อสังหาอ่วมขึ้นค่าแรงทุบซ้ำ ลดดอกเบี้ยไร้ผล  กำลังซื้อหด แบงก์เข้มปล่อยกู้

25 ก.ย. 2567 | 04:53 น.

อสังหาฯอ่วมขึ้นค่าแรงทุบซํ้า  กูรูชี้ “ลดดอกเบี้ย”อาจไร้ผล เหตุ กำลังซื้อในประเทศเปราะบางขาดความเชื่อมั่น หนี้ครัวเรือนบาน แบงก์เข้มงวดปล่อยกู้ ปฏิเสธสินเชื่อสูง 

 

ภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ มีความหวังว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ธนาคารแห่งประเทศไทย จะพิจารณาปรับลดดอกเยี้ยนโยบายลง ตาม ธนาคารกลางสหรัฐ (FED : เฟด) ภายในปลายปีนี้ เช่นเดียวกับอีกหลายประเทศทั่วโลกซึ่งมองว่าเป็นผลดีต่อการกระตุ้นกำลังซื้อในตลาดอสังหาริมทรัพย์ และลดต้นทุนผู้ประกอบการลงได้อย่างมาก    

 

 

 

ในเวลาเดียวกันรัฐบาลมีนโยบายปรับขึ้นค่าแรง  400บาท ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นภายในปีนี้ ซึ่งเดิมที่จะมีกำหนดปรับขึ้นทั่วประเทศในวันที่1ตุลาคมนี้ แต่การประชุมต้องล่มเสียก่อน และเลื่อนไปไม่มีกำหนด เพื่อรอคณะกรรมการ (บอร์ด) ค่าจ้าง แต่งตั้งกรรมการคนใหม่หลังหลายราย เกษียณอายุราชการ

ท่ามกลางภาคเอกชนไม่เห็นด้วยเพราะมองว่าจะเป็นการซํ้าเติมภาวะเศรษฐกิจที่กำลังบอบชํ้า อีกทั้งยังเป็นชนวนให้ค่าครองชีพถีบตัวสูงล่วงหน้าไปก่อนหน้านี้

วิชัย วิรัตกพันธ์

ในมุม ดร.วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคาร และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหา ริมทรัพย์  เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า มีแนวโน้มว่าในช่วงปลายปีนี้จะได้เห็นการลดดอกเบี้ยของกนง. ที่ 0.25% ในรอบการประชุมเดือนตุลาคมนี้ หรือได้เห็นดอกเบี้ยลดลง25 สตางค์ภายในปีนี้ 

ส่งผลดีต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์ในช่วงโค้งสุดท้ายของปีสำหรับคนที่มีกำลังซื้อและพร้อมจะมีบ้านรวมถึงนักลงทุน ซึ่งจะมาสมทบกับมาตรการของรัฐที่กระตุ้นไปก่อนหน้านี้ อาทิ ลดค่าโอน-จดจำนอง บ้านราคาไม่เกิน 7 ล้านบาท และผู้ประกอบการออกแคมเปญเสริมซึ่งจะช่วยลดสต๊อกที่อยู่อาศัยที่มีในมือลดลง 

ในมุมกลับกัน นักวิเคราะห์ตลาดทุน ประเมินว่า แม้ว่าดอกเบี้ยนโยบายอาจจะลดลง 0.25% แต่ตามข้อเท็จจริง คนในประเทศไม่มีกำลังซื้อ สถาบันการเงินเข้มงวดการปล่อยสินเชื่อ มองว่า การลดดอกเบี้ย ย่อมได้อานิสงส์ไม่มาก

ธนิต โสรัตน์

เพราะตลอดทั้งปี ผู้ประกอบการจัดแคมเปญกระตุ้นกำลังซื้อต่อเนื่องลด-แลก-แจก-แถม ดอกเบี้ยตํ่า อยู่ฟรีและฟรีโอน แต่ยังติดแบงก์ไม่ปล่อยกู้ หรือการปฏิเสธสินเชื่อค่อนข้างสูง ขึ้นเรื่อยๆ โดยมีตัวแปรมาจากหนี้ครัวเรือนที่พุ่งสูงต่อเนื่องนั่นเอง 

ขณะการปรับขึ้นค่าแรง 400บาท ที่นางสาวแพทองธาร ชินวัตรนายกรัฐมนตรีประกาศว่าจะต้องเกิดขึ้นภายในปีนี้ จะซํ้าเติมตลาดอสังหาริมทรัพย์ ที่กลายเป็นต้นทุนเข้ามา ทั้งที่ปัจจุบัน ต้นทุนค่าก่อสร้างปรับตัวสูงอยู่ก่อนแล้วทั้งต้นทุนที่ดิน วัสดุก่อสร้าง พลังงาน ค่าขนส่ง ฯลฯ

ส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องปรับราคาขึ้นเฉลี่ย 5% และหาก ค่าแรงปรับขึ้นอีก แน่นอนว่าจะมีต้นทุนเข้าสมทบอีกประมาณ5% รวมของเดิม 10% เมื่อ แจกแจงเป็นค่าผ่อนบ้านแล้วเดิม อาจผ่อนในราคา เดือนละ 4,000 บาท โครงการใหม่จะถูกปรับราคาเป็นเฉลี่ย 4,500 ถึง 5,000 บาทต่อเดือนทันที เป็นต้น

ก่อนหน้านี้ดร.อาภา อรรถบูรณ์วงศ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ริชี่ เพลซ 2002 จำกัด (มหาชน) (RICHY) และนายกกิตติมศักดิ์สมาคมอาคารชุดไทย คัดค้านมาโดยตลอดกับนโยบายปรับขึ้นค่าแรงขั้นตํ่า400บาท และ600บาทภายในปี2570

เพราะนโยบายนี้นอกจากจะกระทบต้นทุนผู้ประกอบการ ผู้ซื้อและตลาดอสังหาริมทรัพย์ในภาพรวมแล้ว ยังผลักดันค่าครองชีพให้สูงขึ้นจากการปรับขึ้นของราคาสินค้าไปก่อนล่วงหน้า

 เช่นเดียวกับแหล่งข่าวจากวงการอุตสาหกรรมก่อสร้าง ระบุว่า กลุ่มผู้รับเหมาได้รับผลกระทบต่อต้นทุนค่าแรงที่จะปรับเพิ่มขึ้น  ซึ่ง จากเดิมที่ได้รับผลกระทบต่อต้นทุนวัสดุก่อสร้าง พลังงาน ค่าขนส่ง ที่มากอยู่ก่อนแล้ว

โดยเฉพาะผู้รับเหมารายเล็กกระทบค่อนข้างมาก  ขณะปริมาณงานที่ออกมาจากภาครัฐยังไม่มากนัก  ส่วนดอกเบี้ยหากลดลงอาจช่วยได้บ้างแต่มองว่าค่าแรงจะกระทบมากกว่า

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย สะท้อนว่าการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นตํ่าเพื่อให้ลูกจ้างมีรายได้ และชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นเป็นสิ่งที่ดี แต่ควรอยู่บนพื้นฐานของกฎหมาย และภายใต้กลไกของไตรภาคี

ที่ใช้กันมานานกว่า 50 ปี ซึ่งจะใช้เรื่องใดบ้างเป็นเหตุผลหรือเป็นสูตรในคำนวณ ก็สามารถปรับเปลี่ยนให้เข้ากับยุคสมัยได้ โดยที่ทุกฝ่ายให้การยอมรับ เพื่อให้ลูกจ้างและนายจ้างอยู่ได้ทั้งสองฝ่าย

อย่างไรก็ดี เรื่องการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นตํ่าภายใต้การชี้นำของภาคการเมือง เพื่อให้มีการปรับขึ้นตามนโยบายที่ได้หาเสียงไว้ อยากให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ไปพิจารณาว่ารัฐบาลสามารถทำได้ หรือไม่ได้อย่างไร เพื่อสร้างความชัดเจนแก่ทุกฝ่าย

เพราะไม่เช่นนั้นนักการเมืองก็จะใช้นโยบายการปรับขึ้นค่าแรงแข่งหาเสียงไปตลอด พอได้มาเป็นรัฐบาลก็จะมาแทรกแซงกลไกไตรภาคีเพื่อกดดันให้มีการขึ้นค่าแรงตามนโยบายที่หาเสียงไว้ ซึ่งรอบต่อไปอาจจะหาเสียงเกทับกันเป็น 1,000 บาท หรือ 1,200 บาทต่อวันก็เป็นได้ ทั้งที่ไม่มีกฎหมายรองรับหรือให้อำนาจไว้

 

หน้า20 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 44 ฉบับที่ 4,030 วันที่ 26 - 28 กันยายน พ.ศ. 2567