ธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ - ตกแต่ง ฟื้น! TCM ทำรายได้ทะลุ 9 พันล้าน พลิกมีกำไร

05 มี.ค. 2566 | 13:55 น.
741

TCMC ประกาศผลประกอบการปี 2565 ทำรายได้กว่า 9,066 ล้านบาท พลิกกลับมามี กำไร 174.52 ล้านบาท หลังธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ - ตกแต่งพื้น - เบาะรถยนต์ ฟื้น โรงแรม ศูนย์ประชุม สนามบิน รีโนเวทรับท่องเที่ยว จ่อขยายตลาดใหม่ ตอบโจทย์ความต้องการฟื้นตัวหลังวิกฤต

3 มีนาคม 2566 - นางสาวปิยพร พรรณเชษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีซีเอ็ม คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)  (TCMC)  เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานของกลุ่มบริษัทในปี 2565 มีรายได้จากการขายสินค้าและบริการรวม 9,066.57 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนที่มีรายได้ 7,744 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 17.07 และมี EBITDA จำนวน 490.78 ล้านบาท สูงขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อน คิดเป็นร้อยละ 64.10 

โดยมีผลประกอบการเป็นกำไรสุทธิ 174.52 ล้านบาท สูงกว่างวดเดียวกันของปีก่อนที่มีผลขาดทุนสุทธิ 120.11 ล้านบาท โดยคิดเป็นกำไรสุทธิส่วนของผู้ถือหุ้นใหญ่ 106.16 ล้านบาท 
 

ทั้งนี้ เป็นผลมาจากตลาดที่เริ่มฟื้นกลับมาหลังจากสถานการณ์โควิดคลี่คลาย โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจวัสดุตกแต่งพื้นผิว ที่มีความต้องการเพิ่มมากขึ้น จากการกลับมาของนักท่องเที่ยว การฟื้นตัวของกลุ่มโรงแรม โรงภาพยนตร์ ศูนย์ประชุม การเติบโตของธุรกิจ MICE และการปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงาน การเพิ่มไลน์สินค้า รวมถึงขยายตลาดสู่กลุ่มลูกค้าใหม่และความพยายามลดต้นทุน ปรับเปลี่ยนประสิทธิภาพการดำเนินงานสู่ความยั่งยืนของทุกกลุ่มธุรกิจ 

" จากภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัวและการกลับมาอย่างคึกคักของนักท่องเที่ยวต่างชาติทำให้ปี 2565 ภาพรวมการการดำเนินงานมีการปรับตัวดีขึ้น รายได้หลักยังคงมาจากกลุ่มธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ในประเทศอังกฤษ ถึงแม้จะมีความกังวลกับสถานการณ์ความไม่แน่นอนที่เป็นผลพวงตามมาหลังจากโควิดคลี่คลาย ความขัดแย้งของรัสเซีย-ยูเครน และจากภูมิรัฐศาสตร์  ที่ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่การผลิต ภาคการขนส่งสินค้า อัตราเงินเฟ้อ สภาวะเศรษฐกิจถดถอย แต่ยังสามารถคงไว้ซึ่งผลประกอบการที่เป็นบวก และผลจากความพยายามทำลีนในองค์กรตลอด 2 ปีที่ผ่านมาของกลุ่มธุรกิจวัสดุตกแต่งพื้นผิว ประกอบกับตลาดที่เริ่มฟื้นกลับมา ทำให้ผลประกอบการพลิกกลับมามีกำไร "

ธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ - ตกแต่ง ฟื้น! TCM ทำรายได้ทะลุ 9 พันล้าน พลิกมีกำไร

กลุ่มธุรกิจหลักยังคงทำกำไรท่ามกลางปัจจัยท้าทาย 

จากผลการดำเนินงานในปี 2565 กลุ่มธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ (TCM Living) ได้รับอานิสงส์จากการคลี่คลายของ วิกฤตการณ์ขนส่งระหว่างประเทศในช่วงไตรมาส 1/2565 ซึ่งทำให้รายได้ในช่วงไตรมาสแรกสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์จากความต้องการของตลาดที่พุ่งสูงขึ้นหลังผ่านพ้นสถานการณ์โควิด และการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน ทำให้ค่าใช้จ่ายในการการขายและบริหารลดลง นอกจากนี้ยังมีรายได้จากการขายกิจการ Arlo & Jacob ในช่วงไตรมาสแรก 

ถึงแม้ว่าจะมีความท้าทายในเรื่องต้นทุนและการจัดหาวัตถุดิบในช่วงไตรมาส 4 แต่กลุ่มธุรกิจยังคงสามารถทำรายได้ทั้งปีสูงขึ้นร้อยละ 9.29 จากพฤติกรรมการเลือกซื้อสินค้าของลูกค้าเฟอร์นิเจอร์ในประเทศอังกฤษ ได้เริ่มกลับเข้าสู่สภาวะปกติในปี 2565

อย่างไรก็ตามมีปัจจัยที่ท้าทายการตัดสินใจใช้จ่ายของลูกค้าจากค่าครองชีพที่สูงขึ้น และความหลากหลายของตัวเลือกในการใช้เงิน เช่น การหยุดพักร้อนเป็นครั้งแรกหลังจากเกิดสถานการณ์โควิด แต่อย่างไรก็ดีทางกลุ่มธุรกิจก็ยังมีออเดอร์เข้ามาอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี ส่งผลให้สามารถทำกำไรขั้นต้นสูงกว่าปีก่อนหน้า แต่อัตรากำไรขั้นต้นยังไม่ดีนัก เนื่องจากตู้คอนเทนเนอร์ยังคงมีราคาสูงและวิกฤตการณ์ค่าครองชีพในประเทศอังกฤษ ส่งผลให้ต้นทุนวัตถุดิบ ค่าใช้จ่ายการขนส่ง และค่าแรงสูงขึ้น  

ธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ - ตกแต่ง ฟื้น! TCM ทำรายได้ทะลุ 9 พันล้าน พลิกมีกำไร

ด้านกลุ่มธุรกิจวัสดุตกแต่งพื้นผิว (TCM Surface) มียอดขายสูงขึ้นกว่าปีก่อน ร้อยละ 46.65 ทั้งจากกลุ่มลูกค้า เก่าและลูกค้าใหม่ ผลจากการฟื้นตัวของตลาด Hospitality ในปี 2565 ที่ค่อยๆ ฟื้นคืนกลับมาหลังจากเปิดประเทศและเดินทางท่องเที่ยวกันได้เป็นปกติ ถึงแม้กลุ่มธุรกิจจะได้รับผลกระทบจากค่าขนส่ง ค่าแรง และราคาวัตถุดิบที่สูงขึ้นจากสภาพตลาด แต่บริษัทได้มีการปรับราคาสินค้าให้สอดคล้องกัน 

อีกทั้ง ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาได้มีการปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงาน มีการลงทุนในเครื่องจักรที่ช่วยประหยัดพลังงาน ลดการใช้น้ำ ลดการใช้วัตถุดิบ รวมถึงการติดตั้งแผงผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาโรงงาน มุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนตอบโจทย์วิถีชีวิตแห่งอนาคตและใช้เทคโนโลยีใหม่มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ เพื่อลดค่าใช้จ่ายในด้านการดำเนินงาน รวมถึงอัตราแลกเปลี่ยนในปี 2565 ที่เป็นปัจจัยบวกกับกลุ่มธุรกิจ ส่งผลให้กลุ่มธุรกิจวัสดุปูพื้นมีผลกำไรสุทธิ 27.42 ล้านบาท

ธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ - ตกแต่ง ฟื้น! TCM ทำรายได้ทะลุ 9 พันล้าน พลิกมีกำไร  

กลุ่มธุรกิจพรมและผ้าหุ้มเบาะรถยนต์ (TCM Automotive) สามารถทำยอดขายในปี 2565 สูงขึ้นกว่าปีก่อน คิดเป็นร้อยละ 12.48 และสามารถทำอัตรากำไรขั้นต้นได้ร้อยละ 20.36 ลดลงจากงวดเดียวกันของปีก่อนเล็กน้อย เป็นผลจาก ต้นทุนในด้านราคาวัตถุดิบและค่าขนส่งที่สูงขึ้น รวมถึงสัดส่วนรายได้จากกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่มีต้นทุนสูง แม้อุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศไทยและต่างประเทศมีทิศทางที่ดีขึ้น แต่ก็ยังคงได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนชิพประมวลผล และวัตถุดิบซึ่งเป็นผลกระทบจากสงครามยูเครน-รัสเซีย 

อย่างไรก็ดีทางกลุ่มบริษัทมีการเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหาร โดยการทำให้ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารลดลง  มีการควบคุมค่าใช้จ่ายให้รัดกุมมากขึ้น ทำให้ในสิ้นปีกลุ่มธุรกิจพรมและผ้าหุ้มเบาะรถยนต์มีผลกำไรสุทธิ 73.98 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 8.99 ของยอดขาย  

ทั้งนี้ สภาพคล่องทางการเงินของกลุ่มบริษัทโดยรวมยังอยู่ในสภาพที่ดี โดยในปี 2565 กลุ่มบริษัทมีรายได้อื่นจำนวน 71.74 ล้านบาท เป็นรายได้จากดอกเบี้ยรับ ค่าเช่า ค่าขายสินทรัพย์ เศษซาก รวมถึง รายได้จากการขายธุรกิจ Arlo & Jacob และรายได้จากการบริหารจัดการด้านภาษี และมีกำไรจากการปรับมูลค่ายุติธรรมตามสัญญาอนุพันธ์จำนวน 30.53 ล้านบาท เนื่องจากการจองสัญญาอนุพันธ์ล่วงหน้าของกลุ่มธุรกิจวัสดุตกแต่งพื้นผิว และธุรกิจเฟอร์นิเจอร์ 

ส่งผลให้กลุ่มบริษัทมีสินทรัพย์รวม ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 ลดลงจากวันสิ้นปี 2564 จำนวน 212.89 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 2.50 มีหนี้สินรวมลดลงจากวันสิ้นปี 2564 จำนวน 182.98 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 3.13 และมีส่วนของผู้ถือหุ้น ลดลงจากปี 2564 จำนวน 29.91 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 1.11 สำหรับอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน ณ สิ้นปี 2565 อยู่ที่ 2.13:1 ลดลงจากวันสิ้นปี 2564 ซึ่งมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนเท่ากับ 2.17:1 

" ผลการดำเนินงานในปี 2565 แสดงให้เห็นว่าบริษัทได้มุ่งมั่นและพยายามอย่างเต็มที่ในการขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตสร้างผลกำไร ท่ามกลางปัจจัยท้าทายทั้งภายในและภายนอก โดยปี 2566 ยังถือเป็นปีแห่งความท้าทายในหลากหลายด้าน อย่างไรก็ตาม ทีซีเอ็มซียังตั้งเป้ารักษาส่วนแบ่งการตลาดและขับเคลื่อนบริษัทสู่อนาคตที่ยั่งยืน โดยแม้จะมีปัจจัยท้าทายใหม่ ๆ บริษัทได้เตรียมพร้อมรับมือด้วยการจัดทีมงานที่แข็งแกร่ง และปรับทัพธุรกิจสู่ความยั่งยืน  ทั้งยังไม่ทิ้งโอกาสการเติบโต โดยยังคงมีการศึกษาตลาดและแสวงหาโอกาสเพื่อการต่อยอดไปสู่ธุรกิจใหม่ ๆ และยังให้ความสำคัญกับการสร้างอนาคตที่ยั่งยืนตามเป้าหมายการพัฒนาสู่ความยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals: SDGs) เพื่อนำไปสู่การเติบโตสู่การเป็นองค์กรชั้นนำระดับโลกแห่งอนาคต "