TDRI ค้านนโยบายหาเสียงใช้งบสูง แจกเงินควรช่วยคนจนจริง

13 เม.ย. 2566 | 10:15 น.

TDRI ค้านนโยบายพรรคการเมืองใช้งบประมาณสูง ชี้แจกเงิน 1 หมื่นบาท อาจใช้งบถึง 5 แสนล้านบาท มากกว่าอุดหนุนเกษตรกร ระบุไม่ควรหว่านแห ช่วยเฉพาะคนจนที่ควรได้รับการดูแล แนะกลับไปคิด 3 สิ่ง ย้ำหนี้สาธารณะประเทศต้องรักษาสภาพคล่องรองรับวิกฤตไม่คาดคิด

ดร.นณริฏ พิศลยบุตร   นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) เปิดเผยว่า โดยมากโครงการดิจิทัลต่างๆ ก็เป็นนวัตกรรมที่พรรคการเมืองเสนอมา เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ทุกพรรคการเมืองก็มีการเสนอนโยบายที่มีภาระทางการคลังสูง ซึ่งทางภาควิชาการก็ค่อนข้างจะเป็นห่วงว่าท้ายที่สุดแล้วจะเอาเงินมาจากไหน หรือประสิทธิผลจะได้ตามที่แสดงความคิดเห็นหรือไม่ เช่น จะสร้างภาษีได้ตามที่พูดไว้หรือไม่ เป็นต้น ฉะนั้น มองว่าควรจะต้องระมัดระวัง โดยเฉพาะโครงการที่มีมูลค่า และงบประมาณที่สูง ก็จะต้องใช้เงินสูงทางวิชาการจะไม่ค่อยเห็นด้วย

 

ขณะที่ในช่วงวิกฤตโควิด รัฐบาลออกพ.ร.ก.กู้เงิน 2 ฉบับมาดูแลประชาชนวงเงิน 1.5 ล้านล้านบาท แต่หากพรรคการเมืองที่เสนอนโยบายเติมเงิน 10,000 บาท ให้กับประชาชนอายุ 16 ปีขึ้นไปนั้น จะใช้วงเงินสูงแค่ไหน 

โดยนายนณริฎ กล่าวว่า หากคำนวณวงเงิน 10,000 บาท ต่อคน อายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป ก็ประมาณ 50-55 ล้านคน ซึ่งจะใช้เงินประมาณ  5 แสนล้านบาท หากเปรียบเทียบกับพ.ร.ก.กู้เงิน 1.5 ล้านล้านบาทก็อาจจะน้อยกว่า แต่หากถามว่าจำนวน 5 แสนล้านบาทเยอะหรือไม่ ยังมองว่าเป็นตัวเลขที่เยอะ เนื่องจากนโยบายโดยทั่วไป เช่น ที่ช่วยอุดหนุนภาคเกษตรยังหลักแสนล้านบาทต่อปี ฉะนั้น วงเงิน 5 แสนล้านบาท ยังถือว่าเป็นวงเงินที่มีขนาดใหญ่

 

ทั้งนี้ มองว่าทุกพรรคการเมืองมีนโยบายที่ใช้เม็ดเงินค่อนข้างเยอะ โดย TDRI ได้ทำการศึกษาว่า หากจะต้องทำตามนโยบายทุกพรรคการเมืองที่โฆษณากัน ประเทศจะต้องการเงินหลักล้านล้านบาท ซึ่งรูปแบบที่มาอาจจะแตกต่างกัน เช่นบางส่วนจะอุดหนุนเกษตร บางส่วนแจกเงิน เป็นต้น โดย TDRI มีความกังวลทั้งหมด แต่หากถามว่าดีหรือไม่ดี จะต้องเข้าไปดูว่าคนที่ได้สมควรได้หรือไม่ 

“ไม่ควรหว่านแห แต่หากคนที่จะช่วยเหลือเป็นคนที่ควรจะได้รับการช่วยเหลือ มองว่ายังมีมุมที่พอจะรับฟังได้ เช่นกรณีคนจน ค่อนข้างเห็นด้วยกับการช่วยเหลือคนจน แต่คำถามคือ นโยบายที่ออกมาเป็นคนจนจริงหรือไม่ที่เข้าถึงและมีการรั่วไหลระหว่างทางมากน้อยแค่ไหน ซึ่งจะต้องมีการคิดและคำนวณให้รอบด้าน เพราะก็มีนโยบายที่ไม่ค่อยชัดเจน เช่น จะแจกเงินดิจิทัลเลย ก็ยังมีคำถามว่าทำไมอยู่ๆ เราจึงไปให้เงินในเมื่อรัฐไม่สามารถผลิตเงินขึ้นมาให้ฟรีซึ่งยังมีต้นทุนซ่อนอยู่”

อย่างไรก็ตาม หากจะต้องนำเงินไปให้เกษตรกร ก็ยังเกิดคนถามขึ้นเสมอว่าท้ายที่สุดเกษตรกรเป็นคนจนจริงหรือไม่ซึ่งคำตอบคือไม่ใช่ทุกคน แต่นโยบายนั้นให้เกษตรกรทุกคน นั่นหมายความว่า ยังมีส่วนที่รั่วไหล และเกษตรกรที่ยากจนก็ได้รับไปด้วย นอกจากนั้น ก็ยังมีนโยบายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มีเงินให้กับผู้สูงอายุ จึงเป็นคนถามที่ว่านโยบายเหล่านี้มีความซ้ำซ้อนกันหรือไม่ และยังมองว่าทุกพรรคการเมืองยังมีนโยบายที่ยังไม่ค่อยสุด ยังมีจุดอ่อนต่างๆในแต่ละมุมที่แตกต่างกันไป 

ทั้งนี้ อยากให้กลับมาคิด 3 สิ่ง ได้แก่ 

  1. การช่วยเหลือควรอยู่ในระดับที่เหมาะสม หมายความว่างบประมาณไม่ควรเยอะเกินไป 
  2. กลุ่มที่ต้องการช่วยเหลือต้องถูกต้อง ต้องมีหลักการในการช่วยเหลือ เช่น เราอยากช่วยเหลือคนที่เป็นหนี้จากโควิด การอยากช่วยเหลือคนจนก็มีมุมที่สามารถทำได้ แต่อยากช่วยเหลือเกษตรกร เพราะเกษตรกรทุกคนเป็นคนจน ส่วนนี้ไม่เห็นด้วย หรือจะไปแจกเงินฟรี หรือขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ก็จะมีคำถามว่าแล้วคนที่ได้ขึ้นสร้างอะไรที่ทำให้ได้ขึ้น โดยบางส่วนอาจจะตอบได้ว่ายังมีคนที่ยังถูกกดค่าแรงอยู่ เขาสามารถสร้างผลประโยชน์ให้เศรษฐกิจบ้าง ก็ควรที่จะได้รับการขึ้นค่าแรง แต่ไม่ใช่การขึ้นค่าแรงทุกคน หรือการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำมากขนาดนั้น เป็นต้น 
  3. ต้องมองในระยะยาว ไม่ใช่ลักษณะการช่วยเหลือไปตลอด หากเป็นลักษณะนี้มองว่าไม่มีความยั่งยืน  

ขณะเดียวกันหากประเมินนโยบายของทุกพรรคการเมืองที่อาจจะต้องใช้งบรวมกันถึงหลักล้านล้านบาท มองว่าอาจจะเป็นภาระทางการคลัง และส่งผลต่อสัดส่วนหนี้สาธารณะ ซึ่งแม้ว่าเพดานหนี้สาธารณะจะขยายได้ แต่ท้ายที่สุดแล้วเราก็ไม่มีวันรู้ว่าเราจะขยายได้อีกเมื่อไหร่ และเมื่อไหร่ที่เศรษฐกิจเราจะรองรับไม่ได้ หรือดอกเบี้ยจะท่วมล้นจนกระทบให้เศรษฐกิจไทยชะงัก 

"ฉะนั้น เป็นไปได้ที่สุดจะต้องมีการป้องกันให้ได้มากที่สุด หรือหากเกิดวิกฤตที่เราจำเป็นจะต้องกู้เงินอีกครั้ง ส่วนนี้จะต้องมีการรักษาสภาพคล่องไว้ในระดับหนึ่ง คือจะต้องไม่ก่อหนี้สูง ไม่ก่อหนี้ที่ไม่จำเป็น และจะต้องมีความยั่งยืน รวมทั้งสามารถสนับสนุนให้ประชาชนสามารถดูแลตัวเองได้ ออกจากการช่วยเหลือของรัฐ ซึ่งจะเป็นส่วนช่วยจ่ายภาษีเพื่อมาช่วยเหลือประเทศอยู่ดี ซึ่งจะต้องคำนึงถึงอนาคตยาวๆ และคนที่จะต้องมาใช้หนี้ด้วย"