อสังหาฯ ไม่เอา 'นโยบายแจกเงิน' บิ๊กดีเวลลอปเปอร์ ชู EEC เรือธงเศรษฐกิจ

17 เม.ย. 2566 | 09:18 น.
อัปเดตล่าสุด :17 เม.ย. 2566 | 09:29 น.
518

บิ๊กอสังหาฯ "ไชยยันต์ ชาครกุล" ตอบคำถาม อนาคตประเทศไทย และความคาดหวัง หลังการเลือกตั้ง 2566 ขอรัฐบาลใหม่ เป็นตัวจริงเรื่องเศรษฐกิจ เดินหน้าปล่อยหมัดเด็ด ยุทธศาสตร์ EEC กระชากการลงทุน พร้อมชี้ นโยบายแจกเงิน ไม่ตอบโจทย์กำลังซื้อระยะยาว

เดิมพันเศรษฐกิจและทิศทางประเทศขั้นสุด สำหรับการเลือกตั้งใหญ่ของไทย ที่จะเกิดขึ้น 14 พฤษภาคม 2566 โดยประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินใจ "คน" ทำหน้าที่รัฐบาล และนับเป็นความท้าทายของรัฐบาลชุดใหม่เช่นกัน เพราะเลือกตั้งครานี้ ยังอยู่ภายใต้ความคาดหวังของ เอกชน ผู้ประกอบการ ภาคธุรกิจ ทุกองคาพยพ ว่าจะสามารถนำพา ประเทศ และ เศรษฐกิจไทย ก้าวผ่านไปสู่ความก้าวหน้ากว่าที่เป็นอยู่ได้อย่างไร เมื่อประเมินจากแนวนโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองต่างๆ ณ ขณะนี้ ยังวนเวียนอยู่กับ คำว่า 'ประชานิยม' จ่ายเงินให้ประชาชน เปลุกเศรษฐกิจระยะสั้น แต่ไม่ตอบโจทย์อนาคตประเทศ อีกทั้ง มีวี่แววใช้งบประมาณแผ่นดิน มากว่า หาเงินเข้าสู่ระบบด้วยซ้ำ  

"ฐานเศรษฐกิจ" เจาะสัมภาษณ์ นักธุรกิจใหญ่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ ต่อความคาดหวังกับการเลือกตั้งครั้งนี้ ผ่าน "นายไชยยันต์ ชาครกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ลลิล พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) " ที่การดำเนินธุรกิจแต่ละช่วง จะผูกพันธ์กับบรรยากาศ ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ และ ความมั่นคงทางรายได้ของประชาชน

โดยอสังหาฯรายนี้ เอ่ยยอมรับว่า ค่อนข้างผิดหวังกับนโยบายหาเสียงเบื้องต้น ขณะระยะยาว ในนามของภาคอสังหาฯ กลับอยากเห็น นโยบายแก้หนี้ และแนวทางช่วยสนับสนุนขีดความสามารถในการแข่งขันของเศรษฐกิจไทยมากกว่า เพราะท้ายที่สุด นั่นจะทำให้คนไทย อยู่ดี กินอยู่ อย่างมั่นคง และ ยั่งยืน ขณะยุทธศาสตร์เศรษฐกิจสำคัญ ชี้ EEC ต้องเดินหน้าต่อ... 
 

ขอรัฐบาลใหม่ ตัวจริงเรื่องเศรษฐกิจ -ปล่อยหมัด EEC

ภายใต้คำว่า 'เศรษฐกิจไทยเปราะบาง' ในนามเอกชน  เราอยากเห็น คนที่จะเข้ามาทำหน้าที่เป็นรัฐบาล ต้องรู้แจ้งเห็นชัด เชี่ยวชาญเรื่องเศรษฐกิจอย่างแท้จริง มาบริหาร เพื่อเข้ามาสะสางปัญหาต่างๆให้ตรงจุด และ วางหมากปรับกลยุทธ์ประเทศ (Strategy Moves) ให้ไปในแนวทางที่ควรจะเป็น เช่น การเดินหน้าต่อเรื่อง EEC ซึ่งถือเป็นเรือธงแง่การลงทุนของไทย ไม่อยากให้ชะลอหรือหยุดชะงัก เพราะนับเป็นยุทธศาสตร์ใหญ่ของประเทศ ในการกระชากเศรษฐกิจ ด้วย 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (New S-Curve) เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) , อุตสาหกรรมแพทย์ และสุขภาพ และ เทคโนโลยีสมัยใหม่ เป็นต้น เนื่องจาก ก่อนหน้ารัฐบาลได้ลงเม็ดเงินไปแล้วมหาศาล เพื่อผลักดันต่อให้สัมฤทธิ์ผล เช่น การขยายท่าเรือ สนับสนุนนิคมอุตสาหกรรม เพราะที่ผ่านมา ได้รับการตอบรับจากทุนใหญ่ต่างชาติหลายค่าย ตอกย้ำ ว่า ประเทศมาถูกทาง จากการกินบุญเก่าหมดลงแล้ว และอุตสาหกรรมเดิมอิ่มตัว 

"ไม่ว่าพรรคไหนจะเข้ามา อย่าติดกับดักกับคำว่า ศักดิ์ศรี ต้องใช้ผลประโยชน์ของประเทศชาตินำหน้า อยากให้ผลักดัน EEC ต่อ จะขยายต่ออย่างไร ดึงต่างชาติมาลงทุน New S-Curve เพื่อไม่ให้การลงเม็ดเงินไปก่อนหน้า สูญเปล่า" 

อสังหาฯ ไม่เอา \'นโยบายแจกเงิน\' บิ๊กดีเวลลอปเปอร์ ชู EEC เรือธงเศรษฐกิจ

ในแง่การเดินหน้านั้น น้ำหนักสำคัญ ยังต้องมาจาก การขยายโครงสร้างพื้นฐาน - ระบบพื้นฐาน และ สาธารณูปโภค เพื่อเชื่อมต่อพื้นที่ยุทธศาสตร์ EEC ให้เกิดขึ้นจริง พร้อมๆกับ การขยับของภาคเอกชน ช่วยปลุกอุตสาหกรรม EV ,ไฮเทค ,หุ่นยนต์ และ สินค้าและบริการด้านสุขภาพ โดยที่รัฐบาลใหม่ ต้องไม่ทิ้ง อุตสาหกรรมโดดเด่น ทางเศรษฐกิจ อย่าง ภาคการท่องเที่ยว ด้วย เพื่อผลักดันให้เมืองเป้าหมาย TOP5 ของโลกไปต่อ โดยดึงจุดแข็ง ด้านทรัพยากรประเทศที่ล้ำค่ามาต่อยอด ทั้งทรัพยากรธรรมชาติที่สวยงาม และ ทรัพยากรมนุษย์ ที่มีอัธยาศัยยิ้มแย้มเป็นมิตรหาใครเทียบติด 

 อสังหาฯ ไม่เอานโยบาย 'แจกเงิน'

อย่างไรก็ตาม เมื่อประเมินจากแนวนโยบายหาเสียงต่างๆขณะนี้ อสังหาฯรายใหญ่รายนี้ ให้ความเห็นว่า ทุกพรรคการเมืองยังติดกับดัก การเรียกคะแนนเสียง - ความนิยม โดยที่ไร้นโยบายทางเศรษฐกิจอย่างชัดเจนเป็นรูปธรรม มีแต่ 'ลดภาษี - แจกเงิน' ซึ่งเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจแบบผิวเผิน หรือ ลดหนี้เฉพาะหน้า แต่เอกชน อยากเห็นการคิดใหม่ ทำใหม่ โดยเฉพาะ การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน ที่รัฐบาลต้องทำแบบจุดเดียวเบ็ดเสร็จ และเข็นตัวเองเป็นเจ้าภาพ พร้อมดึงภาคธนาคารมาช่วยสนับสนุน เพื่อสะสางรวมหนี้ ปรับโครงสร้างหนี้อย่างจริงจัง ประชาชนจึงจะลืมตาอ้าปากได้ อีกทางก็จะช่วยเพิ่มกำลังซื้อในระบบเศรษฐกิจด้วย   

ส่วนในภาคอสังหาฯนั้น สิ่งที่อยากเห็นมากที่สุด นอกจากเศรษฐกิจที่มั่นคงแล้ว คือ แรงสนับสนุนจากรัฐบาล เพราะ อสังหาฯเป็นอุตสาหกรรมหลักของประเทศ เป็น Local Content ที่มีการใช้วัตถุดิบภายในประเทศจำนวนมาก เพิ่มแรงเหวี่ยงใหญ่ให้อุตสาหกรรมต่อเนื่องหลายทอด มีผลทวีคูณต่อระบบเศรษฐกิจ (Multiplier Effect) มากกว่าอุตสาหกรรมอื่นๆ ทั้งการจ้างงาน และ วัตถุดิบ ไม่ต่างจากอีก 1 เสาหลักของเศรษฐกิจประเทศ ซึ่งด้วยความสำคัญเช่นนี้ อยากให้รัฐบาลเข้ามาเอาใจใส่ พยายามสนับสนุนให้เครื่องยนต์นี้หมุนได้เร็วขึ้น เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจอีกทาง 

ไทย Safe Haven 

ท้ายสุด นายไชยยันต์ ชี้ว่า 'แรงงาน' ขาดแคลน ยังเป็นปัญหาหน้างานที่ภาคธุรกิจไทยกำลังเผชิญ โดยเฉพาะ แรงงานที่มีทักษะ ทำให้หลายอุตสาหกรรมยังขยับตัวได้ยาก เกิดการแย่งชิงแรงงาน และ เป็นต้นทุนบวกเพิ่มเข้ามา รัฐบาลใหม่จึงต้องแก้ไข อย่างไรก็ดี ประเมินเศรษฐกิจไทยปีนี้ กับเป้าหมาย การเติบโตของจีดีพี 3.6% มีโอกาสที่จะไปถึง จากปัจจัยบวกภาคการท่องเที่ยว เพราะคาดการณ์ไทยจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ จาก 25 ล้านคน สู่มากกว่า 28 ล้านคน มีเพียงความกังวลใหญ่ ภาคส่งออกที่ส่อแววติดลบ ตามสถานการณ์โลก จึงเป็นที่มา ที่รัฐบาลต้องเร่งหาแนวทางหารายได้ใหม่ๆ

ทั้งนี้ เชื่อมั่นว่า 'ประเทศไทย' ยังเป็นทำเลอนาคต ที่ทุนต่างชาติ อยากเข้ามาลงทุน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ๆ  ประเมิน ไทยจะเป็น Safe Haven แทนยุโรป หรือ สหรัฐ ท่ามกลางความซวนเซของมหาอำนาจหลักๆ และ คาดว่าจะเป็นไม่กี่ประเทศที่รอดจากวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจโลกในรอบนี้ไปด้วย เนื่องจาก ไทยมีทุนสำรองระหว่างประเทศสูง อีกทั้ง มีระบบการเงิน และ ภาคธนาคารที่แข็งแกร่ง อยู่ในทรงดีมากกว่า ชาติอื่นๆ