ขึ้นค่าแรง หวั่นต้นทุน 'สร้างบ้าน'พุ่ง คนไทยแห่ ล็อกราคา

30 ก.ย. 2565 | 11:36 น.
อัปเดตล่าสุด :30 ก.ย. 2565 | 20:33 น.

คนไทยกลัว 'ต้นทุน'พุ่ง หลังเตรียมปรับค่าแรง 1 ต.ค. นี้ แห่จอง 'สร้างบ้าน' ล็อกราคา ส่งผล งานรับสร้างบ้าน และวัสดุ Expo 2022 ทุบสถิติใหม่ ทำยอดขาย มูลค่าสูงสุดใน รอบ 18 ปี

30 ก.ย.2565 - แรงเกินคาดกับงานรับสร้างบ้านและวัสดุ Expo 2022 “สร้าง-เปลี่ยน-โลก” สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน เผยทุบสถิติยอดจองปลูกสร้างบ้าน มูลค่า 4,300 ล้านบาท สูงสุดในรอบ 18 ปี เติบโต 27% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ด้วยจำนวนผู้เข้าร่วมชมงานกว่า 12,000 คน หลังจากดีมานด์ขยับแรงมาจาก “ต้นทุน” สร้างบ้านที่ปรับตัว พบค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำที่ปรับขึ้นตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2565 ประมาณ 5-6% ส่งผลค่าแรงก่อสร้างบ้านต่อหลังพุ่งอีก 1.5%

ขึ้นค่าแรง หวั่นต้นทุน \'สร้างบ้าน\'พุ่ง คนไทยแห่ ล็อกราคา

นายวรวุฒิ กาญจนกูล นายกสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน (HBA) เปิดเผยว่า งานรับสร้างบ้านและวัสดุ Expo 2022 “สร้าง-เปลี่ยน-โลก” ที่ปิดฉากไปแล้วเมื่อ 14-18 กันยายน 2565 ณ อิมแพ็ค ฮอลล์ 6 เมืองทองธานี นั้นได้รับกระแสตอบรับที่ดีเกินคาดจากยอดจองสูงเป็นประวัติการณ์ มากที่สุดตั้งแต่จัดงานรับสร้างบ้านและวัสดุ Expo กว่า 18 ปีที่มีการจัดงานมาอย่างต่อเนื่อง 

 

ด้วยยอดจองปลูกสร้างบ้านในงาน มูลค่า 4,300 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงานเมื่อปีที่แล้วถึง 27% และคาดว่าจะมียอดสั่งสร้างบ้านเพิ่มเติมจากการติดตามภายหลังงานอีกไม่น้อยกว่า 2,000 ล้านบาท โดยตลอด 5 วันของการจัดงานได้รับความสนใจของผู้เข้าร่วมงานในปีนี้มากถึง 12,000 คน เพิ่มขึ้น 20% เมื่อเปรียบเทียบกับเป้าหมายที่ 10,000 คน

ขึ้นค่าแรง หวั่นต้นทุน \'สร้างบ้าน\'พุ่ง คนไทยแห่ ล็อกราคา

“ผลตอบรับจากผู้ต้องการปลูกสร้างบ้านในปีนี้เกินความคาดหมายไปมาก โดยมีผลมาจากการประชาสัมพันธ์งานที่ทั่วถึงในทุกช่องทาง อีกทั้งโปรโมชั่นที่บริษัทรับสร้างบ้านนำมาเสนอก็มีความน่าสนใจมาก ๆ หลายบริษัทได้นำแบบบ้านรุ่นใหม่ที่มีความสวยงาม โดดเด่น ส่วนใหญ่จะเป็นสไตล์โมเดิร์นที่ทันสมัยไม่ซ้ำแบบเดิม รวมทั้งมีบริษัทรับสร้างบ้านในต่างจังหวัดเข้าร่วมงานในปีนี้ ทำให้มีความหลากหลาย และครอบคลุมพื้นที่การให้บริการเกือบทั่วประเทศ ซึ่งปีนี้พบว่ามีผู้ที่ต้องการสร้างบ้านในพื้นที่ต่างจังหวัดร่วมชมงานเป็นจำนวนมาก” นายวรวุฒิ กล่าว

 

ทั้งนี้ ผู้เข้าชมงานให้ความสนใจแบบบ้านประหยัดพลังงานเป็นอย่างมาก ทั้งจากในบูธบริษัทรับสร้างบ้านที่นำเสนอแบบบ้าน และบูธนิทรรศการที่แสดงถึงวัสดุและองค์ประกอบของการประหยัดพลังงาน ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องใหม่ที่ทางสมาคมฯ ยังต้องให้ความรู้แก่ทั้งผู้บริโภคและอบรมสมาชิกบริษัทรับสร้างบ้านเพื่อให้สามารถนำไปปฏิบัติใช้งานให้เกิดผลอย่างจริงจังในอนาคต

 

สำหรับราคาบ้านที่มาแรง และมียอดจองปลูกสร้างบ้านมากที่สุดในครั้งนี้ สามารถแบ่งได้เป็น 5 ระดับราคา ได้แก่ บ้านราคาต่ำกว่า 2.5 ล้านบาท คิดเป็น 2.8% ราคา 2.5-5 ล้านบาท คิดเป็น 40.2% ราคา 5-10 ล้านบาท คิดเป็น 34% ราคา 10-20 ล้านบาท คิดเป็น 15% และราคามากกว่า 20 ล้านบาท คิดเป็น  8%

 

ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบจากข้อมูลการจองปลูกสร้างบ้านในปี 2021 พบว่ามีความเปลี่ยนแปลงของผู้จองปลูกสร้างบ้านในระดับราคา 2.5-5 ล้านบาท ปรับตัวลดลงมากที่สุดถึง 15% ในขณะที่บ้านในระดับราคา 10-20 ล้านบาท มีปริมาณเพิ่มขึ้นถึง 28% และบ้านในระดับ 20 ล้านบาทขึ้นไป มีปริมาณความต้องการเพิ่มขึ้น 13%

 

“ภาพรวมของตลาดรับสร้างบ้านของไตรมาสช่วงสุดท้ายของปี 2565 ยังถือว่ายังไปได้ดี ดูได้จากยอดจองปลูกสร้างบ้านในงาน Home Builder Expo 2022 ที่สูงขึ้น โดยเฉพาะความต้องการสร้างบ้านในระดับราคา 10-20 ล้านบาท ที่มีการเติบโตสูงที่สุด รวมทั้งเห็นสัญญาณการขยายตัวที่ดีของดีมานด์ในต่างจังหวัด โดยเฉพาะภาคอีสานและภาคตะวันออก” นายวรวุฒิ กล่าว

 

นายวรวุฒิ กล่าวว่า จากความสำเร็จที่เกิดขึ้นกับยอดจองที่ทุบสถิติสูงสุดในรอบ 18 ปี นอกจากแบบบ้านใหม่ และข้อเสนอพิเศษแล้ว อีกปัจจัยที่เป็นตัวเร่งการตัดสินใจสร้างบ้านเร็วขึ้นมาจาก “ต้นทุน” การสร้างบ้านที่ปรับตัว โดยค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำที่ปรับขึ้นตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2565 ประมาณ 5-6% จะส่งผลทำให้ค่าแรงก่อสร้างบ้านต่อหลังสูงขึ้นอีกราว 1.5%

ขึ้นค่าแรง หวั่นต้นทุน \'สร้างบ้าน\'พุ่ง คนไทยแห่ ล็อกราคา

ในส่วนของราคาวัสดุก่อสร้างพบว่าหลายชนิดที่มีแนวโน้มปรับขึ้นอีก เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบนำเข้าที่สูงขึ้นจากเงินบาทที่อ่อนตัวและจากการปรับค่าแรงที่มีผลทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นเช่นกัน โดยอัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มปรับสูงขึ้นจะมีผลต่อการตัดสินใจในการปลูกสร้างบ้านในระดับไม่เกิน 5 ล้านบาท มากที่สุด ขณะที่ความเสี่ยงจากภาวะสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนนั้น ยังมีความน่ากังวลว่าราคาน้ำมันอาจจะปรับสูงขึ้นอีก ซึ่งจะมีผลต่อการผลิตวัสดุก่อสร้างและการขนส่งโดยตรง

 

“ภาพรวมของตลาดรับสร้างบ้านในปี 2565 พบว่ามีมูลค่าประมาณ 12,500 ล้านบาท นับเป็นการใช้จ่ายเพื่อที่อยู่อาศัยของผู้บริโภคในช่วงสถานการณ์โควิด-19 เริ่มผ่อนคลายเมื่อเทียบกับ 1-2 ปีก่อนหน้านี้” นายวรวุฒิ กล่าว