'ธนาสิริ' ฝ่ามรสุม เซตซีโร่ กลยุทธ์ใหม่ พลิกตำนาน 35 ปี อสังหาฯนนทบุรี

01 มิ.ย. 2565 | 08:57 น.
อัปเดตล่าสุด :01 มิ.ย. 2565 | 18:48 น.
566

บริษัท ธนาสิริ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ดีเวลลอปเปอร์รายเก่าแก่ ที่ขึ้นชื่อในจังหวัดนนทบุรี และเคยผ่านวิกฤติมรสุมมาแล้วหลายครั้ง โควิดกลับเป็นแค่แรงสะเทือนเล็กๆ ให้บริษัทดังกล่าว เร่งทัพ ปรับเกม สู่ 'ความยั่งยืน'ในทุกมิติให้เกิดขึ้นจริงเร็วยิ่งขึ้น

หากสถานการณ์โควิด -19 ที่กินเวลายืดเยื้อยาวนาน 3 ปี คือ อุปสรรคลูกใหญ่ที่เข้ามาเขย่าความเป็นอยู่ ในแง่ผลประกอบการของผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ไทย แต่สำหรับ บริษัท ธนาสิริ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ดีเวลลอปเปอร์รายเก่าแก่ ที่ขึ้นชื่อในจังหวัดนนทบุรี และเคยผ่านวิกฤติมรสุมมาแล้วหลายครั้ง โควิดกลับเป็นแค่แรงสะเทือนเล็กๆ ให้บริษัทดังกล่าว เร่งทัพ ปรับเกม สู่ 'ความยั่งยืน'ในทุกมิติให้เกิดขึ้นจริงเร็วยิ่งขึ้น 

\'ธนาสิริ\' ฝ่ามรสุม เซตซีโร่ กลยุทธ์ใหม่  พลิกตำนาน 35 ปี  อสังหาฯนนทบุรี

ล่าสุดเจเนอเรชั่นที่ 2 อย่าง 'สุทธิรักษ์ เสถียรภาพอยุทธ์ ' ย้ำภาพการกลับมาของ 'ธนาสิริ' ระบุ ยอดขายที่พลิกผัน สวนปัจจัยลบ จาก 340 ล้านบาท สู่ 843 ล้านบาท และ รายได้ 371 ล้านบาท สู่ 581 ล้านบาท ภายในระยะเวลา 1 ปี ถือเป็นบันไดขั้นแรก ของการเติบโตครั้งใหม่ที่อยากให้จับตามอง หลังจากบริษัทปรับโครงสร้างภายใน ได้มืออาชีพมาร่วมงาน ประกอบกับมีความพร้อมด้านการเงินที่แข็งแกร่ง ต้องตา'พันธมิตร' ทุนญี่ปุ่น เข้ามาร่วมพัฒนาโครงการ ผลักดันโมเดลธุรกิจอสังหาฯ จับเทรนด์ใหม่แห่งอนาคต ชูบริการลูกบ้านเก่า - ใหม่ และ Well - Being อย่างน่าสนใจ

\'ธนาสิริ\' ฝ่ามรสุม เซตซีโร่ กลยุทธ์ใหม่  พลิกตำนาน 35 ปี  อสังหาฯนนทบุรี
 

ขณะเป้าหมายธุรกิจระยะ 3 ปีนั้น วางรายได้แตะ 5 พันล้านบาท ยึดหัวหาดแนวรบ โครงการบ้านในนนทบุรี  รับผังเมือง 'เมืองศักยภาพชั้นดี ' อย่างไรก็ตาม ไม่ทิ้งโอกาสการขยายทำเลสู่ฮับเมืองใหม่ ทางลัดโตไว โดยชูจุดแข็ง 'ความคล่องตัว' ของรายเล็ก ที่รายใหญ่ก็ทำไม่ได้


 

ธนาสิริในมือเจน2

นายสุทธิรักษ์ พลิกปูมตำนาน 'ธนาสิริ' ว่า ปัจจุบันบริษัท ประกอบธุรกิจมาแล้วกว่า 35 ปี พัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย ครอบคลุม ทาวน์เฮ้าส์ บ้านแฝด และบ้านเดี่ยว รวม 28 โครงการ 2,800 ครอบครัว ครอบคลุมพื้นที่ นนทบุรี รวมถึงต่างจังหวัด เช่น ภูเก็ต อุดรธานี และ สกลนคร มูลค่ารวมมากกว่า 1 หมื่นล้านบาท ภายใต้แบรนด์ ธนาสิริ,ธนาฮาบิแทต, ธนาวิลเลจ, ธนาคลัสเตอร์, ธนาซิโอ, เดอะ คลัสเตอร์วิลล์,ไพร์มเพลส และสิริวิลเลจ ซึ่งหลังตนเองเข้ามาสานต่อธุรกิจจากคุณพ่อ ยอมรับว่ามีอุปสรรคไม่น้อย ที่เข้ามาท้าทายความเป็นดีเวลลอปเปอร์ของตนเอง เพราะเพียงแค่ การพัฒนาโครงการลำดับที่ 2 ก็ถูกทางการนนทบุรีเวนคืนที่ดิน ถูกฟ้องร้องให้ชดเชยค่าวัสดุก่อสร้าง และจำต้องประกาศปิดโครงการ คืนเงินให้ลูกค้า แม้จะมีการเดินหน้าพัฒนาโครงการไปแล้ว 

เช่นเดียวกับช่วงปี 2551-2552 ที่เกิดวิฤตการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศ ความผันผวนของราคาน้ำมัน ราคาวัสดุก่อสร้าง อัตราดอกเบี้ย และวิกฤติเศรษฐกิจโลก ส่งผลดีมานด์ชะลอตัว ในธุรกิจอสังหาฯ ก่อเกิดการแข่งขันตลาดรุนแรง 

รวมถึงปี 2554 เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ในจังหวัดนนทบุรี โครงการของบริษัท  8 ใน10 ถูกน้ำท่วมขัง ลูกบ้านได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก และชะลอการซื้อ - การโอนกรรมสิทธิ์ เกิดภาพธุรกิจ ชะงัก อย่างไรก็ตาม เมื่อผ่านวิกฤติ บริษัทได้เร่งพลิกฟื้นปัญหาทางรายได้ พร้อมๆกับเข้าไปช่วยเหลือ ฟื้นฟู พื้นที่ส่วนกลาง และภายในบ้านพักให้กับลูกบ้าน ขณะปัจจัยโควิด แม้เป็นอีกมรสุมท้าทายลูกใหม่ที่ไม่ทันตั้งตัว แต่ผลกระทบไม่มากอย่างที่คิด และกลับเป็นจุดเริ่มต้นของโมเดลธุรกิจใหม่หลายๆด้าน อีกทั้งปรับทัพใหม่ ดึงตัว 'นายจรัญ เกษร' มือเก่งด้านการจัดการชุมชน เข้ามาเป็นคีย์แมนด้านปฎิบัติการ ลุยเปิดโครงการใหม่อีกครั้ง

 

" โควิด-19 ทำให้ชื่อของธนาสิริ เงียบหายไป แต่ปีที่ผ่านมา บริษัทกลับมาเปิดโครงการใหม่อีกครั้ง มีผู้บริหารใหม่ ที่เหมือนเป็นโค้ชเข้ามาช่วย ทำให้ ปี 2564 มีตัวเลขเติบโตก้าวกระโดดทั้งยอดขาย ยอดรับรู้รายได้ และกำไรสุทธิ ขณะ Q1ที่ผ่านมา สร้างยอดขายแล้ว 243 ล้านบาท และรายได้ 222ล้านบาท โตขึ้น 75%และ 149% ตามลำดับ สะท้อนภาพแม้ไม่ใช่บริษัทใหญ่ แต่คนในพื้นที่รู้จัก เชื่อมั่นและให้การตอบรับ  "


ดึงทุนใหญ่ญี่ปุ่นบุกตลาด

อย่างไรก็ดี สิ่งที่จะเป็นใบเบิกทางสำคัญในการบุกตลาด แข่งขันครั้งใหม่ ท่ามกลางผลกระทบสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่อาจทำให้ผู้บริโภคมีปัญหาด้านเครดิตนั้น นายสุทธิรักษ์ ระบุ ถึงแรงส่ง จากการได้รับความไว้วางใจ เข้ามาร่วมลงทุน ของกลุ่มทุนขนาดใหญ่ สัญชาติญี่ปุ่น 'อนาบูกิ โคซัน ' ซึ่งเป็นบริษัทพัฒนาอสังหาฯ อันดับ 7 ในประเทศญี่่ปุ่น (แง่จำนวน) และเบอร์ 1 ในโซนตะวันตก ผ่านประสบการณ์ 50 ปี มีรายได้ต่อปีราว 3 หมื่นล้านบาท

\'ธนาสิริ\' ฝ่ามรสุม เซตซีโร่ กลยุทธ์ใหม่  พลิกตำนาน 35 ปี  อสังหาฯนนทบุรี

โดยปีที่ผ่านมา นำร่อง พัฒนาโครงการบ้านแฝด-ทาวน์โฮม 'อนาบูกิ ธนาฮาบิแทต' ย่านสะพานมหาเจษฎาบดินทร์ฯ  ขณะปีนี้ จะขยายต่อในโปรดักส์บ้านเดี่ยว - บ้านแฝด โครงการ อนาบูกิ ธนาฮาบิแทต - ราชพฤกษ์ อีก167  ยูนิต มูลค่า 1,070 ล้านบาท ราคาเฉลี่ย 6.4 ล้านบาท และอีก 2 โครงการ ผ่านการพัฒนาเอง ได้แก่ โครงการ ธนาเรสซิเดนท์ บรมราชชนนี-ปิ่นเกล้า บ้านเดี่ยวหรู ราคาขายเฉลี่ย 17 ล้านบาท และโครงการ ธนาวิลเลจ บ้านแฝด บนพื้นที่ 19 ไร่ ราคาขายเฉลี่ย 4.3 ล้าน รวมมูลค่าทั้งสิ้น  2.3 พันล้านบาท

 

" ทั้งนี้ วางเป้าหมายรายได้สะสมในช่วง 3 ปี (ปี 2565-2567) เติบโตแตะ 5พันล้านบาท นำร่องปีนี้ ผลักดันตัวเลขสู่ 1 พันล้านบาท ก่อนเติบโตขึ้นต่อเนื่องในปีถัดๆไปจากการเปิดตัวโครงการใหม่ไม่ต่ำกว่าปีละ 3 โครงการ เซกเม้นท์หลัก บ้าน 4-10ล้านบาท และ 8 - 12 ล้านบาท "

 

'นนทบุรี'ทำเลชั้นเยี่ยมแนวราบ

สำหรับ ธนาสิริ นั้น แม้ไม่ได้เป็นผู้ถือแลนด์แบงก์ใหญ่ในจังหวัดนนทบุรี เพราะ ผู้บริหารหนุ่ม ระบุ ไม่ต้องการซื้อสะสม แต่เผยว่า ในช่วงสถานการณ์โควิด และการเรียกเก็บภาษี มีนายหน้าที่ดิน เข้ามาติดต่อเสนอขายที่ดินให้เป็นจำนวนมาก กลายเป็นโอกาสคัดสรรที่ดินเพื่อนำมาพัฒนาโครงการ เช่นเดียวกับดีเวลลอปเปอร์รายใหญ่ แม้ราคาที่ดินยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นก็ตาม 

\'ธนาสิริ\' ฝ่ามรสุม เซตซีโร่ กลยุทธ์ใหม่  พลิกตำนาน 35 ปี  อสังหาฯนนทบุรี

ทั้งนี้ บริษัท ยังเล็งเห็นถึงโอกาสการเติบโตของธุรกิจอสังหาฯในพื้นที่ดังกล่าว โดยเฉพาะสินค้าแนวราบ ว่าจะยังเติบโตได้อย่างมั่งคง หลังจากโควิด ทำให้พฤติกรรมผู้ซื้อเปลี่ยน ยิ่งในกลุ่มคนที่มีความพร้อม ได้ใช้นาทีทองของตลาดในการขยับขยายที่อยู่อาศัย จากคอนโดฯมาเป็นแนวราบ สะท้อนจากภาพเปิดตัวโครงการใหม่ของคึกคักของตลาด ขณะอีกปัจจัยสำคัญ ของศักยภาพของทำเล นนทบุรีนั้น คือ นโยบายของรัฐที่กำหนดให้เป็น 'แหล่งที่อยู่อาศัยชั้นดี' รวมถึง ความพร้อมของสาธารณูปโภคและ สิ่งอำนวยความสะดวกใหม่ เช่น เซ็นทรัลเวสเกต ,โรบินสัน โดยข้อดีของผังเมือง ทำให้ นนทบุรี ยังเป็นตลาดที่สำคัญของบริษัททั้งวันนี้และอนาคต

 

"ปัจจุบันความเจริญหลั่งไหลมายังฝั่งตะวันตก ยกระดับถนนราชพฤกษ์ยกแผง อีกทั้งรถไฟฟ้าสายใหม่เชื่อมสีม่วง ที่มีจุดตัด บริเวณศูนย์ราชการ จะยิ่งทำให้เกิดดีมานด์ อีกแง่ เรื่องผังเมือง แนวเขตถนน ที่กำหนดความกว้างต่างจาก กทม.นั้น แม้จะไม่เป็นที่ชอบใจของผู้พัฒนาฯ แต่ในมุมผู้บริโภค เขามองว่าดี "

 

เล็ง 'บางนา,ภูเก็ต' ชวนญี่ปุ่นปักหมุด

นายสุทธิรักษ์ ระบุว่า แม้นนทบุรีจะเป็นหมุดหมายสำคัญในการขยายธุรกิจ แต่บริษัท ยังเล็งหาโอกาสในทำเลใหม่ๆอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุด นอกจากมองความเป็นไปได้ ร่วมกันกับพันธมิตรญี่ปุ่น ในการพัฒนาโครงการอสังหาฯ บนที่ดินแปลงใหญ่ เก่าเก็บ ในจังหวัดภูเก็ต ซึ่งปัจจุบันมีมูลค่าเติบโตอยู่ที่ 800 ล้านบาทแล้ว

 

บริษัท ยังต้องการขยายทำเลใหม่ๆ ไปสู่ 4 มุมเมือง กทม.โดยเฉพาะ โซนบางนา ซึ่งญี่ปุ่นก็มีความสนใจในทำเลดังกล่าวเช่นกัน คาดจะช่วยในการผลักดันการเติบโตร่วมกับทำเลหลัก ราว 30-40% ของพอร์ตในอนาคต โดยภายในปีหน้าอาจจะมีความชัดเจน ซึ่งรูปแบบโครงการนั้น มองไว้หลายด้าน เพราะนอกจากโครงการแนวราบ 'อนาบูกิ'ยังมีความเชี่ยวชาญด้านโครงการที่อยู่อาศัยของผู้สูงอายุ นับเป็นเทรนด์ความต้องการของอนาคตอสังหาฯไทย มีดีมานด์รอ แต่ซัพพลายยังขาด โดยจะใช้ความถนัด และ องค์ความรู้ที่ได้จากญี่ปุ่นเป็นใบเบิกทางสำคัญ 

 

เช็ตมาตรฐานดูแลลูกค้าเก่า-ใหม่

" เราจะไม่เข้าไปในตลาดที่มีการแข่งขันสูง และใช้ความเล็กให้เป็นประโยชน์ "  คือ บทสนทนาปิดท้ายของ เจเนอเรชั่นที่ 2 ของ 'ธนาสิริ' หลังระบุว่า จุดแข็งสำคัญในการแข่งขันของบริษัท เป็นเรื่องของความคล่องตัว ตั้งแต่กระบวนการซื้อที่ดิน ต่างจากรายใหญ่ที่ต้องผ่านการกลั่นกรองของบอร์ดหลายชั้น ต่อรองราคาได้ และไม่จำเป็นต้องมุ่งเน้นเรื่องผลรายได้ กำไรมหาศาลในแต่ละปี ทำให้การพัฒนาโครงการ ทั้งในแง่ราคา และ การให้พื้นที่ใช้สอยกับลูกค้าทำได้อย่างเต็มที่ ลูกค้ามองคุ้มค่า และเชื่อมั่นแบรนด์

\'ธนาสิริ\' ฝ่ามรสุม เซตซีโร่ กลยุทธ์ใหม่  พลิกตำนาน 35 ปี  อสังหาฯนนทบุรี

อย่างไรก็ดี มิติใหม่ที่บริษัทจะเพิ่มเข้าไป คือ บริการครบวงจร ใน 7  มิติ ได้แก่ ประกอบด้วย 1.แนวคิดการพัฒนารูปแบบ “Green” ที่เริ่มคิด ดำเนินการ และกำกับดูแล ผลักดัน ให้บรรลุผล, การจัดหาที่ดินเพื่อพัฒนาโครงการ, 3.การออกแบบ ตามหลัก “Green & Universal Design” และการใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม, การทำการตลาดและงานขาย ที่เป็นธรรม ทั้งต่อลูกค้าและคู่แข่งขัน, 5.การก่อสร้าง ที่ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม, 6.การส่งมอบให้แก่ลูกค้าตามพันธะสัญญาที่ได้ให้ไว้ และ 7.การบริหารจัดการชุมชน