5 ธันวาคมวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพในหลวงร.9 พระราชประวัติ

05 ธ.ค. 2564 | 07:31 น.
อัปเดตล่าสุด :05 ธ.ค. 2564 | 18:39 น.
9.3 k

5 ธันวาคม 2564 วันคล้ายวันพระบรมราชสมภพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ 9 แห่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ และพระราชประวัติ

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เสด็จพระราชสมภพในราชสกุล “มหิดล” อันเป็นสายหนึ่งในมหาจักรีบรมราชวงศ์ ณ โรงพยาบาลเมาต์ออเบิร์น เมืองเคมบริดจ์ รัฐแมสซาชูเซตส์ สหรัฐอเมริกา อันเป็นที่ซึ่งพระบรมราชชนกและพระบรมราชชนนีกำลังทรงศึกษาวิชาการอยู่ เมื่อวันจันทร์ที่ 5 ธันวาคม 2470 

 

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

 

พระองค์เป็นพระโอรสองค์ที่ 3 ในสมเด็จเจ้าฟ้าฯ มหิดลอดุลเดช กรมหลวงสงขลานครินทร์ (กาลต่อมา คือ สมเด็จพระมหิตลาธิเบศรอดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก) และหม่อมสังวาลย์ มหิดล ณ อยุธยา (กาลต่อมา คือ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี) มีพระนามเมื่อแรกประสูติอันปรากฏในสูติบัตรว่า “เบบี สงขลา” (Baby Songkla)

 

พระนาม “ภูมิพลอดุลเดช” นั้นพระบรมราชชนนีได้รับพระราชทานทางโทรเลขจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 เมื่อวันที่14ธันวาคม 2470โดยทรงกำกับตัวสะกดเป็นอักษรโรมันว่า “Bhumibala Aduladeja” ทำให้สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงเข้าพระทัยว่าได้รับพระราชทานนามพระโอรสว่า “ภูมิบาล”

 

5 ธันวาคมวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพในหลวงร.9 พระราชประวัติ

ในระยะแรกพระนามของพระองค์สะกดเป็นภาษาไทยว่า “ภูมิพลอดุลเดช” ต่อมาพระองค์เองทรงเขียนว่า “ภูมิพลอดุลยเดช” โดยทรงเขียนทั้งสองแบบสลับกันไป จนมาทรงนิยมใช้แบบหลังซึ่งมีตัว “ย” สะกด

 

พระนามของพระองค์มีความหมายว่า

 

ภูมิพล = ภูมิ+พล
ภูมิ หมายความว่า “แผ่นดิน”
พล หมายความว่า “พลัง” รวมกันแล้วหมายถึง “พลังแห่งแผ่นดิน”

 

อดุลยเดช = อดุลย +เดช
อดุลย หมายความว่า “ไม่อาจเทียบได้”
เดช หมายความว่า “อำนาจ” 

 

“ภูมิพลอดุลยเดช” จึงหมายถึง “อำนาจที่ไม่อาจเทียบได้”

 

ต่อมาคือ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภูมิพลอดุลเดช เมื่อได้รับพระราชทานนาม มีพระเชษฐภคินีและสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช 2 พระองค์ คือ สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ และพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ซึ่งสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงออกพระนามเรียกพระองค์เป็นการลำลองว่า “เล็ก”

 

เมื่อปี 2471ได้เสด็จกลับสู่ประเทศไทยพร้อมพระบรมราชชนก ซึ่งทรงสำเร็จการศึกษาปริญญาแพทยศาสตรบัณฑิตเกียรตินิยมจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐ พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชชนนี สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ และสมเด็จพระเชษฐาธิราช โดยประทับ ณ วังสระปทุม ต่อมาวันที่24 กันยายน2472 สมเด็จพระบรมราชชนกสวรรคต ขณะที่พระองค์มีพระชนมายุไม่ถึง 2 พรรษา

 

ปี2475เมื่อเจริญพระชนมายุได้ 4 พรรษา เสด็จเข้าศึกษาที่โรงเรียนมาแตร์เดอีวิทยาลัย จนถึงเดือนพฤษภาคม 2476 จึงเสด็จพระราชดำเนินไปประทับ ณ เมืองโลซาน ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ พร้อมด้วยพระบรมราชชนนีพระเชษฐภคินีและสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชเพื่อการศึกษาและพระพลานามัยของสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช จากนั้นทรงเข้าศึกษาต่อชั้นประถมศึกษา ณ โรงเรียนเมียร์มองต์ เมืองโลซาน ในเดือนกันยายน 2477 ทรงศึกษาวิชาภาษาฝรั่งเศส ภาษาเยอรมัน และภาษาอังกฤษ แล้วทรงเข้าชั้นมัธยมศึกษา ณ เอกอลนูแวลเดอลาซุอิสรอม็องด์

 

เมื่อพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล สมเด็จพระบรมเชษฐาธิราช เสด็จขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 8 แห่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ พระองค์ก็ได้รับการสถาปนาฐานันดรศักดิ์เป็น ”สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลเดช“ เมื่อวันที่10 กรกฎาคม 2478

 

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร

 

เดือนพฤศจิกายน 2481 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเสด็จนิวัตประเทศไทยเป็นเวลา 2เดือน โดยประทับที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต จากนั้นเสด็จกลับไปศึกษาต่อที่สวิตเซอร์แลนด์จนถึง 2488

 

หลังจากที่จบการศึกษาจากสวิตเซอร์แลนด์ พระองค์เสด็จเยือนกรุงปารีส ทรงพบกับหม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ กิติยากร (กาลต่อมา คือ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง) ซึ่งเป็นธิดาของเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เป็นครั้งแรก ในขณะนั้น ทั้งสองพระองค์มีพระชนมายุ 21 พรรษาและ 15พรรษาตามลำดับ

 

เมื่อวันที่ 3  ตุลาคม 2491  ในระหว่างเสด็จประทับยังต่างประเทศ ขณะที่พระองค์ทรงขับรถยนต์พระที่นั่งเฟียส ทอปอลิโน จากเจนีวาไปยังโลซาน ทรงประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ กล่าวคือ รถยนต์พระที่นั่งชนกับรถบรรทุกอย่างแรง ทำให้เศษกระจกกระเด็นเข้าพระเนตรขวา พระอาการสาหัส หลังการถวายการรักษา พระองค์มีพระอาการแทรกซ้อนบริเวณพระเนตรขวา แพทย์จึงถวายการรักษาอย่างต่อเนื่องหลายครั้ง หากแต่พระอาการยังคงไม่ดีขึ้น กระทั่งวินิจฉัยแล้วว่าพระองค์ไม่สามารถทอดพระเนตรผ่านทางพระเนตรขวาของพระองค์เองได้ต่อไปแล้ว จึงได้ถวายการแนะนำให้พระองค์ทรงพระเนตรปลอมในที่สุด

 

ทั้งนี้หม่อมราชวงศ์สิริกิติ์ ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าเยี่ยมพระอาการเป็นประจำจนกระทั่งหายจากอาการประชวร อันเป็นเหตุที่ทำให้ทั้งสองพระองค์มีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดนับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ซึ่งก่อนหน้าพระองค์เคยชอบพอกับหม่อมราชวงศ์สุพิชชา โสณกุล แต่ไม่ถึงขั้นหมั้นหมายกัน

 

วันที่ 9 มิถุนายน 2489 สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 สวรรคต อย่างกระทันหัน ณ พระที่นั่งบรมพิมาน ภายในพระบรมมหาราชวัง ในวันเดียวกัน รัฐสภาลงมติเป็นเอกฉันท์อัญเชิญ ”สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลเดช“ ขึ้นทรงราชย์สืบราชสันตติวงศ์ เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 9 แห่งมหาจักรีบรมราชวงศ์ต่อไป

 

ที่มา : โบราณนานมา