“วรวุฒิ กาญจนกูล” มือพลิกโฉม สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน โอกาส บน วิกฤติรอบด้าน

19 ต.ค. 2565 | 10:54 น.
อัปเดตล่าสุด :19 ต.ค. 2565 | 18:01 น.

ยอดขาย-จองปลูกสร้างบ้าน ภายในงาน มูลค่า 4,300 ล้านบาท ทุบสถิติสูงที่สุดในรอบ 18 ปี (ตั้งแต่จัดงานมา) เป็นอีกเครื่องสะท้อนได้ว่า การใช้จ่ายเพื่อ 'ที่อยู่อาศัย' ของผู้บริโภค กำลังฟื้นตัวแรง ,ทนทานต่อปัจจัยลบรุมเร้า และ มีบริบทตอบโจทย์ที่เปลี่ยนแปลงหรือไม่?

ในช่วงปี 2555-2564 มูลค่าการลงทุนก่อสร้างโดยรวมของไทย มีสัดส่วนถึง 8.1% ของจีดีพีประเทศ ทั้งนี้ 'ตลาดบ้านสร้างเอง' ซึ่งครอบคลุม การสั่งสร้างบ้านผ่านบริษัทรับสร้างบ้าน และ ผู้รับเหมา เป็นอีกหนึ่งกลไกที่ขับเคลื่อนหัวจักรเศรษฐกิจดังกล่าว จากมูลค่า มากกว่า 2 แสนล้านบาท ในแต่ละปี โดยเฉพาะในพื้นที่ภูมิภาค ที่มีอัตราการเติบโตของตลาดอย่างน่าสนใจ 

 

การปิดฉาก 'งานรับสร้างบ้านและวัสดุ Expo 2022 สร้าง-เปลี่ยน-โลก' ซึ่งถูกจัดขึ้น โดยสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน (HBA) ด้วยยอดผู้เข้าชม ระยะ 4 วัน จำนวน 12,000 คน พร้อม ยอดขาย-จองปลูกสร้างบ้าน ภายในงาน มูลค่า 4,300 ล้านบาท ทุบสถิติสูงที่สุดในรอบ 18 ปี (ตั้งแต่จัดงานมา) เป็นอีกเครื่องสะท้อนได้ว่า การใช้จ่ายเพื่อ 'ที่อยู่อาศัย' ของผู้บริโภค กำลังฟื้นตัวแรง ,ทนทานต่อปัจจัยลบรุมเร้า และ มีบริบทตอบโจทย์ที่เปลี่ยนแปลงหรือไม่? 

'ฐานเศรษฐกิจ' เจาะเบื้องหลังความสำเร็จดังกล่าว ผ่านมุมมอง ผู้พลิกโฉมตลาดยุคใหม่ นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน “วรวุฒิ กาญจนกูล” ยุคแรกของวาระตำแหน่ง 3 ปี กับไทม์ไลน์ความท้าทายในหลายมิติ ตั้งแต่ สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ,วิกฤติเศรษฐกิจถดถอย ,สงครามยูเครนต่อต้นทุนราคาวัสดุที่เปลี่ยนไป และ การล็อคดาวน์กิจกรรมการขาย รวมถึง กฎหมายฉุกเฉินปิดตายแคมป์ก่อสร้างชั่วคราว และ เทรนด์ความผู้บริโภคที่ต้องไล่ให้ทัน พร้อมๆกับ การพัฒนา ยกระดับเวทีกลาง ดึงการมีส่วนร่วมในกลุ่มผู้ประกอบการ และ การทำงานร่วมกับภาครัฐ และ เอกชน เพื่อนำไปสู่ การตั้งอยู่ของ 'ธุรกิจรับสร้างบ้าน' อย่างยั่งยืน และ ได้รับความเชื่อถือในวงกว้าง 
 

ตีป้อมตลาดภูมิภาค ความสำเร็จด่านแรก

การเข้าสู่ปีที่ 18 โดยมีสมาชิกสมาคมฯ รวมทั้งสิ้น 136 บริษัท เพิ่มขึ้นถึง 20% โดยเฉพาะการเข้ามาของสมาชิกระดับภูมิภาค และยังมีบริษัทรับสร้างบ้าน ที่รอการตรวจรับอีกเป็นจำนวนมากนั้น กลายเป็นบันไดเสริมแกร่งให้กับตลาดธุรกิจรับสร้างบ้านในยุคนี้ ภายใต้ 3 เป้าหมาย ได้แก่ 1. ยกระดับสร้างความเชื่อมั่น 2. สร้างการมีส่วนร่วม และ 3.การพัฒนาอย่าง “ยั่งยืน”

 

เนื่องจากสัญญาณการผ่อนปรนมาตรการควบคุมโรคของรัฐ ซึ่งส่งผลให้การลงทุนเกี่ยวกับบ้านและรถยนต์ ฟื้นตัวตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2564 ทำให้ผู้บริโภคที่ชะลอแผนสร้างบ้านเอาไว้ เริ่มหันกลับมากล้าตัดสินใจสร้างบ้านใหม่อีกครั้ง แต่ภาพความไม่มั่นใจ ทั้งในแง่คุณภาพของงานก่อสร้าง ,ปัจจัยลบด้านต้นทุนก่อสร้าง และ ข้อพิพาทระหว่างลูกค้าและผู้รับเหมาที่เกิดขึ้นบ่อยขึ้น ทำให้สมาคมฯ ต้องรับงานหนัก ปลดล็อคจุดบอดสำคัญ 

 

ซึ่ง นายวรวุฒิ ระบุว่า ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา  สมาคมฯประสบความสำเร็จ ในการเพิ่มมูลค่าตลาด จากการเข้ามา และ ช่วยพัฒนาบริษัทท้องถิ่น ไปสู่ บริษัทรับสร้างบ้านที่มีคุณภาพ ทั้งในโซนภาคอีสาน และ ภาคใต้ ทำให้ได้รับความสนใจจากลูกค้าใหม่ๆเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจาก ปัจจุบันผู้บริโภค ในภูมิภาค ต้องการใช้บริการ 'บริษัทรับสร้างบ้าน' มากขึ้น ต่างจากในอดีตที่มีเฉพาะใน กทม. และปริมณฑล เท่านั้น 

 

"เราประสบความสำเร็จ แง่การสร้างความรับรู้ในหมู่ผู้ประกอบการ และผู้บริโภค ซึ่งการเข้ามาเป็นสมาชิกผู้รับเหมาจะถูกยกระดับ จากแกนกลาง มาตรฐานก่อสร้าง การขาย และส่งเสริมความรู้ นวัตกรรมใหม่ๆ ช่วยทำให้ภาพรวมผู้บริโภคให้ความเชื่อใจ และ หันมาใช้บริการจากบริษัทของสมาคมมาก "

 

กระทุ้งรัฐหนุนอสังหาฯนำเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม ในภาพใหญ่ธุรกิจนี้ ยังท้าทายอยู่อีกมาก โดยเฉพาะราคาวัสดุก่อสร้างที่พุ่งแรง เช่น เหล็ก ซีเมนต์ โลหะ ฯล ทำให้ต้นทุนก่อสร้างสูง บวกกับปัญหา เงินเฟ้อ และ ดอกเบี้ย ทำให้กำลังซื้อกลุ่มบ้านต่ำกว่า 2.5 ล้านบาท ลดลงไป  นำมาซึ่งการปรับตัวใหม่ของบริษัทต่างๆ เปิดเซกเม้นท์บ้านระดับบน 10-20 ล้านบาท เพื่อรองรับ ความแข็งแกร่งของกลุ่มกำลังซื้อสูง อีกด้านกลายเป็นตัวเร่งการเติบโตช่วงท้ายของตลาดปี 2565 เพราะผู้บริโภคแห่จองสร้างบ้านเพื่อล็อกราคา ก่อนราคาบ้านจะปรับขึ้นสูงในปีหน้า โดยเฉพาะจากต้นทุนด้านค่าจ้างแรงงาน การขนส่ง หากสงครามยูเครน ยังยืดเยื้อ

 

ทั้งนี้ นายวรวุฒิ ระบุต่อว่า สิ่งที่เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการเติบโตของธุรกิจรับสร้างบ้าน ยังมาจาก กระบวนการ และระเบียบขั้นตอนทางราชการที่ล่าช้าซ้ำซ้อน โดยในแนวทางออกนั้น มีแนวคิดสอดคล้องกับภาคอสังหาริมทรัพย์ใหญ่ ที่ต้องการให้ปลดล็อคกับดัก หนุนนำ อสังหาฯเพื่อสร้างเศรษฐกิจยุคใหม่ เช่น การออกใบอนุญาตปลูกสร้างอิเล็กทรนิกส์ , การขออนุญาตในแง่ต่างๆ โดยใช้มาตรฐานแกนกลางของกฎหมาย ไม่ใช่ใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่เป็นหลัก และ ให้รวมศูนย์ในรูปแบบ Onestop Service เพื่อลดค่าใช้จ่ายและร่นระยะเวลา ช่วยเหลือทั้งผู้ประกอบการและผู้บริโภค 

 

"ปัญหาที่เจอกัน คือ กระบวนการขอปลูกสร้าง แต่ละขั้นตอน ที่ใช้เวลานานเกินไป และ ไม่เที่ยงตรง ซึ่งทำให้เกิดความเสียหายหลายแง่ ทั้งด้านเศรษฐกิจ และ ภาษีหมุนเวียน โดยเห็นว่า หากรัฐบาลให้ความสำคัญอสังหาฯ และลดอุปสรรคดังกล่าว ตลาดบ้านสร้างเอง ก็จะเป็นส่วนสนับสนุนเศรษฐกิจได้ดี  "

 

โอกาสและจุดเปลี่ยนบ้านสร้างเอง 

นายวรวุฒิ ประเมินภาพรวมตลาดธุรกิจรับสร้างบ้านในปี 2566 ว่า แม้จะยังไม่เห็นปัจจัยบวกมากนัก  แต่เชื่อมั่นว่า เศรษฐกิจไทยจะเข้มแข็งได้แรงหนุน จากการกลับมาฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวไทยอย่างเต็มตัว สร้างเม็ดเงินสะพัดลงสู่ท้องถิ่น บวกการขยายตัวในภาคการส่งออก จะก่อเกิดแรงผลักกำลังซื้อในภาคอสังหาฯ 

 

โดย 'ตลาดรับสร้างบ้าน' ยังมีโอกาสเติบโตที่ดี จากขนาดตลาดที่ใหญ่มาก โดยเฉพาะ ช่องว่าง จากการปรับตัวเปลี่ยนโหมดของธุรกิจอสังหาฯ และ เจ้าของที่ดิน หลังจากพบ ปัจจุบันดีเวลลอปเปอร์ หันมาใช้โมเดล แบ่งแปลงแยกขายที่ดิน โดยให้ลูกค้าเลือกแบบบ้าน ก่อนใช้บริการบริษัทรับสร้างบ้านมารับช่วงต่อแทน เพื่อพัฒนา เป็นบ้านพักตากอากาศ และ บ้านหลังที่ 2 ระดับบน มีความคึกคักสูงในทำเลที่ดินราคาสูง เช่น พัทยา และ เขาใหญ่ นับเป็นตลาดที่น่าจับตามองในอนาคต เพราะพบดีเวลลอปเปอร์ยังขาดแคลนบริษัทรับเหมาเชื่อมต่อธุรกิจอยู่จำนวนมาก 

 

"แม้เศรษฐกิจโดยรวมอาจยังมีปัญหา แต่ตลาดบ้านสร้างเองใหญ่มากเกือบ 2 แสนล้านบาท โดยธุรกิจรับสร้างบ้านเป็นสัดส่วนแค่ 10-20% เท่านั้น ที่มีโอกาสจะเติบโตได้อีก ขณะกลุ่มผู้บริโภคแข็งแกร่ง จากบทเรียนล็อกดาวน์ 2 ครั้ง แต่ยอดขายลดลงเพียง 5% เท่านั้น ก่อนกลับมาเติบโตกระโดดอย่างรวดเร็ว "

 

'บ้านประหยัดพลังงาน' รัฐต้องอุ้ม 

อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญและจะเป็นตัวเร่งการตัดสินใจสร้างบ้านของผู้บริโภคยุคใหม่ ยังมาจาก เทรนด์ความต้องการ เกี่ยวกับ 'บ้านประหยัดพลังงาน' จากต้นทุนค่าไฟฟ้าที่คนไทยแบกรับภาระมากขึ้น ซึ่งนายวรวุฒิ ฉายภาพทิ้งท้ายในบทสัมภาษณ์ไว้ว่า 'วิกฤติด้านพลังงาน' ของไทย กลายเป็นวาระแห่งชาติ และดันให้ผู้อยู่อาศัยยุคใหม่ ต้องการบ้านที่มีการติดตั้งหลังคาโซลาร์เซลล์ เพื่อผลิตไฟฟ้าใช้เอง อย่างไรก็ตาม ส่วนใหญ่ยังมีความกังวลด้านต้นทุนสูง 

 

จึงเห็นว่า เมื่อในภาพใหญ่ระดับโลก รัฐบาลประกาศนโยบายเป้าหมาย : กำหนดให้ไทยเป็นกลางทางคาร์บอนแล้ว ก็ควรต้องเร่งออกนโยบายมาสนับสนุน 'บ้านพลังงานทดแทน' ด้วยเช่นกัน  เพื่อเปลี่ยนถ่ายจูงใจในฝั่งผู้บริโภค เช่น กระทรวงการคลังสนับสนุนผ่านนโยบายด้านภาษี หรือ ภาคธนาคารปล่อยสินเชื่อพิเศษ สำหรับบ้านสีเขียว เพื่อให้ต้นทุนถูกลง เป็นต้น 

 

"ถ้ารัฐบาลออกนโยบายสนับสนุน คล้ายกับที่กำลังผลักดันอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ทั้งมาตรการด้านภาษี และ เงินสนับสนุนฝั่งผู้บริโภค เชื่อตลาดบ้านพลังงานทดแทนจะเกิดขึ้นได้จริง "

 

ทั้งนี้ สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน พร้อมที่จะเป็นเวทีกลางในการส่งเสริม สนับสนุนการประกอบธุรกิจรับสร้างบ้าน ทั้งในทางปฏิบัติและทางวิชาการ เพื่อยกระดับมาตรฐานคุณภาพสินค้า การบริการให้เป็นที่เชื่อถือและเป็นที่ยอมรับของภาครัฐ องค์กรธุรกิจต่าง ๆ ผู้บริโภคและประชาชนทั่วไป หลังจากนำร่อง โครงการ “แบบบ้านประหยัดพลังงาน” หรือ “บ้านเบอร์ 5”ศึกษาร่วมกับ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ,การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ,ธนาคารกสิกรไทย และ เอสซีจี เพื่อพัฒนาเป็นโมเดลต้นแบบ เพื่อให้ความรู้สมาชิก และ เป็นสะพานเชื่อมต่อให้ในฝั่งผู้บริโภค ก้าวสู่การเปลี่ยนผ่านการปลูกสร้างบ้านบนที่ดินของตนเองในรูปแบบใหม่อย่างยั่งยืน