ปั้นถนนเส้นทางเศรษฐกิจใหม่ ช่วงนราธิวาส-พระราม3รับปรับโฉม BRTสู่โมโนเรล/แทรม

22 ก.ย. 2559 | 08:00 น.
763
กทม.ปั้นถนนเส้นทางเศรษฐกิจ "นราธิวาส-พระราม 3" รับมือการปรับโฉมรถเมล์บีอาร์ทีเป็นรูปแบบใหม่เผยมีผู้ใช้บริการวันละกว่า 2.4 หมื่นคน ปิ้งไอเดียขยายเส้นทางเชื่อมถึงคลองเตยป้อนเอ็มอาร์ทีสถานีศูนย์สิริกิติ์ หนุนกทม.ผุดฮับเพื่อการเดินทางช่วงแยกถนนนราธิวาสตัดถนนพระราม 3 ให้เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจแห่งใหม่ ด้านสจส.เร่งจัดหาระบบใหม่เข้าไปทดแทน ส่วนบีทีเอสยันพร้อมให้บริการต่อเนื่อง เผยผู้โดยสารบีทีเอสทะลุ 8 แสนคนต่อวัน ส่วนค่าโดยสารบีทีเอสยังไม่ปรับเพิ่มในช่วงระยะสัมปทาน

นายมานิต เตชอภิโชค กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) เปิดเผยถึงแนวทางการปรับโฉมโครงการรถเมล์บีอาร์ทีที่ให้บริการช่วงสถานีช่องนนทรี-ท่าพระว่าตามที่เหลือระยะเวลาอีกในเดือนมีนาคม 2560 ที่ได้ว่าจ้างบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) หรือบีทีเอสเดินรถบีอาร์ทีด้วยวงเงินประมาณ 700 ล้านบาทนั้น ล่าสุดเตรียมเสนอยกเลิกรถเมล์บีอาร์ทีเพื่อจะปรับโฉมให้เป็นรูปแบบรถไฟฟ้าวิ่งบนรางแทนโดยอยู่ระหว่างการพิจารณารูปแบบที่เหมาะสมว่าจะเป็นโมโนเรลหรือแทรมในระยะยาว ส่วนในระยะสั้นนี้เร่งวางแผนจัดหารูปแบบที่เหมาะสม

นอกจากนั้นเพื่อการประหยัดงบประมาณในการพัฒนากทม.จึงยังจะคงรถเมล์รูปแบบล้อยางให้วิ่งบริการเฉพาะช่วงข้ามสะพานกรุงเทพไปยังท่าพระ ในส่วนระยะทางตั้งแต่สถานีช่องนนทรีไปตามถนนนราธิวาสราชนครินทร์จะปรับเป็นรถไฟฟ้าวิ่งบนรางแทนเบื้องต้นจะก่อสร้างคร่อมไปตลอดแนวคลองจนไปสิ้นสุดที่สถานีสะพานพระราม 3 หลังจากนั้นยังจะใช้ระบบล้อยางวิ่งให้บริการตามปกติไปจนถึงสถานีรัชดา-ราชพฤกษ์ที่สามารถขยายเส้นทางไปเชื่อมกับท่าพระในแนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยายช่วงหัวลำโพง-บางแคและบางซื่อ-ท่าพระได้อีกด้วย

นอกจากนั้นเคทียังเตรียมเสนอกทม.ให้ก่อสร้างแนวเส้นทางเพิ่มแยกจากช่วงจุดตัดระหว่างถนนนราธิวาสราชนครินทร์-พระรามที่ 3 เพื่อเชื่อมไปยังคลองเตยให้เป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการเข้าถึงระบบขนส่งมวลชนอย่างรถไฟฟ้า อีกทั้งสามารถเชื่อมกับรถไฟ MRT สถานีศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ได้อีกด้วย

"ช่วงจุดตัดถนนพระรามที่ 3 กับถนนนราธิวาสราชนครินทร์เคทียังมีแนวคิดเสนอกรุงเทพมหานครให้ปรับพื้นที่ดังกล่าวให้เป็นฮับในการเชื่อมโยงการเดินทางหลากหลายรูปแบบ ทั้งรถไฟฟ้า รถตู้ รถขสมก. ฯลฯ รองรับบริการอย่างครบครัน ซึ่งหากสามารถดำเนินการได้ก็จะช่วยผลักดันโซนพื้นที่ดังกล่าวให้เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจบนถนนสายพระรามที่ 3 และถนนนราธิวาสราชนครินทร์ได้อีกทางหนึ่งด้วย"

ด้านนายทวีศักดิ์ เลิศประพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักการจราจรและขนส่ง(สจส.) กรุงเทพมหานคร กล่าวว่าปัจจุบันมีผู้ใช้บริการรถบีอาร์ทีประมาณ 2.4 หมื่นคน และป้อนให้กับรถไฟฟ้าบีทีเอสได้ไม่น้อยกว่า 2 หมื่นคนต่อวัน แต่เนื่องจากจะครบกำหนดสัญญาว่าจ้างบีทีเอสในเดือนมีนาคม 2560 นี้จึงเร่งหาระบบและการวางแผนให้บริการตลอดจนการบริหารจัดการที่เหมาะสมเข้าไปดำเนินการแทน

"เคทีอยู่ระหว่างการดำเนินการอยู่ระหว่างการพิจารราแนวทางที่เหมาะสม โดยเฉพาะระบบใหม่ที่จะนำมาทดแทน ซึ่งกทม.เคยศึกษาที่จะสร้างรถไฟฟ้าสายสีเทา(วัชรพล-ทองหล่อ- พระราม 9 -ท่าพระ)รองรับไว้แล้ว แต่ระหว่างที่รอระบบใหม่จะต้องบริหารจัดการระบบเก่าที่ใช้บริการอยู่ในปัจจุบันว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไปโดยเฉพาะช่วงของการเปลี่ยนผ่านตั้งแต่เดือนมีนาคม 2560 ล่าสุดสภากรุงเทพมหานครตั้งคณะกรรมการขึ้นมาช่วยสจส.ดูแลเรื่องดังกล่าวนี้ด้วย ส่วนอัตราค่าโดยสารใหม่นั้นเบื้องต้นจะจัดเก็บระยะทาง 10 บาทตลอดสาย แต่หากใช้บริการครึ่งระยะทางช่วงตัดกับถนนนราธิวาสราชนครินทร์-ถนนพระราม 3 จะจัดเก็บเพียง 5 บาทเท่านั้น"

ด้านนายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า ยืนยันพร้อมให้บริการอย่างต่อเนื่องปัจจุบันมีผู้โดยสารใช้บริการรถบีอาร์ทีวันละ 2-3 หมื่นคน ป้อนผู้โดยสารให้กับรถไฟฟ้าบีทีเอสที่สถานีตลาดพลูและสถานีช่องนนทรีวันละไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นคน

"ส่วนการให้บริการบีทีเอสเส้นทางสุขุมวิทและสีลมช่วงระยะที่ได้รับสัมปทานยืนยันจะยังไม่ปรับราคาในช่วงนี้ โดยภายในเดือนธันวาคมนี้เร่งทดลองเปิดเชื่อมสถานีสำโรง ส่วนที่จะเชื่อมถึงสถานีเซ็นทรัลลาดพร้าวคาดว่าจะทดลองให้บริการในช่วงปลายปี 2560 ปัจจุบันมีผู้โดยสารใช้บริการบีทีเอส 7-8 แสนคนต่อวันและยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะวันศุกร์จะทะลุ 8 แสนคน วันเสาร์ประมาณ 6 แสนคนและวันอาทิตย์ประมาณ 5 แสนคน"

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,194 วันที่ 22 - 24 กันยายน พ.ศ. 2559