2 พ.ย.2564 - การรื้อทุบ " โรงหนังสกาลา " ย่าน สยามสแควร์ วานนี้ จากการเดินหน้าเข้าพัฒนาพื้นที่ของกลุ่มเซ็นทรัลพัฒนา หลังคว้าสิทธิ์ประมูล แปลง บล็อก A เนื้อที่ 7 ไร่ 31ตารางวา จากสำนักงานจัดการทรัพย์สิน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมาได้ โดยจ่ายค่าตอบแทน ในราคามากกว่า 5.9 พันล้านบาท ขณะแผนพัฒนาโรงหนังสกาลาหลังจากนี้นั้น มีรายงานข่าว ระบุว่า กลุ่มเซ็นทรัลพัฒนา เตรียมทุ่มอีก 5 พันล้าน สำหรับการนำที่ดินดังกล่าว ไปพัฒนาเป็นโครงการมิกซ์ยูส ซึ่งจะประกอบไปด้วย โรงแรม ห้างสรรพสินค้า รวมถึงสำนักงานให้เช่าอีกด้วย
กรณีดังกล่าว ก่อให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ ของกลุ่มคอหนังทั้งรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ ที่ต่างเคยมีประสบการณ์ร่วมกับโรงหนังระดับตำนานแห่งนี้ และสร้างความเศร้า ให้กับผู้ที่เคยผ่านไปผ่านมาและหลงไหลถึงสถาปัตยกรรมสวยแปลกตาตั้งตระหง่านในย่านทำเลทองมามากกว่า 50 ปี ซึ่งเหลือทิ้งไว้เพียงคำถาม และความเสียดาย ว่าเหตุใด? ไม่อนุรักษ์ สกาล่า ไว้
ทั้งนี้ โรงหนังสกาลา เคยได้รับรางวัลอาคารอนุรักษ์ศิลปสถาปัตยกรรม จากสมาคมสถาปนิกสยามฯ เมื่อ ปี พ.ศ.2555
ล่าสุด ศาสตราจารย์ ดร.ชาตรี ประกิตนนทการ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์สถาปัตยกรรม สถาปัตยกรรมไทย และการอนุรักษ์และพัฒนา ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Chatri Prakitnonthakan ระบุ ความสัมพันธ์ของโรงหนังสกาลา ในเชิงประวัติศาสตร์ไว้อย่างน่าสนใจว่า ...
การรื้อโรงภาพยนตร์สกาลา ไม่ใช่เพียงการรื้อสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ที่สวยงามเท่านั้น แต่คือการรื้อทิ้งหลักฐานประวัติศาสตร์สังคมชิ้นสำคัญที่สุดชิ้นหนึ่งของไทย ที่บอกเล่าประวัติศาสตร์สงครามเย็นผ่านธุรกิจโรงภาพยนตร์
ในทางสถาปัตยกรรม สกาลาคือโรงภาพยนตร์ standalone ที่ออกแบบอย่างสวยงามที่สุดในประเทศไทย ตัวอาคารออกแบบขึ้นด้วยแนวทาง “สถาปัตยกรรมสมัยใหม่ช่วงปลาย” (Late Modern Architecture) ที่ผสานเข้ากับการตกแต่งภายในแบบ Movie Palace ที่เน้นความอลังการหรูหรา ผสมศิลปะจากหลากหลายยุคสมัยเพื่อสร้างความแปลกตาแฟนตาซี (Eclectic Exoticism) ซึ่งหาได้ยากมากในโรงภาพยนตร์ standalone ในไทย ที่สำคัญ คือ เป็นตัวแบบที่เหลืออย่างสมบูรณ์เพียงหนึ่งเดียว
ในทางประวัติศาสตร์สังคม สกาลาถูกสร้างขึ้นเมื่อปี 2512 ภายใต้บรรยากาศ “สงครามเย็น” (สงครามทางอุดมการณ์ระหว่างโลกเสรีที่มีอเมริกาเป็นแกนนำกับโลกคอมมิวนิสต์ที่มีโซเวียตและจีนเป็นแกนนำ) ซึ่งภายใต้การต่อสู้ทางอุดมการณ์ดังกล่าว ภาพยนตร์คือหนึ่งในเครื่องมือที่สำคัญ ไม่เว้นแม้แต่ในประเทศไทย
กล่าวให้ชัดคือ การเฟื่องฟูขึ้นของธุรกิจภาพยนตร์และการสร้างโรงภาพยนตร์ standalone ทั่วประเทศไทยในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 แยกไม่ได้เลยจากเศรษฐกิจและการเมืองในบริบทสงครามเย็น (อ่านประเด็นนี้เพิ่มใน Rachel V. Harrison บทความเรื่อง The Man with the Golden Gauntlets: Mit Chaibancha’s Insi thorng and the Hybridization of Red and Yellow Perils in Thai Cold War Action Cinema และหนังสือของ Philip Jablon เรื่อง Thailand’s Movie Theatres: Relics, Ruins and the Romance of Escape)
" การอนุรักษ์สถาปัตยกรรมสมัยใหม่ในสังคมไทย ต้องยอมรับว่าแทบไม่มีใครสนใจ มีเพียงกลุ่มคนเล็กๆ เท่านั้นที่พยายามรณรงค์ในเรื่องนี้ แม้แต่กรมศิลปากรเองก็ยังมองว่างานสถาปัตยกรรมในยุคสมัยนี้ไม่มีคุณค่ามากพอต่อการขึ้นทะเบียน "
ส่วนคุณค่าในแง่ประวัติศาสตร์สังคม ยิ่งเลวร้ายขึ้นไปอีก เพดานความคิดของสังคมไทย เรื่องราวที่จะถือว่ามีคุณค่ามีเพียงเรื่องราวของพระมหากษัตริย์และวีรบุรุษสงครามมากกว่าประวัติศาสตร์ของผู้คนและสังคม สถาปัตยกรรมใดที่เกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์และวีรบุรุษสงครามจะได้รับการตีคุณค่าสูงควรแก่การอนุรักษ์ แต่ถ้าเป็นสถาปัตยกรรมที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์สังคมและคนธรรมดา เช่น บ้าน ตลาด และโรงภาพยนตร์ มักถูกมองว่ามีคุณค่าน้อยหรือไม่มีเลย และไม่จำเป็นต้องเก็บรักษาไว้
ด้วยเหตุนี้ จึงไม่แปลกที่ สกาลา จะถูกประเมินว่ามีคุณค่าไม่มากเพียงพอที่จะอนุรักษ์ไว้ อย่างน้อย ก็ไม่มากพอที่จะแลกกับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่จะได้รับ