"อาบอบนวด" จ่อสูญพันธุ์ บิ๊กอสังหาฯไล่ทุบอ่างขึ้นตึกสูง

18 มิ.ย. 2565 | 17:35 น.
อัปเดตล่าสุด :19 มิ.ย. 2565 | 00:37 น.
10.2 k

"อาบอบนวด" จ่อสูญพันธุ์บิ๊กทุนอสังหาฯไล่ช็อป หลังโควิดถล่ม ความต้องการคนรุ่นใหม่เปลี่ยน ล่าสุด เจ้าพระยา2 ถนนศรีอยุธยาใกล้ BTS พญาไท ปิดกิจการ ปล่อยเช่าอาคารสำนักงาน โรงแรม  ชีวาทัยยึดปิ่นเกล้า ซิว วาเลนไทน์ ลุยคอนโด หลังสองยักษ์ใหญ่ ศุภาลัย-อนันดาคว้าทำเลทอง

 “อาบอบนวด” สถานบริการสร้างสีสันยามราตรีของคนขี้เมื่อยเริ่มบางตาลงและถูกพลิกโฉมเป็นโครงการคอนโดมิเนียม อาคารสำนักงาน โรงแรมตึกสูงทันสมัยขึ้นมาแทนที่เพื่อให้เกิดความคุ้มค่าทางการลงทุน เนื่องจากทำเลที่ตั้งอยู่ในย่านเศรษฐกิจสำคัญ ใกล้แหล่งงาน อีกทั้งการเดินทางสะดวก บนถนนสายหลัก

อีกทั้งมีรถไฟฟ้าพาดผ่านจึงเป็นเหตุผลให้ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์เสือปืนไว ทาบซื้ออย่างสนุกมือ เพราะนอกจากที่ดินในเมืองหายากแล้วยังมีราคาที่สูงขึ้นต่อเนื่อง อีกทั้งหลายพื้นที่ไม่สามารถต่อสู้กับต้นทุน กับการเดินของดอกเบี้ยได้

โดยเฉพาะการมาของโควิด 19 แม้รัฐบาลจะฟื้นคืนชีพให้ธุรกิจสถานบันเทิงทุกประเภทรวมทั้งอาบอบนวดกลับมาเปิดให้บริการเป็นปกตินับตั้งแต่ วันที่ 1 มิถุนายน 2565 เป็นต้นมา แต่สถานการณ์กลับเลวร้ายคนใช้บริการไม่กลับมา หลายแห่งไม่มีทุนเดินต่อได้เพราะถูกปิดมานาน ทำให้ตัดสินใจขายหรือให้สถาบันการเงินยึดไป

"อาบอบนวด" หมดยุคเฟื่องฟู

อาบอบนวดหรือธุรกิจอ่าง หมดยุคเฟื่องฟูลงเนื่องจาก ถูกมองเป็นธุรกิจสีเทา จากการกวดขั้นของเจ้าพนักงาน ห้ามตั้งอยู่ใกล้สถานศึกษา วัดวาอาราม สถานที่สำคัญ รวมทั้ง มีค่าใช้จ่ายสูง เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้มาใช้บริการ ค่าใช้จ่ายพนักงาน น้ำประปา ที่ไม่สามารถใช้น้ำบาดาลได้อีกต่อไป ขณะเดียวกัน อาจต้องจ่ายส่วยให้กับผู้มีอำนาจ

ในเวลาต่อมา อาบอบนวดถูกดิสรัปต์ จากโลกเทคโนโลยี ความนิยมเดินทางมาใช้บริการอาบอบนวดลดลง เกิดช่องทางการให้บริการรูปแบบใหม่ตามความต้องการของผู้บริโภคซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ ในขณะคนรุ่นเก่าเริ่มล้มหายตายจาก

พลิกโฉม อาบอบนวดเจ้าพระยา 2        

แหล่งข่าวจากกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า อาบอบนวด ถูกเปลี่ยนการใช้ประโยชน์ มีการประกาศขายล่าสุด อาบอบนวดเจ้าพระยา 2 ถนนศรีอยุธยา ปิดกิจการลงเมื่อต้นปี 2565 ปัจจุบันกลายเปลี่ยนแปลงเป็นอาคารสำนักงาน

ขณะความต้องการที่ดินมีสูง และผู้ประกอบการชื่นชอบ เพราะอาบอบนวดขนาดแปลงที่ดินค่อนข้างใหญ่ มีขนาด 3-5 ไร่ ตั้งอยู่ย่านชุมชนใหญ่ติดถนนสายหลัก เช่นเดียวกับโรงภาพยนตร์หรือโรงหนัง สแตนอโลน

เมื่ออาบอบนวดมีข้อจำกัด ถูกห้ามไม่ให้มีการยื่นขออนุญาต เพราะควบคุมเกี่ยวกับการค้าประเวณี และปัจจุบันอยู่ในความดูแลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

อย่างไรก็ตามสถิติสถานบริการอาบอบนวดในกทม.มีกว่า 500 แห่ง และปัจจุบันออาจเหลือไม่เกิน 100 แห่ง

\"อาบอบนวด\" จ่อสูญพันธุ์ บิ๊กอสังหาฯไล่ทุบอ่างขึ้นตึกสูง

สอดคล้องกับนาย ภัทรชัย ทวีวงศ์  ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิจัยและการสื่อสาร บริษัท คอล ลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย จำกัด ที่ยืนยันว่า ที่ดินอาบอบนวดเจ้าพระยา 2 ขนาด เนื้อที่ไม่เกิน 3 ไร่ เจ้าของ ปิดกิจการนำที่ดินออกเช่าระยะยาว

โดยประเมินว่าเหมาะสำหรับพัฒนาเป็นโรงแรม อาคารสำนักงาน หากเป็นอาคารสำนักงานเกรดเอ ในทำเลดังกล่าว ราคาเช่าอยู่ที่ 750-800 บาทต่อตารางเมตร   แต่หากพัฒนาใหม่ระดับเกรดเดียวกัน สามารถปล่อยเช่าในราคา 900-1,000 บาท ต่อตารางเมตร

ขณะทำเลมองว่ายังไม่ดีมากนัก เพราะตั้งอยู่ห่างจากสถานีบีทีเอสพญาไท  แต่ราคาที่ดิน อยู่ที่ 1-1.1 ล้านบาทต่อตารางวาถือว่าสูง ขณะฝั่งตรงข้าม ละแวกใกล้กัน จะมีคอนโดมิเนียมไฮไรส์ แบรนด์ดังเกิดขึ้นจำนวนมาก  

ชีวาทัยยึด วาเลนไทน์อาบแอบนวดปิ่นเกล้า

ขณะที่ย่านปิ่นเกล้า บริษัท ชีวาทัย จำกัด (มหาชน) ได้ซื้อที่ดินและอาคารอาบอบนวด วาเลนไทน์  พัฒนาเป็นคอนโดมิเนียม ชีวาทัยปิ่นเกล้าสูง 20 ชั้นบนที่ดิน 3-4 ไร่ติดถนนปิ่นเกล้าทำเลศักยภาพเชื่อมเข้าเมืองได้สะดวกรวดเร็ว แนวเส้นทางรถไฟฟ้า

ปัจจุบันการก่อสร้างใกล้แล้วเสร็จโดยราคาที่ดินปัจจุบันตารางวาละ 3 แสนบาท ส่วนอาบอบนวดเจ้าพระยา 1 ถนนอรุณอัมรินทร์ กรณีเจ้าของประกาศขายบริษัทไม่ทราบแน่ชัดใครซื้อไป ยอมรับว่าธุรกิจอาบอบนวดถูกดิสรัปต์ ทั้งความนิยม รูปแบบธุรกิจใหม่มาก่อนหน้านี้ เมื่อเกิดโควิดระบาดซ้ำทำให้ได้ธุรกิจนี้รับผลกระทบ

ศุภาลัย-อนันดายุคบุกเบิก

จากการตรวจสอบของ “ฐานเศรษฐกิจ” พบว่า บนถนนศรีอยุธยา ใกล้สถานีบีทีเอสพญาไทติดแอร์พอร์ตลิงก์  มีความเคลื่อนไหวของผู้ประกอบการมองหาที่ดินขึ้นคอนโดมิเนียม แนวรถไฟฟ้าประกอบกับอยู่ในยุครุ่งเรืองของคอนโดมิเนียม หลังน้ำท่วมใหญ่ ปี 2554 เป็นต้นมา

โดย บมจ.ศุภาลัย ซื้อ อาบอบนวด ชวลา ติด ถนนศรีอยุธยา ห่างสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอสพญาไท 600 เมตร  เมื่อปี 2557 พัฒนาคอนโดมิเนียมสูง 30 ชั้น บนเนื้อที่ 5 ไร่ ในขณะนั้นราคาที่ดินตารางวาละ 6 แสนบาทและทำเลหัวมุมพระราม 9 ทำเลยอดนิยม

ขณะที่ บมจ . อนันดา ซื้ออัมสเตอร์ดัม อาบอบนวดร้าง พัฒนาคอนโดมิเนียมหรู แอชตัน อโศก-พระราม 9 ปัจจุบันราคาไม่ต่ำกว่า ตารางวาละ 1 ล้านบาท

จากธุรกิจอ่างสู่โรงแรม

เช่นเดียวกับ โพไซดอน อาบอบนวด ชื่อดังในย่านรัชดาภิเษก บนที่ดินเช่าของการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.) เนื้อที่ กว่า 15 ไร่ ได้ปรับแผนธุรกิจ จากอาบอบนวดเป็นโรงแรมระดับ 3 ดาว โดยมองโอกาสทางธุรกิจโรงแรม สามารถรองรับกลุ่มนักท่องเที่ยวในประเทศ กลุ่มสัมมนา ประชุมหรือกลุ่มคนเดินทางจากต่างจังหวัดเข้ากทม. เพื่อติดต่อเรื่องงาน
อาบอบนวด 80% ล้มตายก่อนโควิด

จากการวิเคราะห์ของนายวสันต์ คงจันทร์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์สจำกัด ผ่าน “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ธุรกิจอาบอบนวด กว่า 80% ได้เปลี่ยนธุรกิจไปประกอบอาชีพอื่นและขายสถานประกอบการก่อนหน้าจะเกิดโควิดและเมื่อโควิดมาทำให้ธุรกิจนี้ อาจสูญพันธุ์ ได้

เช่นเดียวกับนายสุรเชษฐ กองชีพ กรรมการผู้จัดการบริษัท บริษัท พร็อพเพอร์ตี้ ดีเอ็นเอ จำกัด ยอมรับว่า อาบอบนวด ไม่ได้รับความนิยม แต่ที่ดินได้รับความนิยมสูงจากผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ เพราะล้วนแต่ตั้งอยู่บนทำเลที่ดีโดยเฉพาะรัชดาฯ มีอาบอบนวดกว่า 20 แห่ง

ปัจจุบันคาดว่า มีเอกชนทาบซื้อไปแล้วหลายแห่งขณะราคาที่ดินบนถนนรัชดาฯ มีราคาค่อนข้างสูงผังเมืองกรุงเทพมหานคร ฉบับใหม่ปรับปรุงให้เป็นย่านศูนย์กลางธุรกิจใหม่รองจากสุขุมวิท สีลม สาทรมีอาคารสำนักงาน คอนโดมิเนียมศูนย์การค้าเกิดขึ้น และกลายเป็นย่านแหล่งงานอยู่อาศัยและช็อปปิ้งในปัจจุบัน