กระทุ้ง! รื้อภาษีที่ดิน อุดรูรั่วเกษตรกลางเมือง แนวรถไฟฟ้า

18 มิ.ย. 2566 | 14:02 น.
อัปเดตล่าสุด :18 มิ.ย. 2566 | 14:39 น.
538

กระทุ้ง! รื้อภาษีที่ดิน อุดรูรั่วเกษตรกลางเมือง แนวรถไฟฟ้า สต็อกอสังหาฯ เก็บ ในอัตราที่อยู่อาศัย ลดผลกระทบบวกต้นทุนภาษีในราคาบ้าน

 

ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างปมร้อน ถูกพูดถึงอีกครั้ง หลังกฎหมายมีผลบังคับใช้เรียกเก็บภาษีวันที่ 1 มกราคม ปี 2563เป็นต้นมา แทนกฎหมายเก่า แต่ในเวลานั้นเกิดสถานการณ์โควิด-19 ครั้งรุนแรง เป็นเหตุให้รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา มีนโยบายประกาศลดอัตราจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างลง90% เป็นเวลา2ปี (2563-2564) เพื่อบรรเทาผลกระทบค่าครองชีพประชาชน  โดยรัฐบาลเป็นฝ่ายสนับสนุนงบประมาณชดเชยรายได้ ที่หายไป ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)ทั้ง 7,849 แห่ง รวมกรุงเทพมหานคร (กทม.) 

 ภาคอสังหาริมทรัพย์ ประกอบด้วยสมาคมอสังหาริมทรัพย์ไทย สมาคม อาคารชุดไทย สมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร สมาคมโรงแรมไทย โดยมีหอการค้าไทยเป็นหัวหอกสำคัญ เรียกร้องรัฐบาลชะลอการใช้ภาษีออกไป จนกว่าศรษฐกิจจะดีขึ้น  หรือลดอัตราลงต่อไปจนกว่า เศรษฐกิจจะฟื้นตัวแต่ไม่ได้ผล เพราะได้รับคำชี้แจงว่าหากลดการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างลงไปมากกว่านี้จะส่งผลกระทบท้องถิ่นขาดรายได้   

ปี2565 การเรียกเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของท้องถิ่นกลับมาเก็บในอัตราเต็ม 100% ตามการประเมินสถานการณ์ของกระทรวงการคลังที่ระบุว่า เศรษฐกิจของไทยเริ่มฟื้นตัว รัฐบาลมีนโยบายเปิดประเทศ การประกอบกิจการ การทำงานกลับมาเป็นปกติ การระบาดโควิดลดลง จากวัคซีน ท่ามกลางความสับสนของธุรกิจ ที่ยังเจ็บตัว เลิกกิจการ กำลังซื้อไม่มี เพราะถูกเลิกจ้าง ขณะกลุ่มเงินเย็น ต้องการเก็บเงินรอดูสถานการณ์เพราะความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ

 ปี2566 รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ประกาศลดหย่อนอัตราชำระภาษีลง 15% ขณะราคาประเมินที่ดินใหม่ รอบบัญชีปี 2566 - 2569  กรมธนารักษ์ ปรับขึ้น เฉลี่ยทั่วประเทศ 8.93%  กทม.เฉลี่ยปรับขึ้น 2.8% แต่เมื่อสะท้อนภาพจริงที่ดินรายแปลง แนวรถไฟฟ้า พบว่าปรับขึ้นสูงไม่ตํ่ากว่า 15-20% ขึ้นไป เท่ากับ ประชาชนควักกระเป๋าจ่ายภาษี 100% หรือแทบไม่ได้รับลดหย่อน เพราะราคาประเมินที่ดิน ซึ่งใช้เป็นฐานอ้างอิงการจัดเก็บภาษีได้ปรับขึ้น

 นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย  ระบุหากได้รัฐบาลใหม่จะหารือเกี่ยวกับการปรับภาษีที่ดินว่า อัตราที่เหมะสมแต่ละกิจการควรเป็นเท่าใด ซึ่งยอมรับว่าธุรกิจอสังหาฯภาคท่องเที่ยวได้รับผลกระทบที่ผ่านมาได้เสนอขอรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ขอ ลดจัดเก็บภาษีที่ดินลงจนกว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัว

  ย้อนไปก่อนหน้านี้นายชัชชาติ สิทธิ์พันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลใหม่ทบทวนภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเพราะรายได้ลดลงกว่าภาษีเก่า 10เท่า จากห้างสรรพสินค้า ตัวอย่างในเขตพญาไท รวมถึงศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะที่มีการจัดเก็บรายได้ลดลง เมื่อปี2565

 

ที่ดินแนวรถไฟฟ้า สายสีเหลือง

 

เช่นเดียวกับนางเกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เสนา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจผู้ว่าฯกทม.ระบุว่า ควรปรับเกณฑ์อัตราจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างสะท้อนตามข้อเท็จจริง ที่ดินเกษตรกรรมอัตราจัดเก็บภาษีตํ่าเมื่อเทียบกับพาณิชยกรรม และที่ดินประเภทรกร้างว่างเปล่า ไม่ทำประโยชน์ ทำให้เกิดการเปลี่ยนการใช้ประโยชน์เป็นเกษตรกรรมที่ไม่เป็นธรรมชาติ เพื่อลดภาระภาษี

อย่างที่ดินกลางเมืองในกทม.ทั้งที่ผังเมืองรวมกทม.กำหนดเป็นพื้นที่สีแดง ประเภทพาณิชยกรรมหรือพื้นที่สีนํ้าตาล ประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก ดังนั้นควรปรับเพิ่มอัตราจัดเก็บหรือใช้อัตราก้าวหน้า แต่ปัจจุบันเกณฑ์ที่ดินประเภทเกษตรกรรม กำหนดอัตราจัดเก็บแบบเหมารวม กล่าวคือ ทั่วประเทศ ไม่ว่าทำเลไหนใช้ อัตราเท่ากัน ส่งผลให้เกิดช่องโหว่เจ้าของที่ดินนำที่ดินกลางเมืองทำการเกษตร

 นางอาภา อรรถบูรณ์วงศ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ริชี่ เพลซ 2002 จำกัด (มหาชน) หรือ RICH ฐานะนายกกิตติมศักดิ์สมาคมอาคารชุดไทย สะท้อนว่า หากผู้ว่าฯกทม.เสนอทบทวนภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภาคเอกชนสนใจที่เสนอแก้ไขเช่นกันโดยเฉพาะสต็อกอสังหาฯ โดยเฉพาะคอนโดมิเนียมต้องเสียภาษีในอัตราพาณิชยกรรมทำให้ผลประกอบการได้รับผลกระทบเมื่อขายได้ก็เสียค่าธรรมเนียมการโอนและภาษีธุรกิจเฉพาะ ซึ่งรับภาระภาษีหลายเด้ง เสียภาษีซํ้าซ้อน รวมถึงภาษีมูลค่าเพิ่มจากการซื้ออุปกรณ์ เครื่องมือ วัสดุก่อสร้าง 

ดังนั้นสต็อกอสังหาฯ ควรเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในอัตราที่อยู่อาศัยจะเหมาะสมกว่า เพื่อลดภาระผู้ประกอบการต้องผลักภาระต้นทุนบวกเข้าไปในราคาขายที่อยู่อาศัย เพราะกฎหมายเก่า สต็อกอสังหาฯ ไม่เคยเสียภาษี แต่ปัจจุบันผู้ประกอบการต้องเสียภาษีปีละหลายสิบล้านบาท ซึ่งขึ้นอยู่กับสต็อกที่เหลืออยู่นั่นเอง รวมถึงผู้ซื้อคอนโดมิเนียมหลังที่สอง หรือกรณีไม่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านต้องเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในอัตราที่อยู่อาศัย จากเดิมภาษีเป็นศูนย์

ธุรกิจอสังหาฯ หนึ่งในตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ  ให้ขยายตัวไปข้างหน้า สะท้อนจากการสร้างยอดขายต่อปีเฉลี่ย 9 แสนล้านบาท สร้างรายได้ให้กับภาครัฐจากภาษีจำนวนมหาศาล หากไม่ได้รับการปลดล็อกช่วยเหลือด้านภาษี เชื่อว่าผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือผู้บริโภค ที่จะเป็นฝ่ายแบกรับต้นทุนแทนผู้ประกอบการ !!!

อัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง