จับตา "คลังสินค้า” ธุรกิจรุ่งปี65 ตลาดใหม่-คู่แข่งน้อย ความต้องการสูง

24 ธ.ค. 2564 | 10:18 น.
อัปเดตล่าสุด :24 ธ.ค. 2564 | 17:24 น.
863

จับตา "คลังสินค้า” ธุรกิจรุ่งปี65 ตลาดใหม่-คู่แข่งน้อย ความต้องการสูง  รายได้รวมสูงขึ้นต่อเนื่อง 3 ปี เกือบ 9 หมื่นล้านบาท  เปิดทางนักธุรกิจหน้าใหม่เข้าทำตลาด

นายสินิตย์ เลิศไกร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จากการวิเคราะห์แนวโน้มธุรกิจของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่า ช่วงระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา (2561 - 2563) ธุรกิจคลังสินค้า (Warehouse) ของไทย มีอัตราการเติบโตเพิ่มสูงขึ้น แม้จะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แต่ก็สามารถประคับประคองธุรกิจให้มีผลกำไรอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะปี 2563 รายได้รวมทั้งธุรกิจเกือบ 9 หมื่นล้านบาท โดยมีธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ เป็นปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ อีกทั้งสอดคล้องกับการเติบโตของธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องในทิศทางเดียวกันทั้ง ธุรกิจขนส่งขนถ่ายสินค้า เดลิเวอรี และธุรกิจด้านอาหาร/เครื่องดื่ม ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา

จับตา \"คลังสินค้า” ธุรกิจรุ่งปี65  ตลาดใหม่-คู่แข่งน้อย ความต้องการสูง

 

 พบว่าความต้องการด้านคลังสินค้ายังเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลที่รองรับธุรกิจอี-คอมเมิร์ซ และเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ตามนโยบายส่งเสริมพื้นที่อุตสาหกรรมของรัฐบาล ทั้งนี้ แนวโน้มการเติบโตของธุรกิจคลังสินค้า สะท้อนได้จากมูลค่าธุรกิจอี-คอมเมิร์ซในประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2560 - 2563 ที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2563 มีการลดลงเล็กน้อยจากกลุ่มการให้บริการที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม การค้าปลีกและการค้าส่งยังเติบโตได้ดี

จับตา \"คลังสินค้า” ธุรกิจรุ่งปี65  ตลาดใหม่-คู่แข่งน้อย ความต้องการสูง

โดยเฉพาะรูปแบบ B2C (Business to Customer) ที่ผู้ประกอบการทุกขนาดขยายช่องทางผ่านออนไลน์มากขึ้น ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อความต้องการคลังสินค้าของผู้ประกอบการในการสนับสนุนการค้าออนไลน์ อย่างไรก็ตาม จากการเติบโตที่เพิ่มมากขึ้น จำนวนธุรกิจที่ยังมีจำนวนไม่มาก อีกทั้ง ความต้องการในธุรกิจของลูกค้ามีสูง ส่งผลให้ธุรกิจคลังสินค้าของไทยพร้อมเปิดทางให้นักธุรกิจหน้าใหม่มีพื้นที่เข้าทำตลาดอีกมาก

จับตา \"คลังสินค้า” ธุรกิจรุ่งปี65  ตลาดใหม่-คู่แข่งน้อย ความต้องการสูง

 ด้านนายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวเสริมว่า ปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 30 พฤศจิกายน 2564) มีผู้ประกอบการในธุรกิจที่จดทะเบียนจัดตั้งเป็นนิติบุคคลและดำเนินกิจการอยู่ จำนวน 1,240 ราย คิดเป็นร้อยละ 0.15ของธุรกิจทั้งหมดที่ดำเนินการอยู่ และมีมูลค่าทุน 20,417.62 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 0.11 ของธุรกิจทั้งหมดที่ดำเนินการอยู่ในประเทศไทย ธุรกิจส่วนใหญ่ดำเนินกิจการในรูปแบบบริษัทจำกัด มีจานวน 1,024 ราย คิดเป็นร้อยละ 82.58 มูลค่าทุน 20,025.54 ล้านบาท

จับตา \"คลังสินค้า” ธุรกิจรุ่งปี65  ตลาดใหม่-คู่แข่งน้อย ความต้องการสูง

   ธุรกิจขนาดเล็ก (S) มีจำนวนมากที่สุด 1,108 ราย (ร้อยละ 89.35) ธุรกิจขนาดกลาง (M) จำนวน 89 ราย (ร้อยละ 7.18) และธุรกิจขนาดใหญ่ (L) จำนวน 43 ราย (ร้อยละ 3.47) ส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร 542 ราย (ร้อยละ 43.71) รองลงมาคือ ภาคกลาง จำนวน 295 ราย (ร้อยละ 23.79) และภาคเหนือ จำนวน 157 ราย (ร้อยละ 12.66)

  การลงทุนของชาวต่างชาติในธุรกิจมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น มูลค่า 5,583.23 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 2.06 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 โดยสัญชาติที่มีการลงทุนสูงสุด คือ ญี่ปุ่น มูลค่า 3,864.15 ล้านบาท (ร้อยละ 18.93) สิงคโปร์ มูลค่า 641.61 (ร้อยละ 3.14) จีน มูลค่า 252.81 (ร้อยละ 1.24) และสัญชาติอื่นๆ มูลค่า 824.66 ล้านบาท (ร้อยละ 4.04) 

ธุรกิจคลังสินค้า (Warehouse) ของไทย มีรายได้เติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยรายได้รวม ปี 2561 มีจำนวน 69,354.42 ล้านบาท ปี 2562 จำนวน 71,291.73 ล้านบาท และ ปี 2563 จำนวน 87,240.63 ล้านบาท การเจริญเติบโตของรายได้รวมต่อปี (ปี 2561 - 2563) มีขนาดร้อยละ 2.79 และ 22.37 ตามลำดับ

“ ภาพรวมธุรกิจคลังสินค้าและโรงงานให้เช่าหลังจากนี้ยังสามารถเติบโตได้ดี โดยเฉพาะแบบ Built-to-Suit คือ การตกลงทำสัญญากับผู้เช่าก่อนที่จะเริ่มก่อสร้าง มีข้อดี คือ คลังสินค้าจะก่อสร้างตามแบบที่ผู้เช่าต้องการ ขณะเดียวกัน นอกจากคลังสินค้าที่มีความต้องการใช้พื้นที่จำนวนมากแล้ว ปัจจุบันยังมีความต้องการคลังสินค้าขนาดเล็กในหลายพื้นที่สำหรับการดำเนินการเกี่ยวกับ Cloud Kitchen (ครัวขนาดกลาง / ร้านที่มีแต่ครัวไม่มีที่นั่ง) ที่ถือเป็นการขยายกิจการร้านอาหารเพื่อรองรับการบริการจัดส่งผ่านเดลิเวอรีที่กำลังได้รับความนิยม รวมทั้ง บริษัทขนส่งรายใหญ่มีการขยายแฟรนไซส์โดยใช้ตราสินค้า (แบรนด์) ของบริษัทเพื่อทำคลังสินค้าในการสนับสนุนธุรกิจขนส่งในพื้นที่ต่างๆ ในรูปแบบของการเช่าพื้นที่คลังสินค้า หรือร้านค้าทั่วไปเพื่อขยายการให้บริการ และเป็นคลังสินค้าขนาดเล็กในพื้นที่นั้นๆ อีกด้วย”