ตัดถนนใหม่ต้องกำหนดแนวเวนคืนให้ชัด กระทบคนไม่กล้าซื้อบ้าน

18 มิ.ย. 2566 | 18:14 น.
อัปเดตล่าสุด :18 มิ.ย. 2566 | 18:41 น.
2.1 k

กทม. เดินหน้าก่อสร้างถนน “เพชรเกษม-สุขสวัสดิ์-กาญจนาภิเษกด้านใต้ (วงแหวนใต้) หลังพ.ร.ฎ เวนคืนประกาศใช้ "โสภณ พรโชคชัย" แนะควรกำหนดแนวเวนคืนให้ชัด คนไม่กล้าซื้อบ้าน

 

การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานสร้างความเจริญให้กับพื้นที่ก็จริงแต่การกำหนดแนวเขตทางเพื่อก่อสร้างถนนกว้างเกินจริง อาจส่งผลกระทบชาวบ้านตกใจได้  นายโสภณ พรโชคชัย ประธานกรรมการ บริษัท เอเจนซี่ฟอร์เรียลเอสเตทแอฟแฟร์ส หรือ AREA และประธานมูลนิธิประเมินค่าทรัพย์สินไทย ระบุว่า

ส่งผลลบต่อราคาบ้านและที่ดิน คนซื้อไม่กล้าซื้อ คนรู้วงในฉวยโอกาสหรือไม่ ยกตัวอย่าง พระราชกฤษฎีกา กำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนในท้องที่แขวงบางด้วน แขวงบางหว้า แขวงบางจาก แขวงคหูาสวรรค์ แขวงปากคลองภาษีเจริญ เขตภาษีเจริญ แขวงบางขุนเทียน แขวงบางค้อแขวงจอมทอง แขวงบางมด เขตจอมทอง แขวงท่าข้าม แขวงแสมดำ เขตบางขุนเทียน  แขวงบางมด แขวงทุ่งครุ เขต ทุ่งครุและแขวงบางปะกอกแขวงราษฎร์บูรณะ เขตราษฎร์บรูณะกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2566   หรือถนนสายฉ.1 และง21 ตามถนนผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร (เพชรเกษม-สุขสวัสดิ์ -กาญจนภิเษกด้านใต้ หรือถนนวงแหวนรอบนอกด้านใต้)

ตามแผน กำหนดแนวไว้กว้างมากกว่าความเป็นจริงมาก ส่งผลเสียร้ายแรง ทำชาวบ้านตกใจ ส่งผลลบต่อราคาบ้านและที่ดิน คนซื้อไม่กล้าซื้อ ส่วนคนรู้วงในที่รู้แนวจริงอาจฉวยโอกาสซื้อในราคาถูกหรือไม่

 อันที่จริงหน่วยงานด้านการเวนคืนควรสำรวจให้ชัดเจนเสียก่อนว่าแปลงไหนจะถูกเวนคืนบ้าง และประกาศให้ประชาชนได้รู้ว่าล่วงหน้า ทางราชการควรศึกษาให้ดีก่อนประกาศ เจ้าของบ้านและที่ดินส่วนมากที่ไม่ถูก เวนคืนจะได้สบายใจและไม่เสียผลประโยชน์ไปด้วย

ที่ผ่านมาบางโครงการประกาศแนวเวนคืนกว้าง 500 ถึง 1,000 เมตรตลอดแนว ทั้งที่จะก่อสร้างจริงเพียง 60 ถึง 100 เมตรเท่านั้น ทำให้ในระหว่างการเวนคืนซึ่งอาจกินเวลา 5 ถึง 10 ปี ประชาชนเจ้าของที่ดินและอาคารได้รับผลลบเพราะผลไม่มีใครกล้าซื้อ และราคาคงตกตํ่าลงไปได้ในยุคสมัยใหม่นี้ หากรัฐบาลหรือหน่วยราชการใดในด้านการเวนคืนทำให้ราคาทรัพย์สินของประชาชนลดตํ่าลงเช่นจากการกำหนดแนวเวนคืนที่กว้างเกินจริง รัฐบาลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรชดใช้ความเสียหายแก่ประชาชนจากความเดือดร้อนนี้ด้วย

แนวเส้นทาง

ในกรณีการชดใช้ค่าเสียหาย เช่น หากราคาที่ดินเป็นเงิน 1 ล้านบาท ตลอด 10 ปีที่ยังไม่มีความชัดเจนในการเวนคืนราคาอาจหยุดนิ่งไป ในขณะที่ในสถานการณ์ปกติราคาที่ดินอาจเพิ่มขึ้นปีละ 3% ดังนั้นประชาชนเจ้าของที่ดินและทรัพย์สินที่เดือดร้อนควรได้รับการชดเชยเป็นเงิน 343,916 บาท หรือ 1.03 ยกกำลัง 10 แล้วลบด้วย 1 คูณด้วยราคาฐาน 1 ล้านบาท เป็นต้น หากราคาลดลงก็ยิ่งต้องชดใช้ค่าเสียหายมากขึ้น

 ยิ่งกว่านั้นในอนาคต หน่วยราชการและตัวข้าราชการผู้ที่ยังกำหนดแนวเวนคืนแบบตีขลุม-ส่งเดช ควรได้รับโทษหรือมีความผิดทางวินัยเช่นกันจะอาศัยความเป็นข้าราชการมาคุ้มครองตนเองไม่ได้ ยิ่งหากใครรู้ข้อมูลการเวนคืนวงในแล้วนำไปหาผลประโยชน์ เช่นไปดักซื้อ ไปช้อนซื้อในราคาถูก ควรได้รับการลงโทษเช่นกัน