เฟรเซอร์สฯ แนะอัดแคมเปญ-ปลดล็อคมาตรการสินเชื่อ ฟื้นตลาดอสังหาฯ

26 ก.ค. 2566 | 17:24 น.
อัปเดตล่าสุด :27 ก.ค. 2566 | 11:53 น.

“เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้” เปิดภาพอสังหาฯไทยชะลอตัว หลังผู้ประกอบการแข่งขันสูง ลุยเจาะตลาดลักชัวรี เดินหน้าอัดยาแรงฟื้นอสังหาฯ ปลดล้อคมาตรการสินเชื่อที่อยู่อาศัย

นายแสนผิน สุขี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ โฮม (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยในงานสัมมนาโจทย์ใหญ่ฟื้นอสังหาริมทรัพย์ Property Insight หัวข้อโอกาสและความท้าทายฟื้นอสังหาฯไทย ว่า ปัจจุบันอสังหาฯในขณะนี้อยู่ในภาวะชะลอตัว โดยเห็นว่าผู้ประกอบการรายใหญ่มีการแข่งขันสูงมาก โดยซัพพลายจะมุ่งไปในทิศทางเดียวกัน ในสมัยก่อนมักจะเห็นการขายคอนโดมิเนียมเยอะ แต่ขณะนี้มักพบว่ามีการขายบ้านจัดสรรค่อนข้างเยอะกว่าคอนโดมิเนียม ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกคนจะเข้าใจในสถานการณ์นี้และพยายามที่จะปรับตัวมากขึ้น

เฟรเซอร์สฯ แนะอัดแคมเปญ-ปลดล็อคมาตรการสินเชื่อ ฟื้นตลาดอสังหาฯ

“ขณะนี้บริษัทแม่ของเรา เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ประเทศไทยไม่ได้ดำเนินการเฉพาะที่อยู่อาศัยเพียงอย่างเดียว โดยมีการดำเนินการในเรื่องคลังสินค้า,การสร้างโกดัง ในภาคอุตสาหกรรม ตลอดจนสำนักงานอาคารให้เช่า ฯลฯ  โดยสถานการณ์ตลาดโรงแรมเริ่มดีขึ้น พบว่า Occopancy Rate เริ่มกลับมามากขึ้น ทั้งนี้ยังพบว่าสถานการณ์อสังหาฯหลังเกิดโควิด-19 นั้น บริษัทได้ดำเนินการในเรื่องของแพลตฟอร์มมากขึ้น  ซึ่งบริษัทรู้ว่าเราควรยืดหยุ่นอย่างไรในการทำธุรกิจเพื่อให้อยู่รอดและเติบโตอย่างยั่งยืน”
 

นายแสนผิน กล่าวต่อว่า  ที่ผ่านมาภาครัฐมักจะโปรโมทด้านการท่องเที่ยว ทำให้ด้านการท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัวมากขึ้น โดยคาดว่าจีดีพีจะอยู่ที่ 3% แต่ปัจจุบันพบว่าการท่องเที่ยวชะลอตัวเล็กน้อย เนื่องจากนักท่องเที่ยวจีนติดปัญหาสถานการณ์ภายในประเทศ รวมทั้งการที่มีนายทุนจีนลงทุนซื้อที่อยู่อาศัยเริ่มชะลอตัวลง แต่จำนวนนักท่องเที่ยวยังคงเป็นตัวสร้างรายได้การท่องเที่ยวของประเทศอย่างต่อเนื่อง คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าไทยในปี 2566 จะเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 30 ล้านคน จากในปี 2565 มีจำนวนนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าไทยอยู่ที่ 10 ล้านคน เชื่อว่าจะเป็นการเติบโตแบบชะลอตัว

 

“สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือการส่งออก เนื่องจากสถานการณ์ภายนอกประเทศมีภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวเกือบทุกทวีป โดยพบว่าทวีปที่มีการชะลอตัวมากที่สุดคือทวีปยุโรป อย่าง สหรัฐที่มีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย รวมทั้งเงินเฟ้อ ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่ำลง อีกทั้งทำให้การส่งออกในไทยมีแนวโน้มติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 คาดว่าเดือนที่ 9 การส่งออกของไทยยังคงติดลบเช่นกัน ขณะที่การนำรายได้เข้าประเทศจะกระทบต่อตลาดอสังหาลักชัวรี รวมทั้งความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและกำลังซื้อในครึ่งปีแรกเริ่มเห็นสัญญาณการชะลอตัวของตลาดอสังหาลักชัวรี พบว่ามีเอกชนรายใหญ่หลายรายที่สนใจในตลาดนี้”
 

นายแสนผิน กล่าวต่อว่า สำหรับยาแรงฟื้นอสังหาฯ แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ 1.ยาสามัญของดีเวล๊อปเปอร์ พยายามอัดแคมเปญสินเชื่อร่วมกับพันธมิตรธนาคารในการกู้น้อย ผ่อนนาน เพื่อเพิ่มความสามารถในการกู้ให้กับลูกค้า โดยเป็นการให้ส่วนลดสินค้า หากใครสามารถทำได้ดีกว่า บริษัทนั้นจะได้ส่วนแบ่งทางการตลาด ทั้งนี้รัฐบาลควรปลดล็อคมาตรการสินเชื่อที่อยู่อาศัย โดยที่ผ่านมารัฐบาลได้มีการปลดล็อคมาตรการดังกล่าว ซึ่งสิ้นสุดมาตรการเมื่อปี 2565 หากสามารถดำเนินการมาตรการนี้ต่อได้จะช่วยภาคอสังหาฯ ให้เติบโตและมีกำไรที่ดี 2.วัคซีนจากภาครัฐ ประกอบด้วย การลดหย่อนหนี้สินโดยลดภาระทางการเงิน,การลดค่าใช้จ่าย โดยควบคุมสินค้าอุปโภคและบริโภค ,ส่งเสริมการเพิ่มรายได้ เกิดการสร้างงานและมีรายได้เพิ่มขึ้นให้คนระดับกลางและระดับล่าง

 

เฟรเซอร์สฯ แนะอัดแคมเปญ-ปลดล็อคมาตรการสินเชื่อ ฟื้นตลาดอสังหาฯ

 

“อสังหาฯเป็นห่วงโซ่อุปทานของทุกธุรกิจที่จะทำให้จีดีพีเติบโตได้ รวมทั้งส่งผลเกิดการหมุนเวียนของระบบเศรษฐกิจ ขณะที่ต้นทุนค่าก่อสร้างและระบบสาธารณูปโภคสูงขึ้นมีสาเหตุมาจากค่าแรงที่สูงขึ้น แต่วัสดุการก่อสร้างไม่ได้เพิ่มขึ้น ซึ่งจะเห็นผู้ประกอบการมีการปรับดีไซน์บ้านในรูปแบบใหม่ให้เรียบง่าย โมเดิร์น เพื่อลดต้นทุน ซึ่งคนที่ได้ประโยชน์มากที่สุดคือผู้บริโภค”