ย้อนรอยรถไฟฟ้าขัดข้อง เกิดได้แต่...อย่าบ่อยจนซ้ำซาก

11 ก.ค. 2559 | 10:00 น.
วันนี้รถไฟฟ้ากลายเป็นระบบขนส่งมวลชนยอดนิยมของคนกรุงเทพฯ เพราะประหยัดเวลาในการเดินทางกว่าทางรถยนต์ สะดวกและปลอดภัย ฉะนั้นเมื่อเกิดเหตุรถไฟฟ้าขัดข้องย่อมส่งผลกระทบอย่างมากต่อผู้ที่ใช้บริการ โดยเฉพาะมนุษย์เงินเดือน หรือนักเรียน นักศึกษา เช่น เหตุการณ์ล่าสุด รถไฟฟ้า MRT ที่ให้บริการจากบางซื่อถึงหัวลำโพง เกิดขัดข้องที่สถานีสุทธิสาร มีทั้งเสียงดังคล้ายระเบิดและกลุ่มควันขึ้นในตัวรถ สร้างความแตกตื่นขึ้นในหมู่ผู้โดยสาร โชคดีที่ไม่มีผู้เสียชีวิตจากเหตุชุลมุน "ฐานเศรษฐกิจ"ได้รวบรวมข้อขัดข้องที่เกิดกับรถไฟฟ้าทั้งระบบภายในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งสามารถสรุปได้ดังนี้

BTS รถไฟฟ้าเส้นทางแรกในกทม.

รถไฟฟ้า BTS ในสังกัดของกรุงเทพมหานคร เปิดให้บริการในปี 2542 โดยบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) หรือ บีทีเอสซี มีขบวนรถไฟฟ้าให้บริการทั้งหมด 35 ขบวน ความยาวขบวนละ 3 ตู้ รวมเป็น 105 ตู้ ผลิตโดยบริษัท ซีเมนส์ จำกัด ซึ่งในปัจจุบัน บริษัทมีรถไฟฟ้าให้บริการทั้งสิ้น 52 ขบวน ความยาวขบวนละ 4 ตู้ รวม 208 ตู้ แบ่งเป็น 2 สาย คือ สายสุขุมวิท (หมอชิต-แบริ่ง) และสายสีลม (สนามกีฬาแห่งชาติ-บางหว้า) โดยยอดผู้โดยสารตั้งแต่เปิดเดินรถจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2559 มี 2,444,543,007 เที่ยวคน หรือปัจจุบันมีผู้โดยสารตามปกติสูงสุดถึงเกือบ 9 แสนเที่ยวคนต่อวัน

[caption id="attachment_69425" align="aligncenter" width="377"] BTS BTS[/caption]

สำหรับเหตุการณ์ความขัดข้องที่เกิดขึ้น จนเกิดเป็นข่าวร้อนในโลกโซเชียล มี 5-6 เหตุการณ์ ดังนี้ วันที่ 3 พฤศจิกายน 2553 รถไฟฟ้า BTS สายสีลม เกิดขัดข้องจากจุดสับรางที่สถานีสนามกีฬาแห่งชาติ ทำให้ขบวนรถไฟฟ้าที่วิ่งเข้าสถานีสนามกีฬาแห่งชาติไม่สามารถกลับขบวนรถ เพื่อวิ่งกลับ มายังสถานีสยาม เพื่อมุ่งหน้าไปสถานีราชดำริได้ กว่าจะแก้ไขปัญหาดังกล่าวจนสามารถกลับมาเดินรถตามปกติใช้เวลานานประมาณครึ่งวัน

วันที่ 1 มิถุนายน 2556 รถไฟฟ้า BTS สายสีลม ขบวนรถจากสถานีวงเวียนใหญ่ไปค้างที่สถานีกรุงธนบุรีนาน ส่งผลให้ไม่มีขบวนจากสถานีสนามกีฬาแห่งชาติ ไปยังสถานีวงเวียนใหญ่

วันที่ 24 ธันวาคม 2556 เกิดเหตุขัดข้อง ไม่สามารถให้บริการได้ในทุกสถานีทั้งสายสุขุมวิท และสายสีลม สืบเนื่องมาจากระบบควบคุมการเดินรถขัดข้อง สาเหตุที่ระบบขัดข้องมาจากการติดตั้งประตูอัตโนมัติชานชาลา ผู้บริหารบีทีเอสยอมรับระบบขัดข้องครั้งนี้ใหญ่ที่สุดสูญเสียรายได้ 5 ล้าน

วันที่ 25 กันยายน 2557 รถไฟฟ้า BTS สายสุขุมวิท จุดสับรางระหว่างสถานีอโศกไปพร้อมพงษ์ขัดข้อง ทำให้ขบวนรถที่จะวิ่งผ่านจุดนี้ต้องวิ่งด้วยความเร็วต่ำกว่าปกติ ทำให้เกิดความล่าช้า ส่งผลให้ขบวนรถในสายสุขุมวิทต้องจอดแต่ละสถานีนานกว่าปกติ

วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2559 รถไฟฟ้า BTS สายสุขุมวิท เกิดขัดข้องบริเวณจุดสับรางระหว่างสถานีชิดลม-สยาม ส่งผลให้ความถี่ในการให้บริการลดลง

วันที่ 18 เมษายน 2559 รถไฟฟ้า BTS สายสุขุมวิท เกิดขัดข้อง ทำให้ขบวนรถล่าช้า เบื้องต้น ยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดว่ารถไฟฟ้าบีทีเอส สายสุขุมวิท ขัดข้องด้วยเหตุใด

MRTระบบใต้ดินแห่งแรก

รถไฟฟ้ามหานคร สายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางซื่อ เปิดเดินรถวันที่ 3 กรกฎาคม 2547 เป็นระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนในกรุงเทพมหานคร และเป็นระบบใต้ดินแห่งแรกของประเทศไทย ดำเนินการโดยบริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BEM) โดยได้รับสัมปทานจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) สำหรับเหตุการณ์ความไม่สะดวกที่เกิดขึ้นมี

วันที่ 17 มกราคม 2548 เกิดเหตุรถไฟฟ้าใต้ดิน ชนกันที่สถานีศูนย์วัฒนธรรม ทำให้รถไฟเสียการทรงตัวและตกรางมีผู้โดยสารได้รับบาดเจ็บ สาเหตุระบบควบคุมรถไฟฟ้าทั้ง 2 ขบวนได้เกิดขัดข้องโดยไม่ทราบสาเหตุ วันที่ 2 ตุลาคม 2558 รถไฟฟ้าใต้ดินเสียระหว่างทาง 1 ขบวน ผู้โดยสารตกค้างที่สถานีบางซื่อจำนวนมาก

วันที่ 26 ตุลาคม 2558 รถไฟฟ้าใต้ดิน ขาไปหัวลำโพงขัดข้อง การเดินรถล่าช้ากว่าปกติในการให้บริการประมาณ 15 นาที วันที่ 1 มิถุนายน 2559 ระบบประตูอัตโนมัติของรถไฟฟ้าใต้ดินขัดข้อง ทำให้ทางเจ้าหน้าที่ต้องทำการปิดประตูเข้าออกสถานีรถไฟฟ้าที่ขัดข้อง โดยงดรับบัตรและเหรียญ และให้ผู้ใช้งานทุกท่านซื้อตั๋วกระดาษแทน ส่งผลให้เกิดความล่าช้า เพราะผู้ใช้งานต้องต่อคิวเข้าแถวซื้อตั๋วยาวทุกสถานี

วันที่ 29 มิถุนายน 2559 แจ้งขบวนรถขัดข้องช่วงสถานีพระราม 9-บางซื่อ เนื่องจากมีรถไฟฟ้า 1 ขบวนงดให้บริการ ต้องเข้าศูนย์ซ่อมบำรุงที่สถานีพระราม 9 วันที่ 5 กรกฎาคม 2559 รถไฟฟ้าขัดข้องที่สถานีสุทธิสาร ฝั่งขาล่อง เกิดเหตุระบบหม้อแปลงที่จ่ายไฟฟ้าให้กับรางที่ 3 ขัดข้อง เนื่องจากอุปกรณ์ตัดต่อไฟเปิดและปิดเองชั่วขณะโดยไม่ทราบสาเหตุ ทำให้ขบวนรถจะเข้าจอดที่สถานีสุทธิสารมีกลุ่มควันออกมาจากขบวนรถ ระบุไม่ได้ว่ามาจากส่วนไหนของขบวนรถ

แอร์พอร์ตเรลลิงค์ ซิตีไลน์เชื่อมสุวรรณภูมิ

รถไฟฟ้าเชื่อมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ หรือรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงค์ โครงการของการรถไฟแห่งประเทศไทย และดำเนินงานโดยบริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด เปิดเดินรถอย่างเป็นทางการวันที่ 23 สิงหาคม 2553 เกิดเหตุการณ์ใหญ่ที่ความระทึกแก่ผู้โดยเมื่อวันที่ 21 มีนาคม 2559 รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงค์ จากสถานีสนามบินสุวรรณภูมิ เข้าเมืองที่สถานีพญาไท เกิดขัดข้อง จากเหตุกระแสไฟฟ้าของสถานีจ่ายไฟสถานีรามคำแหงขัดข้อง ต้องหยุดให้บริการที่สถานีหัวหมาก-รามคำแหง ส่งผลให้ประชาชนที่ใช้บริการจำนวนมากต้องติดอยู่ภายในรถนานกว่า 30 นาที และส่งผลให้เกิดความวุ่นวายเมื่อระบบไฟฟ้าและเครื่องปรับอากาศดับลง ทำให้ประชาชนที่อยู่ภายในต้องอยู่ในสภาพอึดอัด จนบางส่วนตัดสินใจงัดประตูออกเพื่อให้มีอากาศเข้าไปในขบวนรถ

เหตุการณ์ความไม่สะดวกที่เกิดขึ้น ถือเป็นโชคดีที่ไม่มีเหตุร้ายถึงขั้นเสียชีวิต มีแค่ผู้คนเดือดร้อนที่ไปทำงานสาย ซึ่งพอรับได้ แต่ถ้าเยอะไปจนกลายซ้ำซาก เป็นหน้าที่ผู้บริหารรถไฟฟ้าแต่ละสายต้องศึกษาความผิดพลาดเพื่อหาทางแก้ไม่ให้มากจนคนทนไม่ไหว !!!

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,173 วันที่ 10 - 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2559