเนินการส่งตัวเข้าโรงพยาบาล ในภาคนั้น ๆ โปรดเกล้าฯ ให้จัดนางสนองพระโอษฐ์และอาสาสมัครเวียนกันไปเยี่ยมเยียนคนไข้เหล่านี้ตามโรงพยาบาลต่าง ๆ ทุกวัน โดยมีพระราชเสาวนีย์ให้ทำตัว “ประดุจญาติของเขา ที่เขาจะไว้ใจบอกเล่าทุกข์สุขอะไรให้ได้ เผื่อจะสามารถปัดเป่าบรรเทาความทุกข์ของพวกเขาได้”

พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงห่วงใยราษฎรที่เจ็บป่วยอย่างลึกซึ้ง ทรงคอยติดตามความคืบหน้าของการรักษาพยาบาล จนกว่าคนไข้จะหายเจ็บ

8.กุหลาบควีนสิริกิติ์ (ชื่อวิทยาศาสตร์ Rosa ‘Queen Sirikit’) เป็นไม้พุ่มแกมเลื้อย ดอกเดี่ยวมีขนาดใหญ่ กลีบดอกสีเหลือเข้ม ขอบกลีบอาจมีขลิบสีชมพูเรื่อ โดยเฉพาะถ้าปลูกในบริเวณที่มีอากาศร้อน ดอกมีกลิ่นหอมละมุน ดอกงดงาม สีสดใส บานทน เมื่อต้องแสงอาทิตย์ ปลายกลีบจะมีสีส้ม บางครั้งกิ่งหนึ่งอาจมีถึง 3 ดอก กุหลาบพันธุ์นี้ เป็นลูกผสมระหว่างพันธุ์ Konigin der Rosen และ Golden Giant 

 

นายอองเดร อองดริก ชาวเบลเยี่ยม ผู้อำนวยการเรือนกุหลาบกร็องด์ โรเซอเร ดู วาล เดอ ลัวร์ แห่งลุ่มแม่น้ำลัวร์ในฝรั่งเศส เป็นผู้ขอพระราชทานพระราชานุญาตอัญเชิญพระนามาภิไธย ‘ควีนสิริกิติ์’ มาเป็นชื่อของกุหลาบที่มีความสวยงามตระการตาพันธุ์นี้ ดังคำบรรยายว่า “พระราชินีแห่งประเทศไทย ทรงมีพระสิริโฉมเป็นเสน่ห์แบบตะวันออกเหนือตะวันตก”

กุหลาบควีนสิริกิติ์

กุหลาบควีนสิริกิติ์ได้รับรางวัลชนะเลิศในการประกวดกุหลาบที่กรุงเบลฟาสต์ (Belfast) เมื่อปี พ.ศ.2513

 

9.นอกจากกุหลาบควีนสิริกิติ์แล้ว ยังมีอีก 3 พรรณดอกไม้งามที่ได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระราชินีนาถในรัชกาลที่9 พระราชทานพระนามให้เป็นชื่อของพรรณไม้ ตามคำกราบบังคมทูลขอพระราชทาน ได้แก่ กล้วยไม้คัทลียาควีนสิริกิติ์ ต้นมหาพรหมราชินี และ ดอนญ่า ควีนสิริกิติ์

 

10.ในการทรงงานด้านการอนุรักษ์และส่งเสริมผ้าไทย รวมทั้งงานของมูลนิธิศิลปาชีพ ครั้งหนึ่งสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เคยพระราชทานสัมภาษณ์ว่า

ทรงอนุรักษ์และส่งเสริมผ้าไทย

“ชาวต่างประเทศ เช่น คณะทูตได้ถามข้าพเจ้าเมื่อเอาสินค้าไปแสดง ถามว่าเลือกสมาชิกมูลนิธิศิลปาชีพอย่างไร ก็บอกเขาตามตรงว่า เลือกจากความจน เห็นว่าครอบครัวไหนจนที่สุด ไม่สามารถจะช่วยตัวเองได้ ก็เลือกคนเหล่านั้น”

 

“คนไทยเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพ คนไทยมีสายเลือดศิลปะอยู่ในตัวทุกคน แม้จะยากจนด้อยการศึกษา แต่หากได้รับการฝึกฝนอบรม และให้ได้รับโอกาสที่ดี คนไทยสามารถเป็นช่างได้ทุกคน”

 

11. พระราชปณิธานในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่ปวงชนชาวไทยคุ้นเคยและซาบซึ้งใจกันดี คือ “...พระเจ้าอยู่หัวเป็นน้ำ ฉันจะเป็นป่า ป่าที่ถวายความจงรักภักดีต่อน้ำ พระเจ้าอยู่หัวสร้างอ่างเก็บน้ำ ฉันจะสร้างป่า...” เป็นพระราชดำรัสเมื่อพ.ศ. 2525 และได้รับการจารึกไว้ ณ แผ่นข้อความ ณ เขื่อนสิริกิติ์ จังหวัดอุตรดิตถ์

เขื่อนสิริกิติ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ ขอบคุณภาพจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย

 

12.คำขวัญที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานใน วันแม่แห่งชาติปี 2558 มีใจความว่า

“ดินและน้ำ ลมและฟ้า ป่าและเขา

รวมกันเข้าคือทรัพย์สินแผ่นดินแม่

ฝากลูกไทยรวมใจภักดิ์รักดูแล

เพื่อมอบแก่หลานเหลนไทยไปชั่วกาล”

 

ขอพระองค์ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก: