FPIT ทุ่ม 5 ปี ลงทุน 5 หมื่นล้าน จับตาปั้นทาวน์ชิป บางนา 4.6 พันไร่

24 มี.ค. 2565 | 17:44 น.
อัปเดตล่าสุด :25 มี.ค. 2565 | 00:53 น.
1.0 k

FPIT ธุรกิจอสังหาฯเพื่ออุตสาหกรรม กลุ่มเจ้าสัวเจริญ เดินหน้างัดที่ดินเปล่านับ 8 พันไร่ พื้นที่ กทม.,อยุธยา และอีอีซี ปั้นพอร์ตโรงงาน คลังสินค้า และ แวร์เฮ้าส์ เขย่าตลาดไทย - ต่างชาติ เผยแผน 5 ปี วางงบลงทุน 5 หมื่นล้านบาท จับตาพลิกที่ดิน บางนา-ตราด 4,600 ไร่ สู่ทาวน์ชิปอนาคต

24 มีนาคม 2565 - บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ อินดัสเทรียล จำกัด หรือ FPIT ในเครือ FPT กลุ่มเจ้าสัวเจริญ โดยนายโสภณ ราชรักษา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร FPIT เปิดเผยถึงแผนธุรกิจปี 2565 และ ระยะ 5 ปีข้างหน้า ว่า จากการฟื้นตัวของภาคส่งออกไทย หลังสถานการณ์โควิด19 และการกลับเข้ามาของนักลงทุนต่างชาติ ส่งผลให้พื้นที่พาณิชย์เชิงอุตสาหกรรมกลับมาเติบโต และเป็นโอกาสของธุรกิจอย่างมาก 

อีกทั้ง ยังมองว่า ในอนาคต อาคารอุตสาหกรรม จะกลายเป็นตัวกลางของการทำธุรกิจในหลายประเภท ซึ่งพื้นที่โรงงาน คลังสินค้า ในรูปแบบต่างๆ จะเข้ามามีความสำคัญอย่างมาก พลิกโฉมจากอดีต ให้ผู้ผลิต และลูกค้ามาเจอกันเร็วขึ้น เพียงไม่กี่ชั่วโมง ผ่านการเกิดขึ้นของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่กำลังจะเติบโตอย่างรวดเร็ว   

FPIT ทุ่ม 5 ปี ลงทุน 5 หมื่นล้าน จับตาปั้นทาวน์ชิป บางนา 4.6 พันไร่

สานต่อกลยุทธ์น่านน้ำสีม่วง 

ทั้งนี้ เพื่อเป็นการรองรับโอกาสข้างต้น ภายใต้กรอบกลยุทธ์ ที่เคยประกาศไว้ตั้งแต่ปี 2564 ในแง่ “น่านน้ำสีม่วง” (Purple Ocean Strategy) และวางยุทธศาสตร์ “เราพร้อม” (We are ready) และ “เราต่าง” (We are different) นั้น สำหรับปี 2565 ได้จัดงบลงทุนเพิ่มจำนวน ราว 1 หมื่นล้านบาท จัดงบลงทุนเพิ่มจำนวน หนึ่งหมื่นล้านบาท เพื่อใช้สำหรับการดำเนินงานในโครงการปัจจุบัน และโครงการเมกะโปรเจ็คท์ รวมถึงการขยายฟุตพรินท์ในต่างประเทศ  โดยโครงการใหม่ที่จะเกิดขึ้นในปีนี้นับเป็นอีกหนึ่งก้าวสำคัญของภาคอุตสาหกรรมไทย ด้วยความมุ่งมั่นของ FPIT ในการพลิกโฉมการให้บริการอสังหาฯเพื่ออุตสาหกรรมสู่ยุคใหม่  การันตีด้วยคุณภาพมาตรฐานระดับสากล ซึ่งจะมีเพิ่มไฮไลท์ในทุกมิติ ได้แก่ 

 

  • โซลูชั่นครบวงจร 
  • การอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อม 
  • ความเป็นอยู่ที่ดีของผู้ใช้งานในอาคาร 
  • การประยุกต์ใช้ดิจิทัลเทคโนโลยีเพื่อบริการแก่ลูกค้า

 

" ในปี 2565 นี้ บริษัทฯ จะต่อยอดความสำเร็จของกลยุทธ์น่านน้ำสีม่วง ที่ขับเคลื่อนธุรกิจให้มีการเติบโตอย่างแข็งแกร่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา และเพิ่มขีดสามารถขององค์กรเพื่อให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงหลังยุคโควิด-19 สร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน นำเสนอจุดแข็งที่โดดเด่นและแตกต่างจากผู้ให้บริการรายอื่นอย่างชัดเจน  ในปีนี้ บริษัทฯ มีแผนจะลงนามสัญญาพัฒนาอาคารอุตสาหกรรมใหม่ พื้นที่รวมกว่า 200,000 ตารางเมตร และยังมีลูกค้าในไปป์ไลน์ที่กำลังอยู่ระหว่างการเจรจาอีกจำนวนมาก เนื่องจากความต้องการใช้พื้นที่อาคารโลจิสติกส์และอุตสาหกรรมกำลังเพิ่มขึ้นอย่างมาก "

 

FPIT วาง 5 ปีทุ่ม 5 หมื่นล้าน ขยายพอร์ตโฟลิโออาคารอุตสาหกรรม 

นายโสภณ ยังระบุว่า ปัจจุบัน FPIT มี พอร์ตโฟลิโออาคารอุตสาหกรรมของ ขนาดใหญ่เป็นอันดับ 1 ของประเทศไทย โดยมีพื้นที่ภายใต้การบริหารจัดการรวมทั้งสิ้น 3.1 ล้านตารางเมตร ครอบคลุมพื้นที่ยุทธศาสตร์ด้านอุตสาหกรรมและโลจิสติกส์ทั่วทุกภูมิภาคของประเทศไทย รวมถึงเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งยังมีโรงงานมาตรฐานและคลังสินค้าสำเร็จรูปพร้อมให้บริการแก่กลุ่มลูกค้าที่มีความต้องการพื้นที่แบบเร่งด่วน FPIT ยังคงเป้าหมายในการขยายพื้นที่ภายใต้การบริหารจัดการรวมสู่ 4 ล้านตารางเมตร ภายในปี 2568 หรือ ตั้งเป้าขยายพื้นที่ 150,000-200,000 ตารางเมตรต่อปี 


นอกจากการลงทุนในประเทศไทยแล้ว FPIT ยังใช้ประสบการณ์ที่มีเพื่อลงทุนในต่างประเทศ โดยเริ่มต้นตั้งแต่ปี 2558 ที่บริษัทฯได้เริ่มเข้าไปลงทุนในธุรกิจพัฒนาคลังสินค้าสำหรับเช่าในประเทศอินโดนีเซีย ปัจจุบันมีพื้นที่ให้บริการรวมกว่า 150,000 ตารางเมตร  และล่าสุดเมื่อปีที่ผ่านมา FPIT ได้ขยายการลงทุนในธุรกิจอสังหาฯเพื่ออุตสาหกรรม ที่เมืองบินห์เยือง ประเทศเวียดนาม ซึ่งได้รับการตอบรับจากกลุ่มลูกค้าอย่างท่วมท้น จึงเตรียมเดินหน้าเปิดโครงการเฟส 2 เพิ่มเติมอีก 70,000 ตารางเมตร จึงจะทำให้บริษัทฯ มีพื้นที่เช่าให้บริการในประเทศเวียดนามรวมทั้งสิ้นกว่า 100,000 ตารางเมตร

 

ขณะระยะ 5 ปี วางงบลงทุนทั้งในและต่างประเทศ ไว้ทั้งสิ้น 5 หมื่นล้านบาท เฉลี่ยต่อปี 1 หมื่นล้านบาท โดยบริษัทวางเป้าหมายรายได้จากค่าเช่าที่ระดับ 5,000 ล้านบาท เติบโต 10% จากปีก่อน ซึ่งรายได้ของบริษัทคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 20% ของรายได้รวมในพอร์ต FPT

FPIT ทุ่ม 5 ปี ลงทุน 5 หมื่นล้าน จับตาปั้นทาวน์ชิป บางนา 4.6 พันไร่

เดินหน้าปั้นที่ดินเปล่าในมือ 3 โลเคชั่นศักยภาพ กว่า 8,000 ไร่ 

สำหรับ ศักยภาพด้านทำเลซึ่งเป็นจุดแข็งของกลุ่มธุรกิจ FTIP นั้น นายโสภณ เปิดเผยว่า ปัจจุบันบริษัทและภายใต้กลุ่มบริษัท มีที่ดินเปล่า ซึ่งเป็นแลนด์แบงก์สะสมพร้อมนำมาพัฒนาราว 8,000 ไร่ แบ่งใน 3 พื้นที่สำคัญ ได้แก่

  • พื้นที่รอบกทม. ย่าน บางนา บางพลี และลาดกระบัง ประมาณ 5,000 ไร่ 
  • พื้นที่ทางด้านเหนือของกทม. นวนคร วังน้อย และอยุธยา ประมาณ 1,000 ไร่ 
  • พื้นที่อีอีซี ศักยภาพสูงสุด 2,000 ไร่ 

 

"กลยุทธ์การแข่งขัน จากการเร่งตัวของคู่แข่งที่เข้ามาในอุตสาหกรรมมากขึ้น ยังเป็นเรื่องของศักยภาพทำเลที่เรามี เป็นข้อได้เปรียบ เนื่องจากซื้อ ประมูลสะสมไว้ค่อนข้างเยอะ อีกด้าน ด้วยอาคารแบบมาตรฐาน ทำให้ได้สัญญาเช่า เก็บค่าเช่าแบบระยะยาว เป็นน่านน้ำหลักที่เรามีประสบการณ์ ขณะเดียวกัน ลูกค้ารายใหญ่ที่ต้องการอาคารรูปแบบสั่งสร้าง เราก็มีความพร้อมในการออกแบบให้ด้วย ตั้งเป้ามาร์เก็ตแชร์ 60% ของตลาดภายใน 5 ปี "  


ส่วนโปรเจ็กต์เปิดใหม่ในปีนี้ 4 แห่งนั้น ประกอบไปด้วย 

  • โครงการ GOMICO พระประแดง
  • โครงการบางพลีหมายเลข7
  • โครงการ ในพื้นที่บางปะกง ซึ่งเป็นการร่วมทุนกับญี่ปุ่น (มิตซุย ฟูโดซัง)
  • โครงการ บริเวณ บางนา กม. 32  

FPIT ทุ่ม 5 ปี ลงทุน 5 หมื่นล้าน จับตาปั้นทาวน์ชิป บางนา 4.6 พันไร่

"สำหรับแผนพัฒนาพื้นที่ใหม่ ปี 2565 หลักๆ คือ เมืองอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ และ โลจิสติกส์-บิสเนสปาร์คขนาดเล็กใกล้เมือง ซึ่งจะกลายเป็นต้นแบบของการพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมแห่งอนาคต โดยบริษัทฯ จะใช้ประสบการณ์และความชำนาญที่สั่งสมมายาวนานกว่า 30 ปี พร้อมกับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องในการนำองค์ความรู้และเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ "

 

"ตัวแปรของธุรกิจ คือ อาณาจักรพื้นที่ บริเวณ บางนา - ตราด ราว 4.6 พันไร่ ซึ่งมีเป้าหมาย ต้องการพลิกเป็น ทาวน์ชิฟขนาดใหญ่ และมีความเป็นไปได้ ที่อาจจะออกมาในรูปแบบ มิกซ์ยูสผสมผสาน กับ 2 ธุรกิจหลักในเครือ ทั้งโครงการที่อยู่อาศัย และพื้นที่คอมเมอร์เชียล เราจะทดลองในทาวน์ชิฟแห่งนี้ ขณะนี้กำลังทำการบ้านอย่างหนัก เพื่อทำให้เกิดขึ้นมาได้จริงๆ "


3 ปัจจัยหนุนพื้นที่อุตสาหกรรมโต 


นายโสภณ กล่าวสรุปว่า พื้นที่เชิงอุตสาหกรรมของไทยได้รับอานิสงค์เติบโตสูงขึ้นมา 40-50% จาก 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ 1.การเร่งเครื่องกลับอีกครั้งของภาคการส่งออก ทำให้หลายภาคธุรกิจมีความต้องการด้านพื้นที่สต็อกสินค้า ขณะเดียวกัน ก็กังวลถึงปัญหาซัพพลายเชน ทำให้มีการขยายพื้นที่ จึงเป็นโอกาสของธุรกิจ 2. ความขัดแย้งของมหาอำนาจ แต่กลายเป็นโอกาสของไทย ทำให้ไทยไปอยู่พื้นที่โลก เป้าหมายประเทศที่นักลงทุนอยากย้ายฐานการผลิตเข้ามา และ 3.เทคโนโลยีดิสรัปชั่น เป็นเทรนด์เกิดขึ้นมาระยะหนึ่งแล้ว โดยทำให้อสังหาฯ ที่เคยต้องใช้ทุนในการพัฒนาจำนวนมาก ปรับมาสู่การใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยได้มาก ซึ่งจะเป็นโจทย์ท้าทายให้บริษัทต้องปรับให้ทัน

 

อีกทั้ง เรื่องราคาน้ำมัน ซึ่งได้รับผลกระทบจากภาวะสงครามยูเครน- รัสเซีย ทำให้ธุรกิจภาคการส่งออกได้รับผลกระทบอีกครั้ง  ด้วยค่าขนส่งที่แพงขึ้น ระบบคอนเทนเนอร์มีบทบาทสำคัญ ข้อดี อาจมีลูกค้าเช่าเก็บโรงงาน คลังสินค้าเพื่อเก็บของต่อ เนื่องจากส่งออกไปยุโรปไม่ได้ แต่อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์ยืดเยื้อรุนแรงขึ้น การลงทุนข้ามชาติก็อาจมีปัญหาเช่นกัน ซึ่งจะกระทบต่อพื้นที่เชิงอุตสาหกรรม ธุรกิจของเรา