กทม.ขีดเส้น 30 วัน แก้ไข“แอชตันอโศก” ย้ำชัดศาลไม่สั่งรื้อถอน

04 ส.ค. 2566 | 13:09 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ส.ค. 2566 | 13:23 น.
636

กทม. เตรียมเรียก อนันดา เจ้าของโครงการแอชตันอโศก -ผู้เกี่ยวข้องหารือร่วมกัน ภายใน 30 วันตาม มาตรา 41 กฎหมายควบคุมอาคาร “ชัชชาติ” ย้ำชัด ศาลฯมีคำสั่งระงับ  ใบยื่นแจ้งการก่อสร้าง ไม่ได้สั่งรื้อถอนด้านอนันดาฯแจ้งซื้อที่ดิน ขอรัฐผ่อนปรนแก้กฎหมาย-แบงก์ช่วยลูกบ้าน 

  คำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด สั่งเพิกถอน ใบแจ้งการก่อสร้างโครงการแอชตันอโศกตามมาตรา 39ทวิ ที่ออกโดยกรุงเทพมหานครกรณี ใช้ที่ดินของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เป็นทางเข้า-ออกมิชอบด้วยกฎหมาย และสร้างความตื่นตกใจให้กับผู้ประกอบการและผู้บริโภคเป็นวงกว้างในที่สุดแล้วโครงการที่ได้รับอนุญาตไปนั้น วันดีคืนดี จะเจอแจ็กพ็อต เหมือนกับ คดีแอชตันอโศกหรือไม่

ขณะแนวทางแก้ปัญหาไม่ได้จบที่การทุบทิ้ง เพียงอย่างเดียว เพราะมองว่านอกจากจะสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจและลูกบ้านได้รับผลกระทบ มีภาระเป็นลูกโซ่ไปถึงสถาบันการเงินผู้ปล่อยสินเชื่อ แล้ว ผลที่ตามมาคือการฟ้องร้องระหว่างกันที่ไม่จบสิ้น

 

อย่างไรก็ตามหากไล่เรียงคำสั่งศาลปกครองสูงสุดอย่างละเอียดแล้วจะพบว่า ศาลฯไม่มีคำสั่งใดๆให้รื้อถอนอาคารเพียงแต่สั่งการให้เพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้าง หรือเพิกถอนใบยื่นแจ้งความประสงค์จะก่อสร้างอาคารฯ เท่านั้น ดังนั้น จึงเป็นโอกาสในการช่วยบรรเทา ผลกระทบผู้ประกอบการและลูกบ้านได้แต่ทั้งนี้ขึ้นแต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับ เจ้าของโครงการว่าจะดำเนินการได้มากน้อยแค่ไหน

เพราะที่ผ่านมา ทางกรุงเทพมหานครออกมายืนยันว่า การอนุมัติใบแจ้งการก่อสร้างตามมาตรา 39 ทวิ (ยื่นแจ้งก่อสร้างอาคาร วันรุ่งขึ้นตอกเสาเข็ม ได้เลยโดยไม่ต้องรอใบอนุญาตอาคาร) สำหรับโครงการแอชตันอโศก เจ้าพนักงานท้องถิ่นได้มีเงื่อนไขว่าหากเกิดข้อผิดพลาด เจ้าของโครงการเป็นฝ่ายรับผิดชอบ

ทางออกที่น่าสนใจ ที่ นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ออกมาระบุว่าเตรียมแนวทางเรียกเจ้าของโครงการแอชตันอโศก มาหารือร่วมกัน และเปิดโอกาสให้ แก้ไขเกี่ยวกับแบบการก่อสร้างอาคารที่สามารถยื่นแจ้งเปลี่ยนแปลงขออนุญาตใหม่ ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ควบคุมอาคาร ปี2522 มาตรา41 ระบุชัดถึงเจตนารมณ์ว่า สามารถแก้ไขปรับเปลี่ยนอาคารให้ถูกต้องตามกฎหมายได้

โดยให้ระยะเวลา 30 วัน ซึ่งทาง กทม. จะเชิญบริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จํากัด (มหาชน) ซึ่งเป็นเจ้าของโครงการ และผู้ที่เกี่ยวข้องมาหารือร่วมกัน ว่าสามารถปรับปรุงและแก้ไขตามที่กฎหมายกำหนดได้หรือไม่

หากไม่ได้ กทม. อาจจะขยายระยะเวลาให้ได้ตามเหตุอันสมควร และขอยืนยันว่า กทม. ยืนยันว่าไม่ได้เอื้อประโยชน์แก่ผู้ใด แต่คำพิพากษาของศาลตัดสินให้เพิกถอนใบรับแจ้งความประสงค์จะก่อสร้างอาคารฯ ไม่ใช่การรื้อถอน ดังนั้น กทม. จึงต้องให้โอกาสในการยื่นขอใบรับแจ้งความประสงค์จะก่อสร้างอาคารฯ ใหม่ เพื่อความเป็นธรรมของทุกฝ่าย

  โดยเฉพาะการแก้ปัญหาเรื่องทางเข้า-ออกอาคารที่ต้องดำเนินการตีความตามเจตนารมณ์ของกฎหมายอย่างรอบคอบ เนื่องจากมีผู้ได้รับผลกระทบกว่า 500 ราย และเป็นความรับผิดชอบของผู้ขออนุญาตก่อสร้างอาคารที่ต้องแก้ไขปัญหา ซึ่งในเร็วๆนี้ จะทำหนังสือถึงเจ้าของโครงการเพื่อรับทราบแนวทางในการแก้ปัญหา แล้วจึงตั้งคณะกรรมการสอบสวนข้อเท็จจริง

รวมถึงการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น ข้อมูลจากรฟม. เพื่อถอดบทเรียนถึงปัญหา กระบวนการในการแก้ปัญหาหากพบกรณีดังกล่าวในอนาคต ที่กทม.จะนำข้อมูลไป พิจารณาปรับปรุงแนวทางในการอนุญาตก่อสร้างอาคารต่อไป

 “ที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่า เจ้าพนักงานท้องถิ่น ไม่ทราบแง่มุมข้อกฎหมาย หากไม่อนุญาตเกรงว่าจะผิดมาตรา157 คือการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเห็นใจ แต่เมื่อศาลฯตัดสินแล้ว กทม.ต้องเร่งแก้ไข”

 นายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โครงการแอชตัน อโศก แบ่งออกเป็น 2 ช่วง คือ เรื่องการยื่นแจ้งเพื่อขออนุญาตก่อสร้าง กับเรื่องการขอใบรับรองดัดแปลงอาคาร โดยบริษัทอนันดาเจ้าของโครงการแอชตัน ยื่นแจ้งครั้งแรกเมื่อปี 2558 ซึ่งกทม.มีหนังสือทักท้วงไป และมีการยื่นต่อมาอีกรวม 3 ครั้ง

กทม. ได้มีหนังสือทักท้วงไปตลอด จนกระทั่งมีการฟ้องเป็นคดีกันในปี 58 และหลังการก่อสร้างแล้วเสร็จ จะต้องมีการยื่นขอเปิดอาคาร ทางบริษัทฯ ได้ยื่นขอมาในเมื่อปี 2560 ซึ่งกทม. ได้ทักท้วงเนื่องจากยังมีคดีเรื่องทางเข้า-ออก ซึ่งไม่ได้ตามที่กฎหมายกำหนดอยู่

ทั้งนี้โครงการแอชตัน อโศก ได้ยื่นอุทธรณ์ไปที่กรรมการควบคุมอาคาร จนกรรมการอุทธรณ์ พิจารณาเห็นว่า กทม. ควรออกใบรับแจ้งความประสงค์จะก่อสร้างอาคารฯให้ ซึ่งทางสำนักการโยธา กรุงเทพมหานคร จึงออกใบรับแจ้งฯ ให้แบบมีเงื่อนไข โดยระบุว่า เรื่องที่ดินที่ตั้งโครงการซึ่งอยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณาของศาลปกครองกลาง ที่มีผู้ฟ้องคดีกรณีโครงการใช้ที่ดินของรฟม. ผ่านเข้า-ออก นั้น

หากศาลมีคำพิพากษาสิ้นสุดแล้ว ผลพิจารณาทำให้อาคารดังกล่าวขัดต่อกฎหมาย ผู้ได้ใบรับรองจะต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อตนเองและผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด รวมทั้งต้องดำเนินการแก้ไขอาคารให้ถูกต้องตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารต่อไป

  สำหรับข้อหารือของกรมโยธาธิการและผังเมืองตามหนังสือที่มท.0710/13625ลงวันที่1ธันวาคม 2557 ระบุว่า หากที่ดินที่จะใช้เป็นที่ตั้งของอาคารสูงหรืออาคารขนาดใหญ่พิเศษแม้จะไม่ได้อยู่ติดถนนสาธารณะแต่หากมีที่ดินแปลงอื่นที่สามารถใช้เป็นทางเข้า-ออกสู่ถนนสาธารณะตลาด ตราบที่อาคารตั้งอยู่และรถดับเพลิงสามารถเข้า-ออกได้สะดวกก็จะเป็นไปตามกฎหมาย

  ขณะเงื่อนไขใบรับรองการก่อสร้างและดัดแปลงอาคาร (แบบ อ.6)เลขที่ 59/2561ลงวันที่ 11 มิถุนายน 2561 ของกทม.ระบุว่า เรื่องที่ดินที่ตั้งโครงการซึ่งอยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณาของศาลปกครองกลางที่มีผู้ฟ้องคดีโครงการใช้ที่ดินของรฟม.ผ่านเข้า-ออกโครงการสู่ซอยสุขุมวิท 21 (อโศกมนตรี) นั้น

"หากศาลมีคำพิพากษา เป็นที่สิ้นสุดแล้วผลการพิจารณาทำให้อาคารของโครงการขัดต่อกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารผู้ได้ใบรับรอง ต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นรวมถึงต้องดำเนินการแก้ไขอาคารให้ถูกต้องตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารต่อไป"

ด้านหลักฐานการออกใบอนุญาตให้ใช้ที่ดินของรฟม.เป็นทางผ่านหนังสือเลขที่รฟม.012/1135 ลงวันที่ 4 กรกฎาคม 2557 ในสมัยที่นายยงสิทธิ์ โรจน์ศรีกุล เป็นผู้ว่าฯรฟม.โดยสรุปการอนุญาตให้ใช้ที่ดินของรฟม. ว่า อนุญาตให้ผ่านที่ดินของรฟม.บริเวณลานจอดรถของสถานีสุขุมวิทจำนวน 1 ช่องทางขนาดความกว้าง 13 เมตรตั้งแต่วันที่ 2 กรกฎาคม 2557 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินการก่อสร้างอาคารชุดพักอาศัยขนาดใหญ่พิเศษดังกล่าว

  อย่างไรก็ตามขั้นตอนการออกคำสั่งนับจากนี้ กรณีโครงการแอชตันอโศก คือการใช้อำนาจในมาตรา 41 ตามกฎหมายควบคุมอาคารหากกระทำตามมาตรา 40 เป็นกรณีที่สามารถแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องได้ ให้เจ้าพนักงาน ท้องถิ่นมีอำนาจสั่งให้เจ้าของอาคารยื่นคำขออนุญาตหรือดำเนินการแจ้งตามมาตรา 39 ทวิหรือดำเนินการแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ถูกต้องภายในระยะเวลาที่กำหนด

ขณะบมจ.อนันดาฯ แจ้งการแก้ไขโครงการแอชตันอโศก คือ การซื้อที่ดินทำทางเข้า-ออกเพิ่ม การขอแก้ไขกฎระเบียบกฎหมายควบคุมอาคารและ รฟม.กรณีการใช้ที่ดินเวนคืน รวมถึงขอให้สถาบันการเงินผ่อนผันลูกบ้านในการผ่อนชำระค่างวด เป็นต้น

ผังแอชตันอโศก