'พฤกษา' ทำกำไร 639 ล. ปีนี้จ่าย'ภาษีที่ดิน' 50 ล.

17 พ.ค. 2565 | 14:03 น.
อัปเดตล่าสุด :17 พ.ค. 2565 | 21:07 น.

รายใหญ่อสังหา บมจ.พฤกษา เผย ผลประกอบการไตรมาสแรก ปี 2565 ทำรายได้ 5,679 ล้าน มีกำไรสุทธิ อยู่ที่ 639 ล้าน พร้อมผสาน ซินเนอร์จี 2 ธุรกิจใหญ่ สุขภาพ X ที่อยู่อาศัย สร้างเติบโต ขณะปีแรก พร้อมจ่ายภาษีที่ดินกว่า 50 ล้าน ยัน ราคาวัสดุเพิมต้นทุน 2-3% แต่ยังไม่พิจารณาปรับขึ้นราคาบ้าน

17 พฤษภาคม 2565 - นายอุเทน โลหชิตพิทักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท พฤกษา โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) เปิดเผยผลการดำเนินงานในช่วงไตรมาสแรกปี 2565 ว่า  ภาพรวมธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นธุรกิจหลักของพฤกษา แสดงให้เห็นชัดว่า ความต้องการที่อยู่อาศัยจริงยังคงมีอยู่ โดยเฉพาะแนวราบในกลุ่มบ้านเดี่ยว ซึ่งเป็นกลุ่มเรียลดีมานด์ที่เติบโตจากผลกระทบโควิดที่ทำให้คนอยากอยู่บ้านมากขึ้น 

 

แม้สภาพเศรษฐกิจไทยยังอยู่ในภาวะซบเซาและมีปัจจัยหลายประการที่ส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของประชาชนก็ตาม ทั้งนี้ บริษัททำยอดขายโครงการอสังหาริมทรัพย์รวม 5,344 ล้านบาท รายได้รวม 5,679 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ อยู่ที่ 639 ล้านบาท เติบโตจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 10% ในขณะที่กำไรสุทธิของพฤกษา โฮลดิ้ง (รวมธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจเฮลแคร์)  อยู่ที่ 552 ล้านบาท และมียอดขายรอรับรู้รายได้ (Backlog) ที่ 20,200 ล้านบาท เป็นยอดรับรู้รายได้ในปี 2565 ที่ 18,700 ล้านบาท และจะมีโครงการแนวสูงที่สร้างเสร็จพร้อมทยอยโอนในปีนี้อีก  7 โครงการรวมมูลค่า 15,200 ล้านบาท

" ไตรมาสแรก กำไรโต 9.9% เรียกว่าดีเกินคาด ซึ่งมาจากกลยุทธ์ที่หันมาโฟกัส เน้นการสร้างผลตอบแทนให้ผู้ถือหุ้นมากขึ้น ไม่ได้เน้นขนาดและยอดขายเหมือนอดีต อย่างไรก็ตาม ยอดขายที่ลดลง มาจากการชะลอเปิดตัวโครงการ เนื่องจากมีปัญหาซัพพลายเชน กระทบต่อการก่อสร้าง และมียอดโอนฯจากลูกค้าช้ากว่ากำหนด คาดช่วงไตรมาส 2 และ 3 แนวโน้มการจัดการปัญหาจะดีขึ้น " 


ถือที่ดิน 1.5 หมื่นล้าน พร้อมจ่ายภาษีปีแรก 50 ล้าน 

นายอุเทน ยังกล่าวว่า ปัจจุบันบริษัทมีสต็อกเหลือขายราว 1.7 หมื่นล้านบาท ซึ่งลดลงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ดินรอพัฒนาที่ตุนสะสมไว้มีมูลค่ารวม 1.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งเพียงพอต่อการพัฒนาโครงสร้างเพื่อสร้างการเติบโตในอนาคตได้ราว 8 หมื่นล้านบาท โดยเฉพาะโซนบางนา ,ราชพฤกษ์ ซึ่งเป็นฐานตลาดกำลังซื้อสูง และทำเลศักยภาพ โดยจะทยอยนำที่ดินที่มีอยู่นำออกมาพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ จะทำให้ปีนี้บริษัทต้องจ่ายภาษีที่ดินเปล่าและในเชิงธุรกิจรวมทั้งสิ้นกว่า 50 ล้านบาท 

\'พฤกษา\' ทำกำไร 639 ล. ปีนี้จ่าย\'ภาษีที่ดิน\' 50 ล.

อสังหาฯมีปัจจัยบวก

ส่วนภาพรวมอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ในช่วงครึ่งปีแรกนั้น ประเมินปัจจัยลบ ยังเป็นเรื่องสถานการณ์การขาดแคลนแรงงานก่อสร้างในระบบ ,ราคา
วัสดุก่อสร้าง จากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น ซึ่งหากผู้พัฒนาฯควบคุมต้นทุนได้ไม่ดี ย่อมจะกระทบต่อการส่งมอบบ้าน ขณะปัจจัยบวกยังมีหลายส่วน จากสถานการณ์โควิด19 ลดความรุนแรงน้อยลง ช่วยดึงกำลังซื้อที่อยู่อาศัย เช่นเดียวกับ ดอกเบี้ยของไทย ซึ่งเท่าที่ติดตามยังไม่มีแนวโน้มปรับข้นตามธนาคารกลางสหรัฐ จึงยังถือเป็นนาทีทองของผู้บริโภค ส่วนเรื่องต้นทุน จากวัสดุก่อสร้างที่ปรับเพิ่ม งอกขึ้นมา 2-3% นั้น บริษัทยังแบกรับไหว และจะยังคงตรึงราคาบ้านไปถึงสิ้นปี แต่หากวิกฤติที่เป็นอยู่ลุกลามมากกว่าวันนี้ อาจจำเป็นต้องกลับมาดูกลยุทธ์ และพิจารณาว่าจะต้องขึ้นราคาหรือไม่ 

 

ผสานธุรกิจอสังหาฯ และ ธุรกิจเฮลแคร์ 

กลยุทธ์ในปีนี้ พฤกษามุ่งผสานความร่วมมือระหว่างธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจเฮลแคร์ โดยมีแผนพัฒนาอสังหาริมทรัพย์แบบ Mixed Use ที่จะผสานบริการด้านสุขภาพไว้ในโครงการเดียวกัน รวมถึงมองหาพันธมิตรใหม่ ๆ เพื่อเข้ามาเติมเต็มบริการตอบสนองผู้บริโภคได้อย่างดีที่สุด  ในด้านการลงทุนพฤกษาได้มีการเพิ่มพอร์ตลงทุนที่หลากหลาย  นอกจากการลงทุนในไทยที่ผสานความร่วมมือระหว่างธุรกิจเรียลเอสเตท และโรงพยาบาล ซึ่งกำลังจะเปิดให้บริการศูนย์สุขภาพแห่งแรกในชุมชนพฤกษา ขนาด 50 เตียง ตั้งอยู่ด้านหน้าโครงการพฤกษา อเวนิว บางนา-วงแหวน  ในเดือนสิงหาคมนี้ 

 

ขณะเดียวกันได้มีการสร้างพันธมิตรทางธุรกิจใหม่ โดยโรงพยาบาลวิมุตร่วมกับ JAS ASSET ก่อตั้งบริษัท Senera Vimut Health Service ทำโครงการ SENERA Senior Wellness บริเวณถนนคู้บอน เป็นศูนย์เมดิคอล ขนาด 5,713 ตร.ม. 4 ชั้น ขนาด 78 เตียง มีแผนเปิดให้บริการในเดือนธันวาคมนี้ นอกจากนี้ยังได้มีการลงทุนทั้งในไทย ออสเตรเลีย มาเลเซีย และสิงคโปร์ โดยเป็นกลุ่มธุรกิจประเภทนวัตกรรมด้านการพัฒนาความยั่งยืน (ESG Innovation) ระบบความปลอดภัยในโลกดิจิตอล (Digital Securities) และ เฮลท์เทค พร๊อพเทค  ที่รองรับกระแสเทรนด์ที่อยู่อาศัยและการดูแลสุขภาพที่เพิ่มขึ้นในอนาคต  

ในขณะเดียวกันพฤกษาเองก็มีการปรับปรุงกระบวนการทำงานในองค์กร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ความรวดเร็วและช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย เช่น การนำ Value Engineering หรือ วิศวกรรมคุณค่ามาใช้ ด้วยการนำวัสดุทดแทนที่มีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับวัสดุเดิมมาใช้ เป็นการช่วยลดการใช้ซีเมนต์ที่ไม่จำเป็นไปได้มากกว่า 15,000 ตัน  นอกจากนั้นยังมีการใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน ระบบจัดซื้อจัดจ้างทางอิเล็กทรอนิกส์ และการพัฒนาระบบ Streamline ช่วยลดชั่วโมงการทำงานไปได้ มากกว่า 10,400 ชั่วโมง และสุดท้ายใช้การบริหารจัดการต้นทุน (Cost Management) เพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างมีประสิทธิภาพ โดยสามารถประหยัดต้นทุนและค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานได้มากกว่า 460 ล้านบาท หรือ 1.4% ของรายได้ 

 

สำหรับแผนงานในไตรมาส 2 นายอุเทน กล่าวว่า พฤกษามีแผนเปิดโครงการใหม่ในไตรมาส 2 อีก 9 โครงการ รวมมูลค่า 5,900 ล้านบาท  แบ่งเป็นทาวน์เฮาส์ 8 โครงการและบ้านเดี่ยว 1 โครงการ  ซึ่งการออกแบบโครงการจะอิงจากแนวคิด Tomorrow. Reimagined. ที่ได้ต่อยอดสู่ “พฤกษา ลิฟวิ่ง โซลูชั่น” ตอกย้ำแนวทางการดำเนินงานพัฒนาคุณภาพที่อยู่อาศัยตอบโจทย์เทรนด์การอยู่อาศัยใน 3 แกนหลัก ประกอบด้วย เทรนด์สุขภาพ (Health & Wellness) เทรนด์ไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนไป (Lifestyle Disruption) และเทรนด์เพื่อความยั่งยืน (Sustainability Development) ซึ่งเป็นตัวสะท้อนถึงความใส่ใจของพฤกษาในทุกมิติทุกช่วงเวลาของชีวิต โดยยังคงรุกตลาดอย่างต่อเนื่องด้วยการพัฒนาบ้านและโครงการมาตรฐานใหม่พร้อมกับใช้เครื่องมือการตลาดดิจิทัลและช่องทางออนไลน์ครบวงจร สื่อสารตรงกับกลุ่มเป้าหมาย