ต้นทุนค่าก่อสร้างพุ่ง บ้านใหม่ราคาแพง! ดันตลาดบ้านมือสองคึก

11 มิ.ย. 2565 | 08:29 น.
อัปเดตล่าสุด :11 มิ.ย. 2565 | 15:49 น.
614

ต้นทุนค่าก่อสร้างพุ่ง บ้านใหม่ราคาแพง! ดันตลาดบ้านมือสองคึก ผลพวงสงครามรัฐเซีย-ยูเครน วัสดุก่อสร้างขาดแคลน ต้นทุนพลังงาน ค่าขนส่งพุ่งพรวด

 

สงคราม ระหว่างรัฐเซีย-ยูเครน ที่กินเวลานาน ย่อมมีผลต่อต้นทุนที่อยู่อาศัยใหม่ เนื่องจากวัตถุดิบเหล็กขาดแคลน  พลังงานปรับตัวสูง ค่าขนส่งพุ่ง วัสดุก่อสร้างพากันขึ้นยกแผง ผู้ประกอบการไม่สามารถแบกรับต้นทุนต่อไปได้

 

จึงตัดสินใจปรับราคาท่ามกลางความอ่อนไหวของกำลังซื้อสถาบันการเงินยังเข้มงวดต่อเนื่องขณะการมองหาบ้านในราคาถูกตามกำลังซื้อเดิมที่คาดหวังว่าจะอยู่ในเมืองใกล้ที่ทำงานกลับกลายต้องขยับไกลออกไปนั่นหมายถึงทำเลชานเมือง 

 

ผลที่ตามมา

1. มีต้นทุนการเดินทาง

2.ความเหนื่อล้าสะสม 

ผลพวงดังกล่าวย่อมเป็นผลดีต่อธุรกิจบ้านมือสองที่ได้เปรียบ

  • ทำเลใกล้กว่า
  • ราคาไม่สูง
  • สภาพยังดี
  • มีโอกาสเลือกอยู่ใกล้ที่ทำงาน
  • หิ้วกระเป๋าเข้าอยู่ได้ทันที เมื่อเทียบกับบ้านมือหนึ่ง

ทั้งนี้นายวิชัย วิรัตกพันธ์ รักษาการผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริม ทรัพย์หรือ REIC ธนาคารอาคาร สงเคราะห์ (ธอส.) วิเคราะห์ว่า  ปัจจุบันตลาดบ้านมือสองที่หมุนเวียนเปลี่ยนมือเข้าสู่ตลาด ไม่ต่ำกว่า ปีละ5 แสนหน่วย มูลค่า 1.5 ล้านล้านบาท (คำนวณราคาบ้านที่ 3 ล้านบาทต่อหน่วย )

 

เกิดจากความไม่พึงพอใจบ้านหลังแรก อยากมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น จากห้องเช่าสู่คอนโดมิเนียม เมื่อมีรายได้เพิ่มขึ้น หรือครอบครัวขยาย  ต้องการเปลี่ยนจากคอนโดมิเนียม เป็น ทาวน์เฮ้าส์ บ้านเดี่ยว ที่มีพื้นที่ใช้สอยมากขึ้น อีกทั้ง การโยกย้ายสถานที่ทำงานย่อมมีผลเช่นกัน ทำให้เกิดการผลัดใบจากบ้านมือหนึ่งสู่บ้านมือสอง จำนวนมาก

จากการสำรวจพบว่าบ้านมือสองที่เป็นคอนโดมิเนียมต่ำล้านถึงไม่เกิน 1.5ล้านบาท ทาวน์เฮ้าส์ในระดับราคา 1.5-2ล้านบาทในเมืองมีการติดต่อซื้อค่อนข้างมาก เมื่อเทียบบ้านใหม่ที่เป็นทาวน์เฮ้าส์ในระดับราคาเดียวทำเลเดียวกันปัจจุบันไม่มีเกิดขึ้น

 

รวมถึงบ้านเดี่ยวระดับราคา3ล้านบาทเพราะต้นทุนสูงที่ดิน สูง มีรถไฟฟ้าผ่าน มีการพัฒนาตึกสูง ค่าวัสดุก่อสร้างเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา  นอกจากนี้ตลาดบ้านมือสองยังได้รับอานิสงส์ มาตรการกระตุ้นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ผ่อนปรน ทั้ง LTV   อัตราส่วนสินเชื่อต่อราคาบ้าน และการลดหย่อนค่าธรรมเนียมการโอน-จดจำนอง

 

ขณะแนวโน้มการทำตลาดสินทรัพย์รอการขาย (NPA) ทั้งระบบปีนี้ นายบรรยง วิเศษมงคลชัย ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัทบริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BAM  ประเมินว่า

 

ถูกกระตุ้นโดยตลาดของผู้ซื้อ ทั้งผู้ซื้อรายย่อยและผู้ประกอบการ ทำให้ภาพรวมบ้านมือสองกลับมาคึกคักกว่าปีก่อน ทั้งในส่วนของธนาคารและบริษัทบริหารสินทรัพย์ (เอเอ็มซี) ที่มี NPA

              

โดยมีปัจจัยหนุนจากราคาที่ดิน เงินเฟ้อปรับสูง อัตราดอกเบี้ยเงินฝากต่ำแทบไม่เคลื่อนไหว และความได้เปรียบบ้านมือสองคือ ต้นทุนสูงบ้านใหม่สูง เฉลี่ย 10 %  และอาจได้บ้านช้าเพราะผู้รับเหมาไม่กล้ารับงาน

 

ทั้งนี้ ตลาดบ้านมือสอง เริ่มมีสัญญาณบวกทุกระดับ นายวรเดช ศิวเตชานนท์ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อีอาร์เอ โฮลดิ้ง (ประเทศไทย) จำกัดอธิบายว่า ตลอดบ้านมือสองเริ่มมีสัญญาณกลับมาดี

 

จากสถานการณ์โควิด-19 อยู่ในช่วงขาลง ส่งผลให้การเดินทางเข้ามาดูทรัพย์ค่อนข้างมากขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงระบาดรุนแรง  โดยบ้านมือสองที่ขายได้ราคา 10 ล้านบาทขึ้นไป

              

ขณะที่การซื้อเพื่อลงทุนทั้งไทยและต่างชาติยังเน้นทำเลใจกลางเมือง เมื่อรัฐบาลเปิดประเทศเต็มรูปแบบ ต่างชาติเริ่มเข้าประเทศเป็นผลดีต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์ทั้งระบบ โดยมองว่า ไตรมาส 3 ปีนี้ ธุรกิจอสังหาฯ รวมทั้งเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวและมีความเคลื่อนไหวกลับมาซื้อขายกันมากขึ้น

 

แม้พฤติกรรม ผู้บริโภค จะต้องการบ้านใหม่ แต่หากที่ตั้งของทำเลอยู่ห่างไกล ราคาถูกปรับสูงจนรับไม่ไหว บ้านมือสองยังคงเป็นตัวเลือกในตลาดที่น่าจับตายิ่ง!