ย้ายขนส่งจากหมอชิตไปรังสิต แก้ปัญหาหรือก่อปัญหา

02 มิ.ย. 2559 | 12:00 น.
892
เมื่อกระทรวงคมนาคมโดยนายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคมเคาะความชัดเจนกรณีการย้ายสถานีผู้โดยสารกรุงเทพฯหรือที่เรียกกันติดปากว่าสถานีขนส่งหมอชิตจากย่านสถานีกลางบางซื่อที่ปัจจุบันอยู่ระหว่างการก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อของรถไฟฟ้าสายสีแดงช่วงบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชันไปอยู่ที่รังสิตโดยใช้สถานที่สถานีขนส่งรังสิตซึ่งเป็นพื้นที่ของบริษัทขนส่งจำกัด(บขส.)รองรับการย้ายแบบสายฟ้าแลบในครั้งนี้

[caption id="attachment_58174" align="aligncenter" width="700"] การจราจรบริเวณรังสิต การจราจรบริเวณรังสิต[/caption]

พร้อมกับเตรียมเฉลี่ยรถในสังกัดบขส.ให้ใช้พื้นที่ประมาณ 16 ไร่ที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ใจดีแบ่งให้เช่าและได้จัดพื้นที่เอาไว้ให้ ซึ่งปัจจุบันใช้เป็นพื้นที่จอดรถขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ(ขสมก.)เพื่อจอดรถบขส.ในระยะทางห่างจากกทม.ประมาณ 200-300 กิโลเมตร ทั้งมีแผนจะนำรถตู้ในสังกัดบขส. ที่ปัจจุบันจอดอยู่ตามพื้นที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิไปไว้ที่บนศูนย์ซ่อมรถไฟฟ้าบีทีเอสในปัจจุบันซึ่งเป็นพื้นที่การดูแลของกรมธนารักษ์อีกด้วย สำหรับสถานีรังสิตนั้นมีแผนจะให้รถบขส.ที่วิ่งระยะทางไกลเข้าไปจอดรับ-ส่งผู้โดยสาร โดยให้เร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จในปี 2559-2560 นี้

นโยบายการย้ายสถานีขนส่งผู้โดยสารหรือ "สถานีขนส่งหมอชิต" ของรถบขส.ไปอยู่รังสิตเพื่อจะให้เป็น "สถานีหมอชิตแห่งที่ 3" ตามนโยบายของรมช.ออมสินที่เข้าใจว่าต้องการให้สามารถส่งมอบพื้นที่การก่อสร้างให้กับบริษัทรับเหมาโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดงที่ล่าช้ามานาน แต่เนื่องจากอาจจะได้รับข้อมูลจากผู้เกี่ยวข้องไม่ชัดเจนหรืออย่างไรก็ไม่อาจทราบได้ จึงสั่งให้โยกรถบขส.ระยะทางไกลไปอยู่ที่รังสิต

"สถานีขนส่งรังสิต" ปัจจุบันมีพื้นที่ประมาณ 45 ไร่ แบ่งพื้นที่หลักออกเป็น 3 ส่วน คือ โซนด้านหน้าติดถนนพหลโยธินจะเป็นพื้นที่อาคารที่ทำการและที่พักผู้โดยสาร ส่วนพื้นที่โซนกลางจัดเป็นพื้นที่ปั๊มก๊าซและปั๊มน้ำมันของบริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) ส่วนโซนพื้นที่ด้านในเป็นลานจอดรถ ซึ่งสถานีแห่งนี้สามารถรองรับรถบขส.ที่จะเดินทางขาออกไปส่งผู้โดยสารในเส้นทางภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นหลัก ซึ่งตามนโยบายของรมช.คมนาคมนั้น บขส.จะนำพื้นที่ครึ่งหนึ่งมาก่อสร้างให้รองรับการปฏิบัติงานและผู้โดยสารทั้งที่มาจากภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ทั้งนี้ เมื่อผู้สื่อข่าวเข้าสำรวจพื้นที่เพื่อนำข้อเท็จจริงพบว่า ด้านศักยภาพและกายภาพของสถานีแห่งนี้หากบขส.นำไปใช้งานจากที่มองว่าเป็นการแก้ไขปัญหา กลับพบว่าน่าจะเป็นการก่อปัญหาจราจรมากกว่า เนื่องจากหากประเมินระยะทางจากแยกรังสิตช่วงตรงข้ามห้างสรรพสินค้าฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต ที่ปัจจุบันคลาคล่ำไปด้วยรถโดยสารสาธารณะ ทั้งรถตู้-รถแท็กซี่ รถสองแถว ตลอดจนจักรยานยนต์รับจ้างที่จอดเกะกะตามอำเภอใจ ตำรวจจราจรสภ.คลองหลวงได้แต่ทำตาปริบๆ ร้านค้าประเภทหาบเร่แผงลอยที่ค้าขายกันมานานยังมีให้เห็นอีกเพียบ บวกกับรถที่มาจากถนนรังสิต-นครนายก หรือถนนรังสิต-ปทุมธานีซึ่งจะมาบรรจบกันที่จุดดังกล่าวนี้ พื้นที่คับแคบของเส้นทางจึงส่งผลให้สภาพการจราจรติดขัด ประกอบกับศักยภาพของถนนพหลโยธินขาออก ช่องทางคู่ขนานสามารถให้บริการได้เพียง 2 เลน และคู่ขนานอีก 3 เลนก็ไม่เพียงพออยู่แล้ว นี่ยังไม่นับปริมาณรถจากถนนพหลโยธินขาออกที่หากใช้บริการเป็นประจำทุกวันจะพบว่าติดขัดตั้งแต่พื้นที่ตลาดสี่มุมเมืองหนาแน่นในช่วงเช้า-เย็นมานาน
ประการสำคัญศักยภาพและกายภาพของสถานีบขส.รังสิต ดูเหมือนว่าไม่ได้เอื้อต่อการรับนโยบายโยกย้ายของรมช.คมนาคมเลย จุดทางเข้าที่จะรองรับรถขาออกในช่วงเช้า-เย็นก็คับแคบ ติดปัญหาอุปสรรคนานัปการที่ไม่รู้ว่าผู้เกี่ยวข้องรายงานให้รมช.คมนาคมทราบอย่างถี่ถ้วนหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาจากแนวท่อก๊าซของปตท. แนวสายไฟฟ้าแรงสูงของการไฟฟ้าภูมิภาค การปักเสาตอม่อหรือก่อสร้างแลมป์เข้า-ออกคงต้องคิดให้รอบคอบอย่างมาก ยังไม่นับขนาดพื้นที่ที่โซนกลางจะมีปั๊มปตท.เปิดให้บริการอีกด้วย

เรียกได้ว่าพื้นที่ทั้งขาเข้า-ขาออกล้วนไม่เอื้ออำนวย เนื่องจากศักยภาพถนนมีเพียง 2 เลนแถมยังเจอแลมป์ทางลงโครงการทางยกระดับดอนเมืองโทลล์เวย์ขวางพื้นที่ขาออกด้านหน้าสถานีแบบเต็มๆหากปริมาณรถมีจำนวนมากกว่า 3,000-4,000 คันแค่แวะเวียนไปรับ-ส่งที่สถานีรังสิตจะส่งผลกระทบต่อปัญหาจราจรหนักหนาสาหัสอีกกว่าปัจจุบันนี้กี่ร้อยเท่า

แม้จะเป็นเพียงการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า แต่เมื่อจะไปก่อให้เกิดปัญหาแห่งใหม่ที่รังสิต กระทรวงคมนาคมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรกำหนดแผนรองรับให้ชัดเจน ตรงตามข้อเท็จจริง ไม่หมกเม็ดข้อมูลนำเสนอให้ผู้บริหารระดับสูงอนุมัติให้ดำเนินการ กรมการขนส่งทางบกและกรมทางหลวงจะเข้ามามีบทบาทในการแก้ไขปัญหามากน้อยแค่ไหน เพราะตามนโยบายรมช.คมนาคมจะไม่ให้ก่อปัญหาจราจรให้เกิดผลกระทบในพื้นที่คงต้องตามลุ้นกันต่อไปว่าเสียงคัดค้านของคนในพื้นที่ต่อกรณีดังกล่าวนี้จะมีมากขึ้นหรือไม่ นโยบายดังกล่าวจะก่อปัญหาจราจรมากน้อยแค่ไหน สมควรหรือไม่ที่จะพิจารณาพื้นที่ที่มีอยู่เดิมอาทิ บางซื่อ- พระราม 9- มักกะสันหรือหัวลำโพงมาปรับให้เป็นสถานีขนส่งผู้โดยสาร บขส.เพื่อให้ประชาชนเดินทางสะดวกสบายจากพื้นที่ใจกลางเมือง ซึ่งสะดวกกว่าที่จะเดินทางไปใช้บริการถึงรังสิตที่ใช้เวลาเดินทางไม่น้อยกว่า 1-2 ชั่วโมง(หากชั่วโมงเร่งด่วนและรถติดอาจจะมากกว่านี้อีกหลายเท่า) มีค่าเดินทางเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งยังไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตการเดินทางของคนไทยที่จะต้องหิ้ว อุ้ม แบกหามสัมภาระต่างๆ ที่ยังปรากฏให้เห็นจนชินตา

ย้าย บขส.ไปรังสิต คิดใหม่ดีไหมครับ...ท่านรมช.คมนาคม

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,162 วันที่ 2 - 4 มิถุนายน พ.ศ. 2559