สต็อก "ที่อยู่" กทม. ท่วม 9.1แสนล้าน บางพลี - ห้วยขวาง มากสุด

22 มี.ค. 2566 | 16:49 น.
อัปเดตล่าสุด :22 มี.ค. 2566 | 16:49 น.
821

REIC เปิดข้อมูลอสังหาฯ พบปี 2565 ตลาดฟื้นดึงหน่วยโครงการบ้าน - คอนโด เข้าใหม่เพิ่มขึ้น 15.5% ดันสต็อกที่อยู่อาศัย เหลือขาย กทม. - ปริมณฑล แตะ 9.1 แสนล้านบาท บางพลี ยืนหนึ่งทำเลเสี่ยง บ้านรอขาย ขณะ ห้วยขวาง คอนโดค้างมากสุด 3.3 หมื่นล้าน

22 มีนาคม 2566 - สถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัยไตรมาส 4  ปี 2565 ของ กรุงเทพฯและปริมณฑล มีการเติบโตต่อเนื่องจากไตรมาส 3 โดยมีปัจจัยบวกจากมาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์และค่าจดจำนองสำหรับที่อยู่อาศัยที่ไม่เกิน 3 ล้านบาท และการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ผ่อนคลายมาตรการ LTV ชั่วคราว ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2565 ได้ส่งผลให้ภาพรวมตลาดที่อยู่อาศัยโดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล ในช่วงไตรมาส 4 ปี 2565

โดยมีการขยายตัวของอุปทานโครงการที่อยู่อาศัยที่มีการเสนอขายเปิดขายใหม่ 205,806 หน่วย เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.0 โดยเกิดจากอุปทานเปิดตัวใหม่จำนวน 27,759 หน่วย เพิ่มร้อยละ 15.5 ขณะที่อุปสงค์ที่อยู่อาศัยขายได้ใหม่มีจำนวน 21,282 หน่วย เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.1 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า

ส่งผลให้อัตราดูดซับทุกระดับราคายังคงทรงตัวต่อเนื่องจากช่วงไตรมาส 3 เนื่องจากสินค้าขายได้ใหม่มีอัตราการเพิ่มขึ้นน้อยกว่าสินค้าใหม่ที่เข้ามาในตลาดและมีผลให้ที่อยู่อาศัยเหลือขายมีจำนวนถึง 184,524 หน่วย เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.8  มูลค่าสูงถึง 916,410 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.2
 
ดร. วิชัย วิรัตกพันธ์ ผู้ตรวจการธนาคารอาคารสงเคราะห์ และรักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยว่า ภาพรวมการสำรวจโครงการที่อยู่อาศัยในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล ด้านอุปทานมีจำนวนอุปทานเสนอขาย ณ ช่วงไตรมาส 4 ปี 2565 รวมทั้งสิ้น 205,806 หน่วย เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.0 มูลค่า 1,034,031 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.0  

แบ่งเป็นอาคารชุด  76,930 หน่วย เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.3 มูลค่า 322,772 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.0 โครงการบ้านจัดสรร 128,876 หน่วย เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.1 มูลค่า 711,259 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 4.6 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า 

ในจำนวนดังกล่าวเป็นโครงการที่อยู่อาศัยเปิดขายใหม่จำนวน  27,759 หน่วย เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.5  มูลค่า 160,877 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.6  แบ่งเป็นโครงการอาคารชุด 13,431 หน่วย  เพิ่มขึ้นร้อยละ 78.5  มูลค่า 45,291 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 130.3  โครงการบ้านจัดสรร  14,328 หน่วย ลดลงร้อยละ -13.2  มูลค่า 115,586 ล้านบาท ลดลงร้อยละ -9.1 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า

อัตราดูดซับทรงต่ำ ดัน หน่วยเหลือขายเพิ่มทะลุ 9.1 แสนล้านบาท

อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาจากอัตราดูดซับทุกระดับราคา พบว่าอัตราดูดซับในไตรมาส 4 ปี 2565 ยังคงทรงตัวที่ร้อยละ 3.4 เมื่อเทียบกับอัตราดูดซับในช่วงไตรมาส 3 ทั้งนี้ เนื่องจากสินค้าขายได้ใหม่มีอัตราการเพิ่มขึ้นน้อยกว่าสินค้าใหม่ที่เข้ามาในตลาดโดยมีจำนวนที่อยู่อาศัยใหม่เข้ามาในตลาดเพิ่มขึ้นถึง 15.5% ในขณะที่จำนวนการขายได้ใหม่กับเพิ่มขึ้นเพียง 5.1% เท่านั้น ส่งผลให้มีจำนวนที่อยู่อาศัยเหลือขายจำนวนทั้งสิ้น 184,524 หน่วย เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.8 มูลค่ารวม 916,410 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.2 ใน

จำนวนดังกล่าวแบ่งเป็นอาคารชุด 68,312 หน่วย เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.6  มูลค่ารวม 288,259 ล้านบาทเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.9 และเป็นโครงการบ้านจัดสรร 116,212 หน่วย เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7 มูลค่ารวม 628,151 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.3 เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า

5 ทำเล บ้านจัดสรร เหลือขายสูงสุด 

  1.  ทำเลบางใหญ่-บางบัวทอง-บางกรวย-ไทรน้อย จำนวน 16,920 หน่วย มูลค่า 79,296 ล้านบาท
  2. ทำเลบางพลี-บางบ่อ-บางเสาธง จำนวน 16,829 หน่วย มูลค่า 696,439 ล้านบาท
  3. ทำเลลำลูกกา-ธัญบุรี จำนวน 13,819 หน่วย มูลค่า 52,244 ล้านบาท 
  4. ทำเลเมืองปทุมธานี-ลาดหลุมแก้ว-สามโคก จำนวน 10,444 หน่วย มูลค่า 41,770 ล้านบาท 
  5. ทำเลคลองหลวง-หนองเสือ จำนวน 10,434 มูลค่า 38,904 ล้านบาท 

5 ทำเล อาคารชุด เหลือขายสูงสุด
 

  1. ทำเลห้วยขวาง-จตุจักร-ดินแดง จำนวน 8,372 หน่วย มูลค่า 33,578 ล้านบาท 
  2. ทำเลธนบุรี-คลองสาน-บางกอกน้อย-บางใหญ่-บางพลัด จำนวน 7,979 หน่วย มูลค่า 25,525 ล้านบาท 
  3. ทำเลพระโขนง-บางนา-สวนหลวง-ประเวศ จำนวน 7,295 หน่วย มูลค่า 21,253 ล้านบาท 
  4. ทำเลนนทบุรี-ปากเกร็ด จำนวน 6,426 หน่วย มูลค่า 15,128 ล้านบาท
  5. ทำเลสุขุมวิท จำนวน 6,232 หน่วย มูลค่า 55,204 ล้านบาท