จับชีพจร "บ้านลลิล" ฝ่าคลื่น เข็น "กำลังซื้อ" คนไทย

05 เม.ย. 2566 | 09:25 น.
อัปเดตล่าสุด :05 เม.ย. 2566 | 10:29 น.

ผ่ามุมคิด : " ชูรัชฏ์ ชาครกุล" แห่ง บมจ. ลลิล ฝ่าคลื่นเศรษฐกิจ เข็น "กำลังซื้อ" คนไทย ชี้ยอดปฎิเสธสินเชื่อไตรมาสแรกยังสูง เหตุเครดิตลูกค้ามีประวัติ ต้องปรับการขายสู่โมเดล บ้านผ่อนดาวน์ ดัน "บ้านลลิล" พลิกโฉมในรอบ 20 ปี เจาะ กทม.โซนเหนือ ทำเล แห่งอนาคต

นับว่าเป็นผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่ค่อนข้างระมัดระวังในการลงทุน และ สะท้อนภาวะเศรษฐกิจ ผ่านการปรับแผนธุรกิจ ให้เข้ากับสถานการณ์อยู่เสมอๆ หรือ แม้ในยาม ที่ผู้เล่นในวงการ ต่างกำลังตื่นเต้นกับความหอมหวาน ในเซกเม้นท์ บ้านหรู "ลลิล พร็อพเพอร์ตี้" ก็ไม่ได้กระโจนลงไปช่วงชิงด้วย เพราะยืดมั่นฐานลูกค้าหลัก ตลาดขนาดใหญ่ บ้าน 2-10 ล้านบาท ที่มองเป็น Safe Zone จากความต้องการที่เป็นเรียลดีมานด์อย่างแท้จริง อีกทั้ง มีโอกาสจากลูกค้าคนรุ่นใหม่ๆ เข้ามาอย่างต่อเนื่อง 

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยภายนอก ผสมโรง ภาระหนี้ติดตัวไว ทำให้ "กำลังซื้อ" คนไทยยังเปราะบาง แบงก์เข้มงวดการปล่อยสินเชื่อ นี่จึงทำให้ ลลิล ต้องใช้ทั้งเกมรุกและรับในเวลาเดียวกัน ผ่านกลยุทธ์ ปักธงในสมรภูมิทำเลแกร่ง อย่าง กทม.โซนเหนือ หรือ แม้แต่ปรับวิธีขายบ้าน พร้อมรีเฟรชแบรนด์เก่ง "บ้านลลิล " ในรอบ 20 ปี ส่งความพรีเมียม เจาะเค้กก้อนใหญ่ 

"กำลังซื้อ"บ้านเปราะบาง 
 

ช่วงต้นปี บมจ.ลลิล ประกาศว่า ปี 2566 จะเปิดโครงการใหม่  10 – 12 โครงการ มูลค่ารวม 7,000 – 8,000 ล้านบาท  โดยตั้งเป้าหมายยอดขาย อยู่ที่ 8,600 ล้านบาท และยอดรับรู้รายได้ที่ 6,850 ล้านบาท หรือ ขยายตัวราว 10% 

ล่าสุด นายชูรัชฏ์ ชาครกุล กรรมการผู้จัดการบริษัท ได้สรุปภาพรวมตลาดอสังหาฯ ไตรมาสแรกของปีว่า แม้ยอดขายยังเป็นไปตามเป้าราว 1,900-2,000 ล้านบาท จากการเปิดโครงการไปแล้ว 2 โครงการ มูลค่าราว 3,000 ล้านบาท แต่ยอมรับว่า "กำลังซื้อ" ของลูกค้า ณ ขณะนี้ มีความเปราะบาง ประวัติการชำระหนี้ไม่สวย มีภาระหนี้ส่วนบุคคลติดตัว ซึ่งผลกระทบส่วนหนึ่งมาจากช่วงโควิด-19 สถาบันการเงิน ต่างออกมาตรการ "พักหนี้ - ยืดหนี้ " ให้ ซึ่งใครที่จะขอสินเชื่อใหม่ จะมีประวัติติดตราอยู่  ทำให้แบงก์เข้มในการอนุมัติสินเชื่อ ต้องรอ 3-6 เดือน เพื่อเคลียร์ ปรับเครดิตให้ดีขึ้นก่อน

ทั้งนี้ การเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบ ยังไม่ได้ทำให้รายได้คนส่วนใหญ่ฟื้นกลับขึ้นมาดีอย่างที่คิด เพราะสัดส่วน "หนี้ครัวเรือน" มากกว่า 80% ยังเป็นปัญหา พบ ในตลาดบ้าน ยอดขายดี แต่ยอดปฎิเสธสินเชื่อ (รีเจ็กต์) ยังพุ่งสูง ส่งผลให้บริษัทก็ต้องปรับรูปแบบการขายบ้านด้วยเช่นกัน จากเดิมเป็นบ้านพร้อมโอนกรรมสิทธิ์ มาสู่ รูปแบบ ซื้อผ่านดาวน์ ทยอยสร้างมากขึ้น เพื่อป้องกันความเสี่ยง

"คนรุ่นใหม่รายได้โต อยากซื้อบ้านเร็วขึ้นตั้งแต่อายุไม่ 28 ปี เพราะทำธุรกิจส่วนตัว แต่ก็มีภาระหนี้บัตรเครดิตติดตัว เราปรับรูปแบบการขาย ทั้งแบบพร้อมโอนฯ ราว 8-10 หลัง และสั่งสร้างผ่อนดาวน์ 3 เดือน ร่วมด้วย เพื่อบริหารสต็อกรับความเสี่ยง"

จับชีพจร \"บ้านลลิล\" ฝ่าคลื่น เข็น \"กำลังซื้อ\" คนไทย
 

 Q2 แข่งขันสูงทุกโซน

อย่างไรก็ดี ประเมินว่าไตรมาสนี้ (Q2) สถานการณ์ และ เศรษฐกิจภาพรวมจะดีขึ้น เมื่อ 8 เมืองท่องเที่ยวหลักของไทยฟื้นตัวได้ดี ตามแรงเหวี่ยงของนักท่องเที่ยวต่างชาติ อีกทั้ง การส่งออก อาจมีสัญญาณที่สดใสกว่าช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมา จะช่วยดึงให้กลุ่มลูกค้าหลักๆ เครดิตดี กลับเข้ามาในตลาด แต่บริษัท ยังจะระมัดระวังในการลงทุน เบื้องต้นยังตามแผน 10-12 โครงการ กระจายความโอกาสและความเสี่ยงหลากหลายทำเล ของพื้นที่ กทม.และปริมณฑล ทั้ง โซนเหนือ , ตะวันออก และ ย่านนนทบุรี อ้างอิงแหล่งที่อยู่อาศัยหนาแน่น ครอบคลุมทุกเซกเม้นท์ บ้าน 2-3 ล้านบาท ไลโอ เพรสทีจ ,บ้าน 3-6 ล้าน แลนด์ซีโอ และ 4-7 ล้าน บ้านลลิล เป็นต้น 

"ประเมินจากแผนธุรกิจ 20 รายใหญ่ ปีนี้ขยายโครงการอย่างมีนัยสำคัญ มากกว่า 2-3 ปีก่อนหน้า ที่ชะลอไป เพราะคาดว่า เศรษฐกิจปีนี้จะดี พบการแข่งขันดุเดือดทุกโซน ทำเลเดียวกัน ชนเซกเม้นท์กัน อยู่ที่ใครจะตีโจทย์ลูกค้าได้แม่นยำมากกว่า ทำให้บริษัทต้องศึกษาตลาดอย่างเข้มข้น "

จับชีพจร \"บ้านลลิล\" ฝ่าคลื่น เข็น \"กำลังซื้อ\" คนไทย

กทม.โซนเหนือ ทำเลแห่งอนาคต

สำหรับปีนี้ ลลิล เน้นพัฒนาแบรนด์บ้านระดับพรีเมียมออกสู่ตลาด โดยนายชูรัชฏ์ ย้ำว่า ตลาดบ้านกลุ่มเรียลดีมานด์ 2-10 ล้านบ้านยังไปต่อได้ ทั้งยังครองส่วนแบ่งตลาดกว่า 60% ในปัจจุปัน โดย ล่าสุด ได้รีเฟรชแบรนด์เก่า "บ้านลลิล" สู่ "บ้านลลิล The Prestige " เจาะตลาด 5-8 ล้านบาท ซึ่งเป็นการพลิกโฉมใหม่ทั้งหมดในรอบ 20 ปี รับกำลังซื้อตลาดบน อัพเกรดวัสดุตกแต่ง ดีไซน์ เพื่อรองรับไลฟ์สไตล์การอยู่อาศัยในปัจจุบัน เปิดขาย 2 โครงการ ได้แก่ในย่าน ประชาอุทิศ-สุขสวัสดิ์ และ ย่านวงแหวน- ลำลูกกา คลอง 6 ปทุมธานี รวม 446 ยูนิต มูลค่า 2,100 ล้านบาท 

เจาะทำเล กทม โซนเหนือ ดอนเมือง - รังสิต - วงแหวน - ลำลูกกานั้น ลลิล มองเป็น 1 ในทำเลยุทธศาสตร์ของบริษัท เพราะมีการพัฒนาโครงการหลายแห่งกระจุกอยู่ จากกำลังซื้อหนาแน่นหลายกลุ่ม เช่น โซนตลาดไท มีกลุ่ม SME ,รังสิต มีกลุ่มข้าราชการรองรับ ขณะย่านดอนเมือง มีคนในธุรกิจการบิน ท่องเที่ยว เป็นลูกค้าในตลาดบ้าน มองทำเลดังกล่าวทั้งหมด เป็นทำเลแห่งอนาคต

"กทม.โซนเหนือ เป็นแหล่งงานที่กำลังโดดเด่น หลังจากภาคท่องเที่ยวกลับมาเดินเครื่องอีกครั้ง เป็นโอกาสในการขยายธุรกิจของบริษัท เพราะอุตสาหกรรมการบิน ,บริการ ,โรงแรม ฟื้นกลับมา อีกทั้งมีรถไฟฟ้าสายสีเขียว ,รพ. และ สถานศึกษา หลายแห่ง ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์การอยู่อาศัยในยุคปัจจุบัน "

ย้อนไปปี 2565 บมจ.ลลิล ฝ่าคลื่นต้นทุนสูง กำลังซื้อกระทบจากดอกเบี้ยขาขึ้น โดยทำรายได้ทั้งปีที่ 6,239 ล้านบาท กำไรสุทธิ 1,271  ล้านบาท สูงกว่าค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม