พระราม4 บูมไม่หยุด บิ๊กอสังหาฯช้อปที่ดิน-ตึกเก่า พลิกสู่โกลบอล เดสติเนชั่น

10 ต.ค. 2567 | 05:05 น.

ทำเลพระราม4 บูมไม่หยุด บิ๊กโปรเจ็กต์มิกซ์ยูส วัน แบงค็อก -ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค ทยอยเปิดให้บริการ พลิกสู่โกลบอล เดสติเนชั่น บิ๊กสังหา ช้อปตึกเก่า LH ทุบโรงงานทอผ้าขึ้น โรงแรม SC ช้อป ตึกศรีเฟื่องฟุ้ง ตร.ว.ละ3ล้าน ภัตตาคารจันทร์เพ็ญ ไม่ขาย เดอะ คราวน์ เรสซิเดนท์เซส เชื่อม2CBD

ที่ดินใจกลางเมืองมีความเคลื่อนไหวอย่างต่อเนื่องและแม้เป็นทำเลยอดมงกฎเพชรราคาแพงระยับ แต่มองว่ามีความคุ้มค่า ไม่ว่าจะฟรีโอลด์และลิสโฮลด์  ที่ดีเวลลอปเปอร์ยักษ์ใหญ่ชิงความได้เปรียบ พัฒนาโครงการหรู เจาะกลุ่มลูกค้าพรีเมียมทั้งคนไทยและต่างชาติ 

วัน แบงค็อก

ร้อนแรงที่สุดในเวลานี้ ต้องยกให้ “ถนนพระราม4”  จากย่านสงบถูกพลิกโฉมเป็นอภิโปรเจ็กต์มิกซ์ยูส  ดึง “ทราฟฟิก” เข้าพื้นที่ไม่ขาดสาย ตั้งแต่ หัวมุมของถนนพระราม4ตัดกับถนนพญาไท “สามย่านมิตร ทาวน์” ทอดยาวไปจน ถึง ถนนวิทยุตัดกับถนนพระราม4

โครงการ “วัน แบงค็อก” อาณาจักรบิ๊กโปรเจ็กต์ ของกลุ่มเฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ โดยมีนายปณต สิริวัฒนภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร  ทายาทเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี เป็นหัวเรือใหญ่  พร้อมเปิดบริการเฟสแรกวันที่ 25 ตุลาคม2567  ส่งผลให้ที่ดินรัศมีโดยรอบปรับตัวสูงจากเดิม 1.5 ล้านบาทต่อตารางวา เป็น 2.5 ล้านบาทต่อตารางวาและมีแนวโน้มขยับสูงได้อีก

ภัตตาคารจันทร์เพ็ญ

ข้ามฝั่งมาที่ “ภัตตาคาร จันทร์เพ็ญ” ที่ดินฟรีโฮลด์ ตั้งอยู่ติดถนนพระราม4 ตรงข้าม “วัน แบงค็อก” เนื้อที่กว่า 5 ไร่เศษ ห่างจาก MRT ลุมพินี 300 เมตร ที่นี่ มีกระแสต่อเนื่องว่ามีนายทุนหลายรายหมายปอง 

“ฐานเศรษฐกิจ” สอบถามไปยังผู้บริหาร ที่ดูแลภัตตาคารแห่งนี้ และมีอายุเก่าแก่ อยู่คู่ถนนพระราม4 มากว่า 80 ปี แห่งนี้ซึ่งได้คำตอบว่า เจ้าของเป็นนักธุรกิจโรงงานนํ้าส้มสายชูยี่ห้อดัง ชาวไต้หวัน ปัจจุบันทายาทรุ่นหลานสืบทอดกิจการ  ยืนยันว่าไม่ขาย เพราะมีประวัติศาสตร์อันยาวนานที่น่าจดจำและเป็นภัตตาคารแรกและแห่งเดียวที่มี “ตราครุฑ” ประทับ อยู่หน้าร้าน ขณะราคาที่ดินอยู่ที่ตารางวาละ 2.5ล้านบาท

 

ถัดจากที่ดิน “ภัตตาคารจันทร์เพ็ญ” บริเวณปากซอยงามดูพลี  ติดถนนพระราม4 ตรงข้าม วัน แบงค็อก  จะเห็น โครงการโรงแรมสูงแห่งใหม่ 40 ชั้น อยู่ระหว่างก่อสร้าง “เดอะแกรนด์ เช็นเตอร์พอยต์ ลุมพินี” ของ นายอนันต์ อัศวโภคิน  เจ้าของ บริษัทแลนด์แอนด์เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) หรือ LH   คาดว่าจะแล้วเสร็จปลายปีนี้  โดยที่ดินแปลงนี้ เดิมทีเป็นที่ตั้งของโรงงานท่อผ้าเก่า หรือ โรงงาน “ประณีตอุตสาหกรรม” ที่ ยกเลิกกิจการไปนาน เมื่อนำมาพัฒนาเป็นโรงแรมหรูจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับพื้นที่อย่างมาก

โรงแรมหรูช่วงกำลังก่อสร้าง(เปิดปลายปีนี้ )

นอกจากนี้ยังมี โครงการคอนโดมิเนียมหรู “เดอะ คราวน์ เรสซิเดนท์เซส” มูลค่า2,200 ล้านบาท สูง 32 ชั้น ทั้งหมด 183 ยูนิต ราคา 6.9-25 ล้านบาทที่ได้เปิดตัวโครงการล่าสุดเจาะกลุ่มกำลังซื้อสูงทั้งไทยและต่างชาติที่ชื่นชอบโครงการแบบฟรีโฮลด์ บนพื้นที่ไร่เศษ ของ นายสุนทร สถาพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท สถาพร เอสเตท จำกัด และนายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร ตั้งอยู่ระหว่าง MRTคลองเตย และ MRTลุมพินี 300 และ 450 เมตร รวมถึงจุดขึ้น-ลง ทางด่วนพิเศษเฉลิมมหานคร รายล้อมไปด้วยสถานที่สำคัญทั้งสถานศึกษา โรงพยาบาล และแหล่งรวมไลฟ์สไตล์ชั้นนำมากมาย

ที่นายสุนทร ระบุว่า เป็นทำเลศักยภาพ ท่ามกลาง New Global Landmark Destination โดดเด่นด้วยทำเลที่เชื่อมต่อทุกความสะดวกสบายใจกลาง Hub of Bangkok Connections เชื่อมต่อ 2 CBDs ทั้งสุขุมวิท และสีลม-สาทร ซึ่งเป็นทำเลระดับ Ultra CBD และเป็นนิยามใหม่ของการใช้ชีวิตใจกลางเมือง แต่แวดล้อมไปด้วยพื้นที่สีเขียวของธรรมชาติจากสวนขนาดใหญ่ของกรุงเทพฯ ทั้งสวนลุมพินี และสวนเบญจกิติ ทั้งยังโอบล้อมด้วยวิวโค้งนํ้าบางกระเจ้า เชื่อมต่อบรรยากาศรอบโครงการให้เติมเต็มทุกมิติของการใช้ชีวิต สะดวกสบายในทุกการเดินทาง ที่สำคัญใกล้กับโครงการ “วัน แบงค็อก” 

นอกจากนี้ยังมี อาคารสำนักงาน อาคารลุมพินี ทาวเวอร์ พื้นที่สำนักงานให้เช่าทำเลพระราม 4 ตั้งอยู่บนถนนพระราม 4-สีลมใกล้รถไฟฟ้า BTS สถานีศาลาแดง ของค่ายแอลพีเอ็น ที่เปิดให้บริการ

ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค

ขณะโครงการใหญ่ ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค เป็นโครงการมิกซ์ยูสครอบคลุมพื้นที่กว่า 23 ไร่ บนที่ดินสำนักทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ บนทำเลหัวมุม ถนนสีลมตัดกับ ถนนพระราม4 ส่งผลให้ถนนเส้นนี้ร้อนแรงเปิดให้บริการในส่วนโรงแรมไปแล้ว และมีแผนเปิดในส่วนที่อยู่อาศัยปีหน้า

ที่น่าจับตาและเป็นกระแสมาต่อเนื่อง คือ อาคาร ศรีเฟื่องฟุ้ง  ถนนพระราม 4 แขวงสีลม เขตบางรัก  ใกล้ MRT สถานีลุมพินี อยู่ฝั่งตรงข้ามสวนลุมพินี ใกล้โรงแรมโซฟิเทล โซ แบงคอก สูง 10 ชั้น พื้นที่ให้เช่าทั้งอาคาร 6,000 ตารางเมตร ซึ่งเป็นอาคารเก่าแก่ตั้งอยู่บนถนนพระราม4 มากว่า 50 ปี  ล่าสุดอยู่ระหว่างรื้อถอนเพื่อพัฒนาโครงการใหม่

พระราม4

 มีรายงานข่าวจากบริษัท ไนท์แฟรงค์ ชาร์เตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ระบุว่า  เจ้าของใหม่  เป็น บริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)  หรือ SC  ตระกูลชินวัตร  ซื้อที่ดินในราคาตารางวาละ 3 ล้านบาท และมีแผนติดเครื่องยนต์ธุรกิจต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็นโรงแรม อาคารสำนักงาน ฯลฯนอกจากนี้ ที่ทุบทิ้งและสร้างใหม่ ย่านสีลม คือโรงแรมนารายณ์ ดำเนินการโดย บริษัท นารายณ์โฮเต็ล จำกัด มีเป้าหมายพัฒนาเป็นมิกซ์ยูสโรงแรม 6 ดาว มูลค่าไม่ตํ่ากว่าหมื่นล้านบาท

รวมถึงอาคาร “บุญมิตร สีลม” ที่ปัจจุบันเป็นของกลุ่มแหลมทองสหการ ตระกูลคณาธนะวนิชย์ ดำเนินธุรกิจด้านการพืชผลทางการเกษตร ปศุสัตว์ และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ประเภท อาคารสำนักงาน “แบรนด์วานิช”แลนด์ลอร์ดใหญ่สะสมที่ดินนับหมื่นล้านบาท ในเขตกรุงเทพฯ ที่ซื้อที่ดิน4ไร่ ในราคา ตารางวาละ3ล้านบาท รวมมูลค่ากว่า 4,200 ล้านบาท ทุบทิ้งพัฒนาเป็นอาคารสำนักงานเกรดเอ ที่ยังคงใช้ชื่อเดิม 

ที่ไม่พูดถึงไม่ได้ ที่ดินแปลงประวัติศาสตร์ทำเลทองคำฝังเพชร “MBK Life” อาคารพร้อมที่ดิน  บนถนนสารสิน ย่านปทุมวัน ตารางวาละ 3.9 ล้านบาท ติดสวนลุมพินี  ที่บมจ.แสนสิริ ทำนิวไฮที่ดินแพงสุดในประเทศไทย ปิดดีล เดือนเมษายน 2563  สวนทางสถานการณ์โควิด และมีแผนสร้างคอนโดมิเนียมหรู ตารางเมตรละกว่า1ล้านบาท ในอนาคต ซึ่ง ล้มแชมป์เก่า เอสซีแอสเสท และสโคปที่ประมูลบ้านและที่ดินในซอยหลังสวนของคนในตระกูลพิชัยรณรงค์สงคราม ปี 2561 สูงถึง 3.1 ล้านต่อตารางวา  และพัฒนาพร้อมเปิดขายเป็นคอนโดมิเนียมหรู “สโคปหลังสวน” ในปัจจุบัน

ยังมีที่ดินอีกมาก ในย่านใจกลางเมือง แม้จะแน่นไปด้วยอาคารสูงใหญ่ แต่ใครจมูกไว สายป่านยาว วิสัยทัศน์ดี  ย่อมได้เปรียบ !!!

 

หน้า 20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 44 ฉบับที่ 4,034 วันที่ 10 - 12 ตุลาคม พ.ศ. 2567