ส่องธุรกิจ 'ดาต้าเซ็นเตอร์' ในไทย เปิดชิง แย่งชิง 'พื้นที่'ศักยภาพทั่วกทม.

03 ส.ค. 2565 | 10:08 น.
อัปเดตล่าสุด :03 ส.ค. 2565 | 17:13 น.
1.8 k

ไนท์แฟรงค์ เปิดทิศทางตลาด 'ดาต้าเซ็นเตอร์' ในไทย หลังความต้องการใช้งานคลาวด์ ดันเติบโตขึ้นแท่นเบอร์ 9 ของภูมิภา เพิ่มดีมานด์ 'เช่าพื้นที่ศักยภาพ' จับตา AWS, Alibaba, Tencent และ Huawei ขยายแผนสู่ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค

3 สิงหาคม 2565 - บริษัทไนท์แฟรงค์ ประเทศไทย ที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์  ระบุว่า ขณะนี้พบผู้ให้บริการคลาวด์ (Cloud) วางแผนการขยายธุรกิจมายังกรุงเทพมหานครและภูมิภาคนี้มากขึ้น ส่งผลให้ความต้องการพื้นที่เก็บข้อมูลหรือดาต้าเซ็นเตอร์ (data centre) เติบโตขึ้นอย่างชัดเจน 


ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตกว่า 48 ล้านคน ซึ่งหมายถึงความต้องการพึ่งพาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลสำหรับเศรษฐกิจและสังคมที่กำลังเติบโตนี้เพิ่มขึ้นเช่นกัน และด้วยเหตุนี้ ผู้ให้บริการคลาวด์จากจีนและสหรัฐฯ หลายรายกำลังเตรียมความพร้อมในการเปิดให้บริการคลาวด์สู่ตลาดในประเทศ 

เจาะแนวโน้มธุรกิจดาต้าเซ็นเตอร์

ส่วนแบ่งตลาดของภาคธุรกิจดาต้าเซ็นเตอร์ในกรุงเทพฯนั้นมีความหลากหลายจากทั้งผู้ให้บริการจากในประเทศอย่าง True IDC หรือ CSL และต่างประเทศอย่าง NTT จากญี่ปุ่น, SUPERNAP จากสหรัฐอเมริกา หรือ STT GDC จากสิงคโปร์ และอื่น ๆ อีกมากมาย นับตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนได้ประกาศแผนกระตุ้นภาคธุรกิจดาต้าเซ็นเตอร์ที่ผ่านเกณฑ์กำหนด โดยจะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นระยะเวลา 8 ปี โดยไม่กำหนดวงเงิน เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติเข้าสู่ประเทศมากยิ่งขึ้น 

ส่องธุรกิจ \'ดาต้าเซ็นเตอร์\' ในไทย เปิดชิง แย่งชิง \'พื้นที่\'ศักยภาพทั่วกทม.

ในช่วงต้นของปี 2561 บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่จากจีนอย่าง Tencent และ Huawei เข้าสู่ตลาด ก่อนตามมาด้วย Alibaba ซึ่งเปิดให้บริการคลาวด์ในระบบภูมิภาคเมื่อปลายปีที่แล้ว โดยได้เปิดระบบคลาวด์ขนาดหลายเมกะวัตต์ในรูปแบบ colocation ทั่วไทย นอกจากนี้ Amazon Web Services (AWS) ยังได้ซื้อที่ดินร่วมสามแปลงเพื่อพัฒนาดาต้าเซ็นเตอร์ขึ้นเองในเขตพื้นที่ทางตอนใต้ของโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นที่ตั้งที่ได้เปรียบทางกลยุทธ์ เพราะใกล้กับสถานีเคเบิล ท่าเรือแหลมฉบัง

ไทยขึ้นแท่นอันดับ 9 เอเชียแปซิฟิค

จากรายงานการสำรวจล่าสุดของไนท์แฟรงค์ที่จัดทำร่วมกับ DC Byte พบว่ามีดาต้าเซ็นเตอร์ทั้งสิ้นกว่า 50 แห่งในกรุงเทพฯ คิดเป็นการเช่าใช้พื้นที่เก็บข้อมูลแล้วหรือพร้อมสำหรับให้เช่ารวม 46 เมกะวัตต์ (MW) โดยจัดอยู่ในอันดับ 9 ในเขตภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค ซึ่งสำหรับในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาอัตราเติบโตโดยเฉลี่ยต่อปีของอุปทานรวมและปริมาณการเช่าใช้พื้นที่ดาต้าเซ็นเตอร์ในรอบปีอยู่ที่ 22.7% และ 25.4% ตามลำดับ

 

" การลงทุนที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วนี้ เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงการคาดการณ์ของผู้ให้บริการดาต้าเซ็นเตอร์ที่มีต่อการเติบโตในอนาคตของระบบคลาวด์ในกรุงเทพฯ ด้วยเหตุนี้เอง เหล่าผู้ให้บริหารต่างต้องแสวงหาพื้นที่ที่มีขนาดใหญ่เพื่อที่จะสามารถรองรับการปล่อยเช่าในระดับหลาย   เมกะวัตต์ให้แก่บริษัทใหญ่ ๆ อย่าง Tencent, Amazon และ Microsoft เพื่อใช้ในการดำเนินธุรกิจคลาวด์ในประเทศ " 


ในไตรมาส 1 ปี 2565 กรุงเทพฯมีปริมาณการเช่าใช้พื้นที่ดาต้าเซ็นเตอร์ที่ระดับ 5 เมกะวัตต์ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากการใช้งานระบบคลาวด์แบบสาธารณะเป็นหลัก ในขณะที่ปริมาณการเช่าใช้พื้นที่รวมในปี 2564 อยู่ที่ 14.32 เมกะวัตต์ ซึ่งคิดเป็นการเพิ่มขึ้นเกือบ 900% จากในปี 2563 ซึ่งการเติบโตของตลาดในขณะนี้ส่งผลให้ผู้ให้บริการคลาวด์ระดับไฮเปอร์สเกลให้ความสนใจตลาดในภูมิภาคนี้มากยิ่งขึ้น

ส่องธุรกิจ \'ดาต้าเซ็นเตอร์\' ในไทย เปิดชิง แย่งชิง \'พื้นที่\'ศักยภาพทั่วกทม.

อุปทานรวมของดาต้าเซ็นเตอร์ในปัจจุบันปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 147 เมกะวัตต์ หลังจากที่ NTT ประกาศแผนการขยายโรงงานแห่งที่ 2 ในกรุงเทพฯ การเติบโตของอุปทานในอนาคต แผนการพัฒนาดาต้าเซ็นเตอร์ของ Etix Everywhere หลังจากเข้าซื้อและกลายเป็นหุ้นส่วนใหญ่ของโรงงานขนาด 2.4 เมกะวัตต์ ที่ดำเนินการโดย Genesis Data Center 

 

นอกจากนี้ Singtel ซึ่งเป็นผู้ให้บริการโทรคมนาคมของสิงคโปร์ได้ลงนามตามข้อตกลงการพัฒนาร่วมกับ Gulf Energy Thailand และ AIS เพื่อร่วมพัฒนาดาต้าเซ็นเตอร์ในทั่วประเทศ Raimon Land ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ระดับชั้นนำแนวหน้าของไทยได้ขยายธุรกิจสู่ดาต้าเซ็นเตอร์ โดยร่วมสร้างพันธมิตรเชิงกลยุทธ์กับ Nautilus Data Technologies ผู้พัฒนาดาต้าเซ็นเตอร์ที่มีฐานที่ตั้งอยู่ในสหรัฐฯ ซึ่งความร่วมมือดังกล่าวจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถให้ Raimon Land ในการให้บริการด้านโครงสร้างพื้นฐานด้วยมาตรฐานระดับโลกในประเทศไทย รวมถึงประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคใกล้เคียง


ดันความต้องการเช่าพื้นที่ในดาต้าเซ็นเตอร์

เมื่อวิเคราะห์ตลาดระดับภูมิภาคที่สำคัญ จะเห็นได้ชัดว่าสิงคโปร์เป็นตลาดที่มีการเช่าพื้นที่ในดาต้าเซ็นเตอร์มากที่สุด โดยอยู่ที่ 113.5 เมกะวัตต์ต่อประชากรหนึ่งล้านคน ขณะที่ผลเฉลี่ยการใช้งานจะอยู่ที่ 5 เมกะวัตต์ต่อประชากรหนึ่งล้านคน อย่างไรก็ดี ตัวเลขของประเทศไทยอยู่ที่เพียง 0.7 เมกะวัตต์เท่านั้น ซึ่งแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มความต้องการด้านดาต้าเซ็นเตอร์ที่ยังสามารถเพิ่มขึ้นได้อีกมากในอนาคตอันใกล้นี้

 

แนวโน้มหลักและภาพรวมตลาดดาต้าเซ็นเตอร์

มีการคาดการณ์ว่าภายในปี 2568 ตลาดดาต้าเซ็นเตอร์ในประเทศไทยจะมีปริมาณพื้นที่สำหรับรองรับการใช้งานจริงเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า หรือประมาณ 100 เมกะวัตต์ จากความสนใจในการดำเนินธุรกิจคลาวด์ในระดับไฮเปอร์สเกลในภูมิภาค ดาต้าเซ็นเตอร์ที่จะถูกพัฒนาขึ้นใหม่จะมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้นในการรับมือต่อการขัดข้องของระบบ ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายทางธุรกิจเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ตาม ธุรกิจหลายแห่งที่ยังคงจัดการระบบฐานข้อมูลของตัวเองแบบเบ็ดเสร็จสมบูรณ์จะประสบกับปัญหาเหล่านี้อยู่ 

 

การเปลี่ยนผ่านจากเซิร์ฟเวอร์ที่บริษัทเป็นเจ้าของเองไปสู่ระบบคลาวด์สาธารณะจะปรากฏเพิ่มขึ้น  ซึ่งสาเหตุหลักมาจากการให้ความสำคัญต่อความคุ้มค่าในการลงทุน ความยืดหยุ่น และความน่าเชื่อถือที่เพิ่มขึ้น 

 

ดาต้าเซ็นเตอร์ขนาดเล็ก (Edge data centers) จะมีบทบาทสำคัญมากขึ้นในการสนับสนุนดาต้าเซ็นเตอร์ระดับไฮเปอร์สเกล เพื่อปรับปรุงประสบการณ์ผู้ใช้ โดยลดความล่าช้า (latency) ของเครือข่ายระหว่างการดำเนินการของผู้ใช้และการตอบสนองStephen Beard (Co-Head Global Data Centers) กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยเป็นตลาดดาต้าเซ็นเตอร์ที่ได้รับความสนใจมากที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค เนื่องจากผู้ให้บริการดาต้าเซ็นเตอร์กำลังต่อสู้เพื่อแย่งชิงพื้นที่ที่มีศักยภาพมากที่สุดตามข้อสัญญาการเช่าซื้อในฐานะผู้ให้บริการคลาวด์ ในขณะที่ AWS,  Alibaba, Tencent และ Huawei ได้เปิดตัวคลาวด์ระดับภูมิภาคขององค์กรแต่ละแห่งในประเทศ เรามั่นใจว่ากลุ่มผู้ให้บริการคลาวด์ของสหรัฐฯ รายอื่น ๆ นั้นกำลังวางแผนที่จะเข้าสู่ตลาดในภูมิภาคนี้ในไม่ช้า ทั้งนี้ ทีมพัฒนาฝ่ายดาต้าเซ็นเตอร์ของไนท์แฟรงค์กำลังทำงานร่วมกับผู้ให้บริการหลายรายทั่วเขตกรุงเทพ เพื่อคัดสรรพื้นที่ที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการพัฒนาพื้นที่ดาต้าเซ็นเตอร์