กทม. จ่อรื้อแนวทางขอก่อสร้างอาคารสูง หวั่นซ้ำรอย แอชตันอโศก 

07 ส.ค. 2566 | 21:03 น.
อัปเดตล่าสุด :07 ส.ค. 2566 | 21:08 น.
2.1 k

ผู้ว่าฯ กทม. ประชุมผู้บริหาร รับทราบความคืบหน้ากรณีโครงการ แอชตัน อโศก สำนักการโยธา เตรียมตั้งคณะกรรมการปรับปรุงแนวทางการขออนุญาตก่อสร้างอาคารสูงและอาคารขนาดใหญ่พิเศษ

วันนี้ (7 สิงหาคม 2566) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เป็นประธานการประชุมคณะผู้บริหาร กทม. โดยที่ประชุมได้หารือถึงความคืบหน้ากรณีการก่อสร้างโครงการ แอชตัน อโศก โดยสำนักการโยธา กทม. จะมีการตั้งคณะกรรมการปรับปรุงแนวทางการขออนุญาตก่อสร้างอาคารสูงและอาคารขนาดใหญ่พิเศษ ซึ่งจากนี้จะมีการออกคำสั่ง เพื่อทบทวนข้อมูลและกระบวนการที่มีอยู่ทั้งหมด

ทั้งนี้ในการดำเนินการล่าสุดเกี่ยวกับขั้นตอนของคดี ขณะนี้ สำนักการโยธา กทม. ได้แจ้งคำพิพากษาให้บริษัททราบแล้วเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2566 ที่ผ่านมา และได้แจ้งให้สำนักงานเขตปฏิบัติตามคำพิพากษา โดยสำนักงานเขตอยู่ระหว่างออกคำสั่งให้มายื่นใบขออนุญาตก่อสร้างใหม่ตามมาตรา 41 ต่อไป

ส่วนกรณีนายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน ต้องการให้กทม.ตั้งกรรมการตรวจสอบการทุจริตในการอนุญาตก่อสร้างนั้น ผู้ว่าฯ กทม. ระบุว่า คณะกรรมการคงไม่มีหลายชุด แต่กรรมการชุดที่จะตั้งขึ้นมานี้น่าจะทบทวนทั้งหมดและเอากรณีแอชตันเป็นกรณีศึกษา และหากใครมีเบาะแสการทุจริตก็ขอให้แจ้งเข้ามาเลย พร้อมที่จะเข้าไปดำเนินการ เรื่องของแอชตันมีขั้นตอนในการพิจารณา มีหลักการ ตอนนี้ยังไม่มีใครแจ้งเบาะแสการทุจริตเข้ามา ถ้าหากมีข้อมูลการทุจริตก็แจ้งเข้ามาได้

นายชัชชาติ กล่าวอีกว่า ส่วนการขออนุญาตก่อสร้างออนไลน์ยังมีไม่เยอะ น่าจะยังไม่คุ้นชิน ต้องค่อยเป็นค่อยไป ก็อาจมีแรงจูงใจเพิ่ม เช่น ขออนุญาตปกติระยะเวลาพิจารณา 45 วัน แต่ขออนุญาตออนไลน์ใช้เวลา 30 วัน เป็นต้น ซึ่งอาจช่วยให้มีการขออนุญาตก่อสร้างออนไลน์มากขึ้นในอนาคต

นอกจากนี้ที่ประชุมยังรับทราบความคืบหน้าการทำผังเมืองรวม กทม. โดยนายชัชชาติ ยอมรับว่า ปัจจุบันอยู่ระหว่างการรับฟังความคิดเห็น ซึ่งจะทำเป็นครั้ง เป็นรอบ ๆ ไป ล่าสุดเมื่อประมาณ 2-3 สัปดาห์ที่แล้ว กาคประชาพิจารณ์ความโปร่งใสมาจากการเปิดให้ประชาชนเห็น มีการชี้แจงอธิบายที่มาที่ไป คนที่ร่วมทำประชาพิจารณ์เป็นอาจารย์ กทม.ไม่ได้มีส่วนเข้าไปกำหนด แค่ให้นโยบาย แล้วก็พัฒนาตามหลักวิชาการ ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญและผู้ชำนาญการเป็นผู้ช่วยพิจารณา เรื่องนี้ไม่ได้เป็นกฎหมายที่ให้สิทธิ์ในการก่อสร้าง แต่เป็นแนวทางว่าแต่ละพื้นที่สามารถก่อสร้างอะไรได้บ้าง สุดท้ายก็ต้องมาขออนุญาตหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 

"ผังเมืองเองก็คงไม่ได้เปลี่ยนแต่เหมือนเป็นการพัฒนาการตามลำดับชั้นมากกว่า ผังเมืองจะทำให้เมืองเป็นเมืองน่าอยู่ อาจมีบางจุดเปลี่ยนสีบ้าง แต่เป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป" ผู้ว่าฯ กทม. ระบุ