ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานครฉบับปรับปรุงครั้งที่4 ที่นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่ากทม.) มีแผนประกาศใช้ในราวปี2568 หลังต้องนับหนึ่งตามขั้นตอนแห่งพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)การผังเมืองพ.ศ.2562 ที่บังคับใช้แทนกฎหมายผังเมืองปี 2518 ซึ่งก่อนหน้านี้ กทม.ได้ปรับการใช้ประโยชน์ที่ดินให้สอดคลองกับการเปลี่ยนแปลง รองรับระบบรถ-ราง-เรือ
โดยกำหนดย่านพาณิชยกรรมรองชุมชนชานเมือง กระจายความเจริญในหลายพื้นที่โดยไม่ต้องเดินทางเข้ามากระจุกตัวในย่านศูนย์กลางเมือง สร้างปัญหาจราจรติดขัด โดยเฉพาะแนวรถไฟฟ้าสายสีส้ม ตะวันออก ที่ผังเมืองกำหนดให้ บริเวณสถานีปลายทาง มีนบุรี เป็นเมืองใหม่ เพิ่มการใช้ประโยชน์ที่ดินเป็น ย่านพาณิชยกรรม พื้นที่สีแดง รองรับการขยายตัวของเมือง ประชาชนคนรุ่นใหม่
ที่จะขยับเข้ามา ซึ่งย่านดังกล่าวจะมีทั้งอาคารสำนักงาน ห้างสรรพสินค้า การพัฒนาที่อยู่อาศัยคอนโดมิเนียม นอกจากบ้านแนวราบหรืออาจพัฒนาเป็นศูนย์ราชการในย่านนั้นเช่นเดียวกับโซนบางขุนนนท์ไปจนถึงตลิ่งชันสามารถเนรมิตเป็นเมืองรองรับคนทำงานอยู่อาศัยชั้นดีและย่านพาณิชยกรรมขนาดย่อมได้
กทม.ประเมินว่า รถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันออกมีศักยภาพสูง ตัดผ่านในย่านสำคัญของเมืองหลวง มีขีดความสามารถพาคนจำนวนมากจากชานเมืองเคลื่อนเข้าสู่ ใจกลางเมือง และรับส่งผู้โดยสารระหว่างทาง มุ่งหน้าไปยังย่านพระราม9-รัชดาภิเษก ศูนย์กลางธุรกิจใหม่ หรือนิวซีบีดีที่สถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย หรืออาจเปลี่ยนถ่ายเส้นทางไปย่านสุขุมวิท สีลม สาทรได้ ทำให้ราคาที่ดินขยับไปไกล อยู่ที่ 2 ล้านบาทต่อตารางวา
จากการประเมินของพร็อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟค จำกัด (มหาชน) ในทำเลจุดตัดรถไฟฟ้าสายสีส้ม และ MRT ใต้ดินสายสีนํ้าเงิน ที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย และพระราม9 ส่วนราคาที่ดิน ย่านมีนบุรีสถานีปลายทาง ราคา 2 แสนบาทต่อตารางวาแนวโน้มขยับไปที่4-5แสนบาทต่อตารางวา จุดเปลี่ยนถ่ายการเดินทางเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีชมพูที่จะเปิดให้บริการปี 2567 ปัจจุบันจากการสำรวจพื้นที่พบว่ามีโชว์รูมวัสดุก่อสร้าง บ้านแนวราบคอนโดมิเนียมระดับบิ๊กแบรนด์ เกิดขึ้น
ขณะเจ้าถิ่น บมจ.พร็อพเพอร์ตี้เฟอร์เฟค มีที่ดินในโซน รามคำแหง ไปทางมีนบุรี จำนวนมากมีแผนพัฒนาทั้งที่อยู่อาศัยแนวราบ และแนวสูง เช่นเดียวกับ บมจ.สัมมากรที่มีแผนนำแลนด์แบงก์ออกพัฒนารับรถไฟฟ้าสายสีส้ม นอกจากนี้ยังมีค่ายออริจิ้นเข้าไปปักหมุด พัฒนาคอนโดมิเนียมบริเวณสถานีมีนบุรี จุดตัดรถไฟฟ้าสายสีส้มและสีชมพู
ส่วนทำเลรามคำแหง บริเวณ มหาวิทยาลัยรามคำแหง อยู่ที่7-8แสนบาทต่อตารางวา แต่ก่อนหน้าจะก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม มีดีเวลลอปเปอร์ซื้อที่ดินปักหมุดรอ ตลอดแนวค่ายใหญ่ได้แก่ ค่ายศุภาลัย อนันดา เสนา ออริจิ้น พฤกษา รวมถึงค่ายริสแลนด์ บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์จากฮ่องกง
ส่งผลให้ทำเลดังกล่าวแข่งขันรุนแรง โดยเฉพาะรอบสถานีหัวหมาก และสถานีจุดตัดใหญ่ ลำสาลี ที่มีรถไฟฟ้ามาบรรจบกันมากถึง 3 สาย ได้แก่ สายสีส้ม สายสีเหลืองและสายสีนํ้าตาลในอนาคต
สำหรับ แนวเส้นทางรถไฟฟ้าสายสีส้มที่เชื่อมโยงการเดินทางในแนวตะวันออก-ตะวันตกของกรุงเทพมหานคร เริ่มต้นจากจุดตัดทางรถไฟสายธนบุรี (สายใต้เดิม) ใกล้แยกบางขุนนนท์ กับถนนจรัญสนิทวงศ์ ลอดใต้แม่นํ้าเจ้าพระยาเข้าสู่ใจกลางเกาะรัตนโกสินทร์ ผ่านย่านที่สำคัญในพื้นที่เมืองเก่าเขตดุสิต และเขตพระนคร ผ่านสถานที่สำคัญหลายแห่ง อย่างโรงพยาบาลศิริราช ท้องสนามหลวง อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
จากนั้นเข้าสู่ย่านการค้าใจกลางเมืองบริเวณแยกประตูนํ้า แล้วมุ่งขึ้นทางเหนือเข้าสู่ศูนย์ราชการกรุงเทพมหานคร และศาลาว่าการกรุงเทพ มหานครแห่งใหม่ (อาคารธานีนพรัตน์) ชุมชนประชาสงเคราะห์ ออกสู่ถนนรัชดาภิเษก ถนนพระราม 9 และถนนรามคำแหง สิ้นสุดโครงการบริเวณชานเมืองทิศตะวันออกของกรุงเทพมหานครบริเวณจุดตัดถนนรามคำแหงกับถนนสุวินทวงศ์ หรือมีนบุรี รวมระยะทาง 35.9 กิโลเมตร เป็นเส้นทางที่เน้นการขนส่งผู้โดยสารจากชานเมืองทิศตะวันออกเข้าสู่ใจกลางเมืองและย่านเมืองเก่าทางทิศตะวันตกของกรุงเทพมหานครได้อย่างรวดเร็วและจุดประกายทำเลทองแห่งใหม่ ที่น่าจับตายิ่ง ตลอดเส้นทาง
รถไฟฟ้าสายสีส้มเป็นอีกความหวังของคนเดินทาง เชื่อมไปมาหาสู่กันระหว่างโซนตะวันออกกับฝั่งธนบุรี ได้อย่างไร้รอยต่อ!!!