ลูกบ้าน “แอชตันอโศก” ร้องสคบ. ยื่นคำขาดไร้ทางออก-ยกเลิกสัญญา

10 ส.ค. 2566 | 13:02 น.
อัปเดตล่าสุด :10 ส.ค. 2566 | 13:19 น.
1.9 k

ผู้เสียหายจากโครงการ “แอชตันอโศก” คอนโดมิเนียมหรูกลางใจเมืองกว่า 20 คน ร้องเรียนกับ สคบ. ยื่นคำขาดหากไร้ข้อสรุปทางออก พร้อมขอยกเลิกสัญญา ยื่นร้องแล้ว 5 ราย มูลค่าความเสียหายเฉียด 70 ล้าน

แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เปิดเผยกับฐานเศรษฐกิจว่า ขณะนี้ได้มีผู้เสียหายจากโครงการ “แอชตันอโศก” คอนโดมิเนียมหรูกลางใจเมือง จำนวนประมาณ 20 คน ได้เดินทางเข้ามาร้องเรียนกับ สคบ. เพื่อขอให้ บริษัท จัดหาทางออกที่ถูกต้องตามกฎหมาย หากไม่สามารถดำเนินการได้ขอจำเป็นต้องยกเลิกสัญญา พร้อมให้จ่ายเงินคืน พร้อมดอกเบี้ย

ทั้งนี้ในการเข้าร้องเรียนกับ สคบ. ครั้งนี้ ลูกบ้านของโครงการ แอชตันอโศก ได้รวมตัวกันมาปรึกษา สคบ. ก่อนว่า จะมีแนวทางการดำเนินการได้อย่างไรหรือไม่ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสัญญา เพราะเกรงว่าจะได้รับความเสียหาย ภายหลัง ศาลปกครองสูงสุดพิพากษายืนตามศาลปกครองกลาง สั่งเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร

“กลุ่มลูกบ้านของแอชตันอโศก รวมกลุ่มมาปรึกษา และขอข้อแนะนำกับสคบ. และในเบื้องต้นผู้ที่เตรียมเอกสารมาครบก็ได้ยื่นเรื่องร้องเรียนกับสคบ.แล้ว 5 ราย มูลค่าความเสียหาย 69,605,275 ล้านบาท เกี่ยวข้องกับสัญญาหลังโครงการถูกเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้าง มูลค่าความเสียหายกว่า 69.6 ล้านบาท โดยขอให้บริษัททางออกที่ถูกต้องตามกฎหมาย แต่ถ้าทำไม่ได้ขอยกเลิกสัญญา และต้องของเงินคืน พร้อมดอกเบี้ย” 

แหล่งข่าว ระบุว่า หลังจากมีผู้เสียหายมาร้องเรียนกับสคบ. แล้ว ขั้นตอนต่อไปอาจต้องดูก่อนว่าจะมีผู้เข้ามายื่นร้องเรียนเพิ่มเติมอีกหรือไม่ เพราะจากการหารือเบื้องต้น เห็นว่ายังมีผู้เสียหายอีกบางส่วนที่อาจเข้ามาร้องเรียนในกรณีเดียวกับ 5 รายที่ยื่นร้องเรียนแล้ว เมื่อรวบรวมข้อมูลได้พอสมควรแล้ว สคบ. โดยกองสัญญา จะเรียกทางตัวแทนบริษัทมาหารือเจรจาไกล่เกลี่ยจนได้ข้อสรุปต่อไป

ก่อนหน้านี้ มีการออกมาเปิดเผยทางออกสำหรับกรณีแอชตัน อโศก โดย นายประเสริฐ แต่ดุลยสาธิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ระบุว่า บริษัทกำลังเร่งพิจารณาหาแนวทางแก้ไขและจะแจ้งให้ลูกบ้านโครงการ แอชตัน อโศก ทราบในวันที่ 23 สิงหาคมนี้ ตามที่ขอเวลาไว้ 14 วัน 

สำหรับแนวทางที่มีความเป็นไปได้ มีด้วยกัน 5 แนวทาง ดังนี้

  1. ยื่นขอใบอนุญาตก่อสร้างใหม่ โดยการซื้อหรือหาที่ดินเพิ่มเติม 
  2. เสนอให้หน่วยงานภาครัฐแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องผ่านสำนักการโยธา กทม.ไปยังกรมโยธาธิการและผังเมือง กระทรวงมหาดไทย เพื่อส่งต่อไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) 
  3. เสนอให้หน่วยงานภาครัฐแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องผ่าน รฟม. เสนอผ่านกระทรวงคมนาคม ไปยัง ครม. 
  4. ประสานเจ้าของเดิมให้ยื่นทบทวนสิทธิที่ดินทางเข้า-ออกจาก รฟม. ให้ทบทวนสิทธิที่ดินเดิมก่อนเวนคืน ควรให้สิทธิทางเข้า-ออกอย่างน้อย 12-13 เมตร เพื่อให้สามารถขึ้นอาคารสูงและขนาดใหญ่พิเศษได้
  5. ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองเพื่อขอให้พิจารณาพิพากษาคดีใหม่